รื่นร่มรมเยศ : คิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รื่นร่มรมเยศ : คิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รื่นร่มรมเยศ : คิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

วันนี้ขอพูดถึงวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ตามศัพท์ทางศาสนาว่าคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม ความจริงคำเดิมของท่านคือ “อุปปาทมนสิการ” หรือ “อุปปาทกมนสิการ” แปลตามตัวอักษรว่า “คิดให้เกิดการกระทำ” นักวิชาการสมัยใหม่แปลว่า “คิดสร้างสรรค์”

แปลอย่างนี้ยังไม่ครอบคลุมนัก ถ้าจะให้ครอบคลุมน่าจะแปลว่าคิดให้เกิดการกระทำในทางดี หรือคิดสร้างสรรค์สิ่งที่ดี ที่ต้อง “ตีกรอบ” ไว้อย่างนี้กลัวว่า จะนำไปสู่การกระทำในทางไม่ดี หรือสร้างสิ่งไม่ดี

คนที่คิดทำระเบิดปรมาณู ก็เป็นคนคิดค้น คิดสร้างสรรค์ คิดทดลองวิธีการต่างๆ หลายวิธี กว่าจะสร้างมาเป็นระเบิดปรมาณูได้ คนที่คิดทำระเบิดปรมาณูขึ้นมาได้ใครๆ ก็ยอมรับว่าแกคิดให้เกิดการกระทำหรือคิดสร้างสรรค์

Advertisement

ทางโลกอาจถือว่าเป็นเรื่องดี เป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่คนที่คิดได้รับยกย่องว่าเป็นคนเด่นคนดังของโลกด้วยซ้ำ ชื่อนายอะไรล่ะ นายอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรืออะไรทำนองนี้จำไม่ถนัด ถ้าจำผิดก็ขอ “อำไพ” ด้วยผมมันเป็นคน “คลำ” แต่พระไตรปิฎก เรื่องอื่นไม่ค่อยได้คลำ

แต่ในทางพระพุทธศาสนา คิดอย่างนี้ยังไม่นับว่าเป็นการคิดสร้างสรรค์หรือการคิดให้เกิดการกระทำ เพราะการกระทำนั้น เป็นไปเพื่อการทำลายผู้อื่นเผลอๆ ท่านประณามว่าเป็นบาปอกุศลเสียอีกด้วย จะบอกให้

ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ได้ให้คำจำกัดความวิธีคิดแบบนี้ พร้อมทั้งอธิบายประกอบไว้ชัดแจ้งดี ผมขออนุญาตคัดลอกมาให้อ่านกัน เพื่อความสบายใจ (สบายใจผมซิครับ ไม่ต้องคิดให้เปลืองสมอง ลอกผู้รู้ท่านมา แต่ยังไงๆ ก็บอกว่า “ลอกมา” ไม่บังอาจโกหกว่า ข้าคิดขึ้นเองดอก)

Advertisement

“วิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม” อาจเรียกง่ายๆ ว่าวิธีคิดแบบเร้ากุศล หรือเร้าคุณธรรม หรือวิธีคิดแบบกุศลภาวนา เป็นวิธีคิดในแนวสกัดกั้นหรือบรรเทา และขัดเกลาตัณหา จึงจัดได้ว่า เป็นข้อปฏิบัติระดับต้นๆ สำหรับส่งเสริมความเจริญงอกงามแห่งกุศลธรรม และสร้างเสริมสัมมาทิฐิที่เป็นโลกยะ

หลักการทั่วไปของวิธีคิดแบบนี้ มีอยู่ว่าประสบการณ์ คือ สิ่งที่ได้ประสบหรือได้รับรู้อย่างเดียวกัน บุคคลผู้ประสบหรือรับรู้ต่างกัน อาจมองเห็นและคิดนึกปรุงแต่งไปคนละอย่างสุดแต่โครงสร้างของจิตใจ หรือแนวทางความเคยชินต่างๆ ที่เป็นเครื่องปรุงของจิต คือสังขารที่ผู้นั้นได้สั่งสมไว้ หรือสุดแต่การทำใจ ในขณะนั้น

