ครม.ไฟเขียวมาตรการช่วยโควิด-19  อัดสินเชื่อ 1.8 แสนล. ตั้งกองทุน 2 หมื่นล.ช่วยคนตกงาน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า มาตรการด้านเศรษฐกิจ ครม.เห็นชอบมาตรการดูแลผลกระทบโควิด-19 ระยะที่ 1 โดยที่พิจารณาต้องการดูแลทั้งผู้ประกอบการและประชาชน มาตรการตั้งทันการ ตรงเป้าหมาย ชั่วคราวตามความจำเป็น  โดยมาตรการสำหรับผู้ประกอบการ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ปล่อยกู้ 20 ล้านบาทต่อราย คิดดอกเบี้ย 2% ต่อปีเป็นเวลา 2 ปี โดยเงินที่นำมาปล่อยกู้นั้นยืมมาจากสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ได้ใช้จากงบประมาณ 2.มาตรการพักต้นเงิน ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้สำหรับลูกหนี้แบงก์รัฐ 3.จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์บางอย่างเพื่อให้สถาบันการเงินช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ 3.กองทุนประกันสังคมให้เงินมา 3 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม คิดดอกเบี้ย 3% ต่อปีนาน 3 ปีให้กับ

นายอุตตม กล่าวว่า นอกจากนี้มีมาตรการด้านภาษี ประกอบด้วย 1.คืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในประเทศ ลดอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย เหลือ 1.5% จากเดิม 3% เริ่มเมษายน-กันยายน  2563 2.เอสเอ็มอีนำรายจ่ายดอกเบี้ยจากการกู้ซอฟท์โลนมาหักลดหย่อนภาษี 1.5 เท่า เริ่มเมษายน-ธันวาคม 2563 3.ส่งเสริมสถานภาพการจ้างงงานโดยให้เอสเอ็มอีนำรายจ่ายค่าจ้าง ในธุรกิจเอสเอ็มอี หักรายจ่ายได้ 3 เท่า 4. เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศถ้ายื่นแบบทางอินเตอร์เน็ตคืนภายใน 15 วัน หากยื่นกับสรรพากรคืนภายใน 45 วัน เพื่อคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ

นายอุตตม กล่าวว่า ส่วนมาตรการอื่นๆ ประกอบด้วย ลดค่าน้ำ ค่าไฟ คืนเงินประกันมิเตอร์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานไปพิจารณาเงื่อนไขที่เหมาะสม,ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง กระทรวงแรงงานจะไปพิจารณาตามความเหมาะสมอาจลดให้ 3-6 เดือน,ขอความร่วมมือส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจลดค่าเช่า ค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการ เช่น ลดค่าเช่าที่ราชพัสดุ,มาตรการช่วยตลาดหุ้น เพิ่มวงเงินประชาชนที่ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการออม(SSF) สามารถมาหักลดหย่อนภาษีเพิ่มอีก 2 แสนบาท จากเดิมได้ 2 แสนบาท เป็น 4 แสนบาท เป็นเวลา 3 เดือนเริ่มเมษายนถึงมิถุนายน 2563 ถ้ามีความจำเป็นพร้อมจะพิจารณาขยายเวลาเพิ่มให้อีก

นายอุตตม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ครม.ยังพิจารณาให้กำหนดวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเตรียมการไว้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ถูกเลิกจ้าง สถานประกอบการกระทบลดวันทำงานลูกจ้างลง การเสริมศักยภาพของบุคคลกร ซึ่งกระทรวงการคลังหารือกับสำนักงบประมาณในการกำหนดวงเงินและขอบเขตในการใช้เงินต่อไป  และมาตรการสุดท้ายคือ ครม.เห็นชอบยกเว้นอากรขาเข้าของวัตถุดิบเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยเป็นเวลา 6 เดือนนับจากครม.มีมติเป็นต้นไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image