นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อพลัง 5G ในการปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในงานดินเนอร์ทอล์ค ประจำปี 2563 เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปี (2555-2563) ที่มีการจัดการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมและกิจการทีวีดิจิทัล มีรายได้จากการประมูลเข้ารัฐรวม 563,834.55 ล้านบาท แบ่งเป็น การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับระบบ 3G มูลค่า 44,538.75 ล้านบาท, การประมูลทีวีดิจิทัล มูลค่า 38,770.38 ล้านบาท, การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับระบบ 4G มูลค่า 203,317.12 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 113,206 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 56,444.64 ล้านบาท และล่าสุดการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน (มัลติแบนด์) มีรายได้จากการประมูลเข้ารัฐรวม 107,557.66 ล้านบาท แบ่งเป็น คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 55,062.20 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่า 40,054.26 ล้านบาท และคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิรตซ์ มูลค่า 12,441.20 ล้านบาท
นายฐากร กล่าวว่า การขับเคลื่อน 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในปี 2563 มูลค่า 178,361 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.03% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) เกิดมูลค่าการลงทุน 112,215 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มจากการใช้งานที่ 3,305 ล้านบาท จากระบบเศรษฐกิจรายภาค เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต 31.5% มูลค่า 1,041.04 ล้านบาท ภาคการค้าและการเงิน 16% มูลค่า 529.77 ล้านบาท ภาคโทรคมนาคม 11.6% มูลค่า 381.71% ภาคบริการสาธารณะ 8.7% มูลค่า 286.53 ล้านบาท ภาคขนส่ง 5.4% มูลค่า 177.14 ล้านบาท ภาคการศึกษา 2.3% มูลค่า 74.36 ล้านบาท ภาคการแพทย์ 1% มูลค่า 32.06 ล้านบาท และอื่นๆ 23.7% มูลค่า 782.93 ล้านบาท ขณะที่ปี 2564 คาดว่า 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 337,529 ล้านบาท และปี 2565 มูลค่า 490,687 ล้านบาท
ทั้งนี้ 5G จะช่วยปรับโครงสร้างของประเทศ อาทิ ภาคการผลิต ในการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน, ภาคการเงินการธนาคาร ที่ผู้บริโภคจะทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโมบายแบงกิ้งแทนการเดินทางไปธนาคาร โดยมีมูลค่าธุรกรรมการชำระเงินผ่านโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นกว่า 18,582% จากในปี 2553 มีมูลค่า 11,000 ล้านบาท เป็น 2.055 ล้านล้านบาท ในปี 2562 ส่งผลให้ธนาคารปิดสาขาไป 162 สาขา จาก 4,311 สาขาในปี 2561 เป็น 4,149 สาขาในปี 2562 ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ปิดสาขามากที่สุดจำนวน 73 สาขา
ขณะที่ ภาคการเมือง จะมีการหาเสียงในสังคมเสมือนจริง อีกทั้งมีระบบการเลือกตั้งเป็นดิจิทัล โดยยืนยันตัวตนด้วยอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) เซ็นเซอร์ มีการลงประชามติเป็นดิจิทัล ส่วนภาคสังคมและคุณภาพชีวิต จะมีการอพยพย้ายถิ่นฐานลดลง อีกทั้งมีระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานอัจริยะ ระบบรักษาความปลอดภัยดีขึ้น และสามารถลดระยะเวลารวมถึงความปลอดภัยจากการเดินทาง ขณะที่ ภาคการศึกษา เกิดการเรียนการสอนที่ไร้พรมแดน โดยมีการนำหุ่นยนต์เสมือนมาช่วยอำนวยความสะดวก และภาคสาธารณสุข ที่มีการนำ 5G มาทดแทนการผ่าตัดที่มีการเชื่อมต่อแบบสาย ใช้หุ่นยนต์ในการวินิจฉัยโรค สั่งยา และจัดลำดับในการเข้าพบแพทย์ตามความเสี่ยงของผู้ป่วย
“เชื่อว่าเทคโนโลยี 5G จะช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เกิดการจ้างงานและรายได้ในชุมชน สร้างธุรกิจออนไลน์ สตาร์ตอัพ หรือการต่อยอดธุรกิจเดิมซึ่งสามารถขยายฐานธุรกิจครอบคลุมทั่วประเทศ และต่างประเทศ กระทั่งเปลี่ยนจากคำว่ารวยกระจุกจนกระจาย เป็นรวยกระจายแต่จนกระจุกได้ในเร็ววัน” นายฐากร กล่าว