‘แพนเดมิค’ ครั้งที่ 4 โลก ไวรัสระบาดใหญ่

แฟ้มภาพ

อนที่ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ฮู) ประกาศยกระดับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 จากการเป็น การแพร่ระบาด (epidemic) เป็น การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ (pandemic) เมื่อวันที่ 11 มีนาคมนั้น ได้กำชับเอาไว้ด้วยว่า คำนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับความรุนแรงของโรค หากแต่เป็นการแสดงนัยถึงความหนักหนาสาหัสของการระบาด ที่ทั้งรวดเร็วและแพร่ออกไปเป็นวงกว้างมาก

ขอบเขตและความเร็วของการแพร่ระบาดในระดับเช่นนี้เองที่ทำให้องค์การอนามัยโลกกังวลอย่างลึกซึ้ง

ตอนที่ตัดสินใจประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคที่แพร่ระบาดครั้งใหญ่นั้น มีประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศ ใน 4 ทวีปของโลก เกิดการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางอยู่ระยะหนึ่งแล้ว

Advertisement

การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ หรือ pandemic นี้ไม่มีเกณฑ์กำหนดตายตัวว่า จำเป็นต้องมีการแพร่ระบาดในกี่ประเทศ หรือกี่ภูมิภาค และไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ชัดเจนแต่อย่างใด แต่โดยทั่วไปแล้ว ฮูมักพิจารณาถึงการระบาด “ในชุมชน” ในระดับที่ “ยั่งยืน” ในประเทศที่แตกต่างกันตั้งแต่ 2 ทวีปขึ้นไปว่า เป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่

ก่อนหน้านี้เคยมีผู้สื่อข่าวถามกีบรีเยซุสว่าทำไมถึงไม่เรียกโควิด-19 ว่าเป็น “แพนเดมิค” เสียที คำตอบของผู้อำนวยการฮู ก็คือ คำนี้ไม่ใช่คำที่จะนำมาใช้กันง่ายๆ ไม่จำเป็นจริงๆ ไม่มีใครอยากได้ยินหรืออยากใช้กัน

เหตุผลก็คือ คำคำนี้มีนัยแฝงทำให้เกิด “ความกลัว” อยู่ในตัว แถมตัวคำคำนี้เอง ก็ไม่ได้ช่วยให้สามารถป้องกันการระบาดหรือรักษาชีวิตคนได้โดยตัวของมันเองอีกต่างหาก

Advertisement

ไม่มีใครอยากเป็นเหตุให้คนตกอยู่ในภาวะกระวนกระวายใจเรื่อยไปจนถึงหวั่นกลัว หวาดวิตกกันทั้งโลกแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาโลกเคยเผชิญกับสภาวะวิกฤตด้านสาธารณสุขเช่นนี้มาแล้ว 4 ครั้งทั้งหมดล้วนเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัส แม้ว่าจะเป็นคนละชนิดกับที่แพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้ก็ตาม

กีบรีเยซุสระบุเอาไว้ว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ฮูต้องประกาศให้การระบาดของโคโรนาไวรัส เป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ หรือแพนเดมิค

แต่ก็ตั้งความหวังเอาไว้ด้วยว่า เราเชื่อว่านี่จะเป็นครั้งแรกก็ได้ที่โลกสามารถประกาศได้ว่าสามารถจำกัดและควบคุมการระบาดของมันได้ นั่นหมายความว่าใน 4 ครั้งที่ผ่านมา ไวรัสชนิดต่างๆ เอาชนะมนุษย์โลกได้ตลอดมา

ถ้าอย่างนั้น การแพร่ระบาดใหญ่ 4 ครั้งในอดีตเกิดอย่างไรและจบลงอย่างไรกัน?