ของอย่างเดียวกัน หรืออาการกิริยาเดียวกัน คนหนึ่งมองเห็น แล้วคิดปรุงแต่งไปในทางดีงาม เป็นประโยชน์ เป็นกุศล แต่อีกคนหนึ่งเห็นแล้วคิดปรุงแต่งไปในทางไม่ดีไม่งาม เป็นโทษ เป็นอกุศล แม้แต่บุคคลเดียวกันมองเห็นของอย่างเดียวกันหรือประสบอารมณ์อย่างเดียวกัน แต่ต่างขณะต่างเวลา ก็อาจคิดเห็นปรุงแต่งต่างออกไป ครั้งละอย่าง คราวหนึ่งร้ายคราวหนึ่งดีทั้งนี้ โดยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้ว

การทำใจที่ช่วยตั้งต้นและชักนำความคิดให้เดินไปในทางที่ดีงาม และเป็นประโยชน์ เรียกว่าเป็นวิธีคิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม หรือ โยนิโสมนสิการ แบบเร้ากุศลในที่นี้ โยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศลนี้มีความสำคัญทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดความคิด และการกระทำที่ดีงาม เป็นประโยชน์ในขณะนั้นๆ และในแง่ที่ช่วยแก้ไขนิสัยความเคยชินร้ายๆ ของจิตที่ได้สั่งสมไว้แต่เดิมพร้อมกับสร้างนิสัยความเคยชินใหม่ๆ ที่ดีงาม ให้แก่จิตไปในเวลาเดียวกันด้วย ในทางตรงข้ามหากปราศจากอุบายแก้ไขเช่นนี้ ความคิด และการกระทำของบุคคลก็จะถูกชักนำให้เดินไปตามแรงชักจูงของความเคยชินต่างๆ ที่ได้สั่งสม ไว้เดิมเพียงอย่างเดียว และช่วยเสริมความเคยชินอย่างนั้นให้มีกำลังแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อยไป

ตัวอย่างง่ายๆ อย่างหนึ่งที่มีในคัมภีร์ คือการคิดถึงความตาย ถ้ามีอโยนิโสมนสิการ คือทำใจหรือคิดไม่ถูกวิธี อกุศลธรรมก็จะเกิดขึ้น เช่นคิดถึงความตายแล้วสลดหดหู่ เกิดความเศร้า ความเหี่ยวแห้งใจบ้าง เกิดความหวาดหวั่น กลัวหวาดเสียวใจบ้าง ตลอดจนเกิดความดีใจเมื่อนึกถึงความตายของคนที่เกลียดชังบ้าง เป็นต้น

แต่ถ้ามีโยนิโสมนสิการ คือ ทำใจหรือคิดให้ถูกวิธีก็จะเกิดกุศลธรรมคือ เกิดความรู้สึกตื่นตัวเร้าใจ ไม่ประมาทเร่งขวนขวายปฏิบัติกิจหน้าที่ทำสิ่งดีงามเป็นประโยชน์ ประพฤติปฏิบัติธรรม ตลอดจนรู้เท่าทันความจริงที่เป็นคติธรรมดาของสังขาร ท่านกล่าวว่า การคิดถึงความตายอย่างถูกวิธี จะประกอบด้วย สติ (ความกำหนดใจได้ หรือมิใจอยู่กับตัวระลึกรู้ถึงสิ่งที่พึงเกี่ยวข้องจัดทำ) สังเวค (ความรู้สึกเร้าใจ ได้คิด และสำนึกที่จะเร่งรีบทำการ) และ ฌาน (ความรู้เท่าทันธรรมดา หรือรู้ตามเป็นจริง) นอกจากนั้นท่านได้แนะนำอุบายแห่งโยนิโสมนสิการเกี่ยวกับความตายไว้หลายอย่าง

แม้ในพระไตรปิฎก ก็มีตัวอย่างง่ายๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงบ่อยๆ คือ เหตุปรารภ หรือเรื่องราวกรณีอย่างเดียวกัน คิดมองไปอย่างหนึ่งทำให้เกียจคร้าน คิดมองไปอีกอย่างหนึ่งทำให้เกิดความเพียรพยายาม (ดังความในพระสูตร) เช่น

1.ภิกษุมีงานที่จะต้องทำ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า เรามีงานที่จักต้องทำ เมื่อเราทำงาน ร่างกายก็จะเหน็ดเหนื่อย อย่ากระนั้นเลย เรานอน (เอาแรง) เสียก่อนเถิด คิดดังนี้แล้ว เออก็นอนเสียไม่เริ่มระดมความเพียรเพื่อบรรลุธรรม ที่ยังไม่บรรลุเพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้าถึง เพื่อประจักษ์แจ้งธรรมที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง…

2.อีกประการหนึ่งภิกษุทำงานเสร็จแล้ว เธอมีความคิดอย่างนี้ว่าเราได้ทำงานเสร็จแล้ว เมื่อเราทำงานร่างกายก็เหน็ดเหนื่อยแล้วอย่ากระนั้นเลยเราจะนอน (พัก) ละ คิดดังนี้แล้วเธอก็นอนเสีย..

