ปธ.ศาลปกครองสูงสุด ลั่นพร้อมสู่’สมาร์ทคอร์ท’ ป้องโควิด-19 ห้ามไปราชการต่างประเทศถึง31พ.ค.

“ปธ.ศาลปกครองสูงสุด”ประกาศครบ 19 ปี พร้อมสู่’ศาลอัจฉริยะ’เต็มรูปแบบ ด้านบุคลากรจัดนักจิตวิทยา-คลินิกจิตเวชทางไกลช่วยดูแลกันเครียด ส่วนเหตุโควิด-19 เข้มสั่งห้ามบุคลากรไปราชการต่างประเทศถึง 31 พ.ค.

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ห้องประชุมชั้น 1 ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ เนื่องในวานะครบรอบ 19 ปี ก่อตั้งศาลปกครองในประเทศไทย วันนี้ศาลปกครองกลาง จัดนิทรรศการ “19 ปีศาลปกตรอง ก้าวไกลบนแผ่นดินทอง เพื่อผองไทย” โดย นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธานเปิดนิทรรศการ

หลังจากนั้น นายปิยะ ได้แถลงผลดำเนินงานศาลปกครองเกี่ยวกับภารกิจด้านพิจารณาพิพากษาคดี ระบุว่า สถิติคดีของศาลปกครองในภาพรวม 19 ปีที่ผ่านมานับจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2563 ศาลปกครองรับคดีเข้าสู่การพิจารณาจำนวน 162,079 คดี โดยเป็นคดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นจำนวน 114,724 คดี และเป็นคดีอุทธรณ์หรือฟ้องตรงต่อศาลปกครองสูงสุดจำนวน 47,335 คดี ขณะที่ศาลปกครองสามารถพิจารณาคดีได้เสร็จจำนวน 135,148 คดี คิดเป็นร้อยละ 83.38 ของคดีรับเข้า

นายปิยะกล่าวถึงนโยบายปี 2563 นี้ด้วยว่า ทิศทางการดำเนินงานของศาลปกครอง ในปี 2563 จะกำหนดให้เป็น”ปีแห่งการพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้เป็นไปตามมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” ซึ่งจะพัฒนาการอำนวยความยุติธรรมให้มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน มีความรวดเร็ว ส่งเสริมให้มีการระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยอย่างจริงจัง และจะพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สะดวก ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพื่อทุกภาคส่วนในสังคมสามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรม รวมทั้งจะมีการถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีที่ประชาชนสนใจเพื่อแสดงความโปร่งใสด้วย ซึ่งปี 2563 เราจะเดินหน้าพัฒนาศาลปกครองอิเล็กทรอนิกส์ให้เต็มรูปแบบเข้าสู่ “ศาลปกครองอัจฉริยะ หรือ Smart Admincourt” ซึ่งในระยะสั้นศาลปกครอง กำลังเตรียมการนำเข้าข้อมูลคำฟ้อง , คำให้การ , เอกสารหลักฐานต่างๆ ในรูปแบบของข้อความภาพ-เสียงทั้งจากกระดาษและไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition) เพื่อนำเข้าสู่ระบบจัดการข้อมูลขนาดใหญ่

นอกจากนี้ จะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine learring) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) มาช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการเอกสารในสำนวนคดี เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านธุรการศาล รวมทั้งพัฒนาระบบเอไอ ที่จะช่วยตุลาการในการสืบค้นกฎหมาย-คำพิพากษา-แนวคำวินิจฉัย ตามประเภทคดี/ข้อเท็จจริงในคดี/ประเด็นข้อพิพาท รวมถึงหลักกฎหมายปกครอง ที่จะช่วยในการสร้างบรรทัดฐานในการพิพากษาคดีของศาลปกครอง

Advertisement

ส่วนระยะยาว จะมีระบบสารสนเทศช่วยวิเคราะห์คำฟ้อง-คำให้การ-เอกสารหลักฐาน ด้วยเทคโนโลยีเอไอ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาข้อมูลที่มีความสอดคล้องและขัดแย้งกัน รวมถึงช่วยตุลาการจัดลำดับความสำคัญในการพิจารณาเอกสารหลักฐานต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายต่อไปด้วย คือการพัฒนาระบบช่วยร่างคำพิพากษา ที่นำข้อมูลจากคำฟ้อง-คำให้การ-บันทึกคำพยาน-เอกสารหลักฐาน มาประมวลและยกร่างคําพิพากษาเพื่อช่วยลดเวลาของตุลาการในการจัดทำคำพิพากษาฉบับสมบูรณ์ โดยระบบดังกล่าวจะช่วยตรวจสอบความสมบูรณ์ของคำพิพากษาในขั้นตอนสุดท้ายว่ามีการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างครบถ้วนถูกต้องและเป็นปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้ศาลปกครองอำนวยความยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