การแพร่ระบาดใหญ่ปี 1918
การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของเชื้อไวรัส “อินฟลูเอนซา” (เอช1เอ็น1) ในปี 1918 (พ.ศ.2461) นั้น ถือเป็นการแพร่ระบาดใหญ่ที่หนักหน่วงรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยยุคใหม่ของมนุษยชาติ

ตัวการที่ก่อให้เกิดโรคระบาดในครั้งนั้นคือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ “1918 เอช1เอ็น1” ซึ่งองค์ประกอบทางพันธุกรรมบ่งชี้ว่า มาจาก “สัตว์ปีก”

ที่น่าสนใจก็คือจนกระทั่งถึงบัดนี้ ยังไม่มีข้อมูลระบุได้ชัดจนเห็นพ้องต้องกันในวงวิชาการถึงจุดเริ่มต้นของการติดเชื้อแล้วก่อให้เกิดการแพร่ระบาด แม้ว่าคำเรียกสามัญของโรคระบาดนี้ในเวลานั้นจะเรียกว่า “ไข้หวัดสเปน” แต่ในทางระบาดวิทยาชี้ว่า นั่นเป็นเพราะการแพร่ระบาดเกิดในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 1 (1918-1919) ขณะที่ยังมีการสู้รบกันอยู่ ทำให้หลายประเทศไม่มีการประกาศการระบาด สเปน ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมสงคราม เป็นประเทศแรกที่ประกาศการระบาดนี้ต่อสาธารณะ เป็นที่มาของชื่อเรียกดังกล่าว

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า มีการประมาณกันว่ามีคนทั่วโลกติดเชื้อไวรัสนี้ราว 500 ล้านคน ยอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น “อย่างน้อย” 50 ล้านคนทั่วโลก

เฉพาะในสหรัฐอเมริกา เสียชีวิตไป 675,000 คน

ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ช่วงอายุที่มีอัตราการตายสูงสุดอยู่ที่ 0-5 ปี และ 20-40 ปี แล้วกระโดดข้ามไปที่ช่วงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

การที่อัตราการตายในกลุ่มประชากรเจริญวัยเต็มที่และมีสุขภาพแข็งแรงอายุระหว่าง 20-40 ปีมีสูงมากนั้น กลายเป็นลักษณะเด่นของการแพร่ระบาดนี้

ไวรัส “1918 เอช1เอ็น1” ถูกสังเคราะห์ ศึกษาวิจัยและตรวจสอบมามากครั้ง แต่จนถึงขณะนี้ คุณสมบัติที่ทำให้มันก่ออัตราการเสียชีวิตสูงในหมู่คนสุขภาพแข็งแรงที่ว่านั้นก็ยังไม่รู้ชัดและเข้าใจกันแต่อย่างใด

การระบาดเกิดขึ้น 2 ระลอกด้วยกัน ระลอกเเรกเริ่มเมื่อมกราคม 1918 ระลอกที่สองที่รุนแรงและร้ายแรงกว่า เริ่มเมื่อปลายปีเดียวกัน

ทั้งโลกที่ขาดแคลนอยู่แล้ว ไม่มีทั้งยารักษาและวัคซีน จำเป็นต้องใช้วิธีดั้งเดิม คือการบังคับกักกันโรค และการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ห้ามการชุมนุมหมู่มาก ว่ากันว่าส่วนหนึ่งของผู้เสียชีวิตเกิดจากการถูกปล่อยเกาะในแปซิฟิก และอาร์ติก

ไวรัส “1918 เอช1เอ็น1” หายไปเองแบบเฉียบพลันเมื่อเดือนธันวาคมปี 1920 แม้จะกลับมาแพร่ระบาดอยู่บ้างบางฤดูกาลในเวลาต่อมาก็ตาม แต่ไม่ปรากฏการระบาดรุนแรงขึ้นอีก

การระบาดใหญ่ 1957-1958
ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1957 ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ “อินฟลูเอนซา เอ” ปรากฏขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เริ่มต้นพบครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนที่จะพบแพร่ไปยังฮ่องกง ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน ชื่อเรียกสามัญของโรคที่ไวรัสนี้ก่อให้เกิดขึ้นในเวลานั้นจึงเป็น “ไข้หวัดเอเชีย” หรือ “เอเชียน ฟลู”