กรณีเดียวกันทั้งหมดนี้ คิดอีกอย่างหนึ่งกลับทำให้เริ่มระดมความเพียรท่านเรียกว่า เรื่องที่จะเริ่มระดมเพียร เช่น

1.(กรณีที่จะต้องทำงาน) …ภิกษุคิดว่า เรามีงานที่จะต้องทำและขณะเมื่อเราทำงาน การมนสิการคำสอนของพระพุทธะทั้งหลายก็จะทำไม่ได้ง่าย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเสียก่อนเถิด เพื่อจะได้บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ยังไม่เข้าถึง เพื่อประจักษ์แจ้งธรรมที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง คิดดังนี้แล้ว ภิกษุนั้นจึงเริ่มระดมความเพียร…

2.(กรณีที่ทำงานเสร็จแล้ว) ภิกษุคิดว่าเราได้ทำงานเสร็จแล้วก็แล้วขณะเมื่อทำงานเรามิได้สามารถมนสิการคำสอนของพระพุทธะทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย เราเริ่มระดมความเพียรเถิด..

เรื่องเดียวกัน ถ้าคิดแบบไม่สร้างสรรค์ กับคิดแบบสร้างสรรค์ผลจากการคิดจะออกมาไม่เหมือนกัน ดังตัวอย่างข้างต้น “เรื่องงาน” คนหนึ่งคิดว่าถ้าทำงาน ร่างกายก็จะเหน็ดเหนื่อย สู้นอนพักผ่อนดีกว่า สบายดี ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อย

ผลก็คือกลายเป็นคนขี้เกียจ ผัดวันประกันพรุ่ง “เช้าเอน เพลนอน เย็นพักผ่อน ค่ำจำวัด” อะไรทำนองนั้น

อีกคนคิดว่าเรามีงานต้องทำ การทำงานทำให้เราได้ปีติชื่นชม เมื่องานเสร็จแถมยังได้รับค่าตอบแทนจากน้ำพักน้ำแรงอันบริสุทธิ์มาเลี้ยงตนและครอบครัวอีก และงานของเขาถ้าทำได้อย่างดีก็จะเป็นเกียรติยศ แก่วงศ์ตระกูลและอำนวยประโยชน์แก่คนทั่วไป ด้วยคนเราไม่มีค่า ถ้าไม่สร้างผลงานที่ดีฝากไว้อีกไม่กี่ปี เราก็จะลาโลกแล้ว เกิดมาทั้งที่ต้องทำดีฝากไว้ ถ้าคิดเช่นนี้ จะไม่มีวันเป็นคนเฉื่อยแฉะไม่เอาไหน แน่นอน

“ความคิดคนเรานี้สำคัญ เราจะเป็นอย่างไร เป็นผลมาจากว่าเราคิด

อะไรมาก่อน”

อย่าคิดว่านี้คือคำพูดของฝรั่ง ผมถอดมาจากพระพุทธวจนะบาลีว่า “มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา” ต่างหาก

“ความตาย” ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้คนคิดในแง่มุมแตกต่างกัน มีพฤติกรรมแตกต่างกันไปด้วย

คนหนึ่งคิดว่า เกิดมาแล้วต้องตาย ชีวิตไม่แน่นอนแล้วเราจะขวนขวายไปทำไม ทำก็ตาย ไม่ทำก็ตาย ไม่ทำอะไรเลยดีกว่า

แต่อีกคนไม่ติดอย่างนั้น ไหนๆ ก็จะต้องตายแล้วอายุสั้นเหลือเกิน ขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่เราต้องพยายามขวนขวายทำความดีไว้มากๆ

เห็นแล้วใช่ไหมครับ วิธีคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม เป็นสิ่งจำเป็นพระพุทธเจ้าตรัสย้ำให้พุทธศาสนิกฝึกคิดแบบนี้ให้มาก และคิดบ่อยๆ จะได้มีส่วนช่วยสร้างสรรค์จรรโลงสังคม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image