และจากแนวโน้มของการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศทั่วโลกและในประเทศไทย ศาลปกครองยังจะพัฒนา Mobile application ที่ประชาชนและคู่กรณีสามารถใช้ในการยื่นฟ้องคดี และดำเนินกระบวนพิจารณาได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งจะนำนวัตกรรมใหม่ ๆ อาทิ หุ่นยนต์ให้บริการผ่าน Cloud Computing มาช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาติดต่อที่ศาลปกครองด้วย

ประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าวอีกว่า สำหรับงานส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมกับการพัฒนาการให้บริการของศาลปกครองนั้น จะจัดตั้ง “ ศูนย์บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว” เพื่อการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ศาลปกครอง และคดีปกครองในรูปแบบที่ทันสมัยผ่านช่องทางและเครือข่ายต่างๆ สู่สาธารณะในรูปแบบที่เข้าใจง่ายด้วย

อย่างไรก็ดี ศาลปกครองยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาศาลปกครองให้เป็น “องค์กรแห่งความสุข” มุ่งสร้างเสริมคุณภาพชีวิตและการทำงานของบุคลากรทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค ให้มีสุขภาวะทางกายและจิตที่ดี จัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เพื่อให้ผ่อนคลายจากการทำงาน โดยเราทำให้งานได้ผลและคนทำงานมีความสุข พร้อมทั้งมีการบริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพจิตแก่บุคลากร ผ่าน 2 ช่องทาง คือจัดให้มีห้อง” Happy Workplace” ให้มีนักจิตวิทยามาประจำการ ในวันพุธของเดือนๆ ละ 2 ครั้ง ซึ่งเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน และจัดคลินิกจิตเวชทางไกลที่จะให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพจิตผ่านระบบ Telepsychiatry ระหว่างสำนักงานศาลปกครอง กับโรงพยาบาลศรีธัญญา โดยผู้ให้บริการฯจะเป็นจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและพยาบาลวิชาชีพด้านจิตเวช ซึ่งส่วนนี้เปิดให้บริการในสำนักงานศาลส่วนกลางแล้ว ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 และจะขยายการบริการไปยังบุคลากรของสำนักงานศาลในภูมิภาคเพื่อให้บุคลากรเป็นพลังในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวสู่เป้าหมายความสาเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

โดย นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด ยังกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือ Covid-19 ด้วยว่า ในส่วนของศาลปกครองนั้น คณะกรรมการบริหารศาลปกครอง โดย ก.ศป.ได้มีประกาศกำหนดมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าวอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่มาติดต่อขอรับบริการที่ศาลปกครอง โดยให้สำนักงานศาลทั้งในส่วนกลางและในภูมิภาค ดำเนินการคัดกรองสุขภาพของประชาชนและบุคลากรของศาลปกครองที่เข้ามาในพื้นที่อาคารสำนักงานอย่างเหมาะสม รวมทั้งห้ามไม่ให้ผู้มีอำนาจทำการอนุญาตหรืออนุมัติให้ข้าราชการศาลปกครอง , พนักงานราชการและลูกจ้างสำนักงานศาลปกครอง ไปต่างประเทศหรือเดินทางไปราชการต่างประเทศ หรือแวะผ่าน (Transit) ประเทศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จนถึงวันที่ 31 พ.ค.63 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและต่อสังคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำนวนคดีรับเข้า-คดีแล้วเสร็จ-คดีค้างของศาลปกครอง ตั้งแต่เปิดทำการ จนถึงวันที่ 31 ม.ค.63 ในส่วนของศาลปกครองสูงสุด สำหรับคดีปกครองทั่วไป รับเข้า 35,989 /ค้างจำนวน 6,182 , แผนกคดีสิ่งแวดล้อม รับเข้า 1,441/ค้างจำนวน 618 , แผนกคดีบริหารงานบุคคล รับเข้า 4,200/ค้างจำนวน 2,265 , แผนกคดีวินัยการคลังฯ รับเข้า 39/ค้างจำนวน 35 , แผนกคดีบริหารราชการแผ่นดิน รับเข้า 2,229/ค้างจำนวน 1,378 , แผนกคดีละเมิดฯ รับเข้า 3,457/ค้างจำนวน 2,499 คดี

ส่วนศาลปกครองชั้นต้น สำหรับคดีปกครองทั่วไป รับเข้า 100,839/ค้างจำนวน 10,573 , แผนกคดีสิ่งแวดล้อม รับเข้า 5,527/ค้างจำนวน 528 , แผนกคดีบริหารงานบุคคล รับเข้า 8,312/ค้างจำนวน 2,750, แผนกคดีวินัยการคลังฯ รับเข้า 46/ค้างจำนวน 3 คดี

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image