ไวรัส “อินฟลูเอนซา เอ” หรือ “เอช2เอ็น2” เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดไข้หวัดเอเชียขึ้นในครั้งนั้น สายพันธุ์เอช2เอ็น2 นี้ มียีนที่แตกต่างกัน 3 ตัวที่มาจาก ไวรัสเอช2เอ็น2 ซึ่งปรากฏในสัตว์ปีกจำพวกนก เรียกกันว่า “เอเวียน อินฟลูเอนซา เอ” ซึ่ง 2 ตัวในจำนวนนั้นคือแอนติเจน “เอช2” (ฮีแม็กกลูตินิน-hemagglutinin ) กับ “เอ็น2” (นิวเรมินีเดส-neuraminidase) แสดงว่าเป็นไวรัสที่แพร่มาจากสัตว์ปีกจำพวกนกเช่นเดียวกัน

จากสิงคโปร์และฮ่องกง จากนั้นก็ระบาดไปทั่วโลกในเวลาต่อ รวมทั้งการระบาดไปทั่วหัวเมืองตามชายฝั่งของสหรัฐอเมริกาในหน้าร้อนปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่ไวรัส เอช2เอ็น2 อยู่รอดในตัวคนนั้นจำกัดสั้นมาก และเกิดการเคลื่อนทางพันธุกรรมขึ้นในราว 10 ปีให้หลัง จนเอช2เอ็น2 หายไปจากโลกในที่สุด

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเคลื่อนทางพันธุกรรม ที่ปรากฏในสายพันธุกรรมอาร์เอ็นเอบนเปลือกของไวรัส ซึ่งบ่งชี้ด้วยจำนวนแอนติเจน ทำให้จำนวน ฮีแม็กกลูตินิน มี 3 พันธะขึ้นมาแทนที่จะเป็น 2 และ ส่งผลให้เอช2เอ็น2 กลายเป็น เอช3เอ็น2 ไปทั้งหมดนั่นเอง

ประมาณกันว่า เอช2เอ็น2 นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกราว 1.1 ล้านคน โดยในสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตราว 116,000 คน

การระบาดใหญ่ปี 1968
การระบาดใหญ่แบบแพนเดมิคของโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นในอีก 10 ปีต่อมา เกิดจากไวรัส “อินฟลูเอนซา เอ” เช่นเดียวกับ “เอเชียน ฟลู” แต่เป็นสายพันธุ์ใหม่ หรือที่นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าเป็น สายพันธุ์ย่อย (subtype) ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมจาก เอ/เอช2เอ็น2 ซึ่งมีที่มาจากไวรัสอินฟลูเอนซา เอ ที่พบในสัตว์ปีก (หรือ เอเวียน อินฟลูเอนซา เอ)

ไวรัสใหม่นี้ มียีน 2 ตัวจาก เอเวียน อินฟลูเอนซา เอ ไวรัส หนึ่งในสองคือ ยีน เอช3 ฮีแมกกลูตินิน แต่ในเวลาเดียวกันก็มียีน เอ็น2 นิวเรมินีเดส จาก 1957เอช2เอ็น2 หรือไวรัสเอเชียนฟลูอยู่ด้วย พบครั้งแรกที่ฮ่องกง ทำให้ได้ชื่อว่า “ไข้หวัดฮ่องกง” จากนั้นระบาดไปทั่วเอเชีย ตั้งแต่เวียดนาม, สิงคโปร์, อินเดีย, ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น ก่อนลามเข้าไปยังยุโรป แอฟริกาและอเมริกาใต้ในเวลาต่อมา

จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกประเมินกันว่าอยู่ที่ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในสหรัฐอเมริการาว 100,000 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยชรา คือ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

ที่น่าสนใจมากก็คือ จนถึงขณะนี้ เอช3เอ็น2 ยังไม่หายไปไหน ยังคงวนเวียนปรากฏซ้ำอยู่ตามฤดูกาล แต่บรรเทาความรุนแรงลงอันเนื่องมาจากการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอนั่นเอง

การระบาดใหญ่ปี 2009
นี่เป็นการระบาดใหญ่ครั้งล่าสุดของโลก และเป็นไวรัสที่เรารู้จักกันดีมากที่สุด ชื่อเรียกทั่วไปของมันก็คือ “ไวรัส อินฟลูเอนซา เอ” หรือ “ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009” ตามปีที่เริ่มการแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2009

ไวรัส อินฟลูเอนซา เอที่ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่นี้ แม้จะมีโครงสร้างของแอนติเจนเหมือนกันกับ “ไข้หวัดสเปน” คือมี ฮีแม็กกลูตินิน-เอช และนิวเรมินีเดส-เอ็น อย่างละ 1 พันธะก็ตาม ซึ่งทำให้ชื่อเรียกทางการของไวรัสนี้ควรจะเป็น “เอช1เอ็น1” แต่เมื่อตรวจสอบทางพันธุกรรมปรากฏว่าแตกต่างกับ เอช1เอ็น1 เมื่อปี 1918 โดยสิ้นเชิง

ความแตกต่างอย่างสำคัญก็คือ ในขณะที่เอช1เอ็น1 ซึ่งระบาดเมื่อปี 1918 นั้นมียีนจากสัตว์ปีกปรากฏอยู่ เอช1เอ็น1 สายพันธุ์ใหม่กลับเกิดจากการผสมผสานของยีนอินฟลูเอนซา ซึ่งไม่เคยปรากฏถูกบ่งชี้ว่ามีในสัตว์ชนิดใดหรือในตัวคนใดๆมาก่อนเลย ทำให้นักวิทยาศาสตร์กำหนดชื่อเฉพาะให้ไวรัสนี้ใหม่ว่า “อินฟลูเอนซา เอ (เอช1เอ็น1) พีดีเอ็ม09” ซึ่งหมายถึง อินฟลูเอนซา เอ สายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้เกิดแพนเดมิคขึ้นในปี 2009 นั่นเอง

การที่เป็น เอช1เอ็น1 เหมือนกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ เอช1เอ็น1 แต่เดิมในตัวผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรโลกซึ่งเคยสัมผัส ไข้หวัดสเปนมาแล้ว สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส (เอช1เอ็น1) พีดีเอ็ม09 ได้ ทำให้การติดเชื้อเกิดกับผู้เยาว์และคนหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่เคยมีภูมิคุ้มกันดั้งเดิมอยู่

ในขณะเดียวกัน ลักษณะทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน ทำให้วัคซีนไวรัส เอช1เอ็น1 แต่เดิมนำมาใช้กับ (เอช1เอ็น1) พีดีเอ็ม09 ใหม่นี้ไม่ได้
กว่าวัคซีนจะผลิตออกมาได้ การระบาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศทั่วโลก ก็ผ่านระยะสูงสุดไปแล้ว และทำให้มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐอเมริกามากถึง 12,469 ราย ส่วนทั่วโลก เสียชีวิตอยู่ที่ระหว่าง 151,700-575,400 รายในช่วงปีแรกที่เกิดการระบาด

แม้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นผู้เยาว์และหนุ่มสาว ทำให้การเสียชีวิตส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 65 ปี

ฮูประกาศยุติการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสตัวนี้ในเดือนสิงหาคมปี 2010 แต่ทุกวันนี้ (เอช1เอ็น1) พีดีเอ็ม09 ยังคงแพร่ระบาดอยู่ตามฤดูกาล ระดับความรุนแรงผันแปรไปตามฤดูกาลเช่นเดียวกัน

ที่เปลี่ยนไปก็คือในระยะหลังนี้ส่วนใหญ่ของผู้เสียชีวิต ระหว่าง 70-90 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image