The Elephant Tales นิทรรศการศิลปสุดป๊อปดึงคนรุ่นใหม่เทใจรักษ์ช้าง

เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องในวันช้างไทย กับคำว่า อนุรักษ์..เพื่อให้ช้างไทยได้มีชีวิตอยู่ต่อ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากกับปริมาณช้างที่ลดจำนวนลง อีกหนึ่งพลังเล็กๆ ของเด็กรุ่นใหม่สู่เส้นทางการอนุรักษ์ช้างให้คงอยู่คู่ประเทศไทยต่อไป ผ่านมุมมองศิลปะสุดป๊อป “The Elephant Tales” นิทรรศการศิลปะช้าง เพื่อคนไทยทุกคน ในเชิง Interactive ของคณะนิสิตระดับบัณฑิต สาขาการจัดการการสื่อสาร (นานาชาติ) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบกันบริเวณชั้น จี (G floor) ลานแสดงสินค้า ที่สามย่านมิตรทาวน์

“The Elephant Tales” นิทรรศการศิลปะของ 4 ดวงใจอนุรักษ์ช้าง นายสิตมน รัตนาวะดี นางสาวรัสรินทร์ เชาวน์จิรกิตติ์ และ นางสาวกานต์พิชชา ประโยชน์อมรกุล ภายใต้การดูแลของ รองศาสตราจารย์ ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา เป็นนิทรรศการศิลปะที่ก่อตัวมาจากความรักช้าง ที่ต้องการให้ทุกคนเห็นความสำคัญ และหันมาสนใจอนุรักษ์ช้างให้มากขึ้น ซึ่งส่งต่อแรงบันดาลใจมาจากโครงการ “โอบช้าง” ที่ได้ก่อตัวขึ้น เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว ซึ่งนายสิตมน เล่าให้เราฟังว่า “ด้วยความรักช้างมาตั้งแต่วัยเด็ก และเห็นปัญหาของช้างที่ถูกทารุณจากคนจนลดจำนวนลงเรื่อยๆ จึงเริ่มทำโครงการช่วยเหลือช้างมาโดยตลอด และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งโปรเจคที่ได้รวมตัวกับเพื่อนๆ สร้างผลงานสื่อความหมายออกมาในรูปแบบนิทรรศการศิลปะ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น และอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของช้างในทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่วันที่ 13 มีนาคมเท่านั้น คนกับช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขโดยที่ไม่ต้องเบียดเบียนซึ่งกันและกันเหมือนวิถีชีวิตคนไทยในสมัยก่อน”

รัสรินทร์ – กานต์พิชชา กล่าวต่ออีกว่า จากความท้าทายที่ต้องการให้กลุ่มคนรุ่นใหม่สนใจเรื่องการอนุรักษ์ช้าง เลยอยากต่อยอดโครงการเพื่อช่วยเหลือช้างให้มากขึ้น รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาของช้าง ผ่านกิจกรรมภายในงานที่ผสานประสาทสัมผัสทั้ง 5 เข้าด้วยกัน ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้สัมผัส และการลิ้มรสซึ่งถือเป็นวิธีการสร้างจุดเด่นให้กับการจัดงานในครั้งนี้อีกด้วย

และอีกหนึ่งดวงใจจากศิลปินกราฟฟิตี้สุดฮิต อย่างคุณฟ้าวลัย ศิริสมพล หรือ “มาม่าบลูส์” จากการรับรู้ถึงปัญหาของช้าง จึงเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมช้างไทย 3 ช่วงวัย โดยใช้ 3 สีสดใส สื่อความหมาย อย่างช้างวัยเด็ก ใช้สีแดงสดใส แสดงถึงพลังชีวิตเยอะ ด้วยธรรมชาติที่เติบโตมาจากการกินขี้แม่ช้าง ศิลปินจึงเลือกใช้รูปทรงกลมสื่อแทนความหมาย สู่ช้างช่วงวัยรุ่นหนุ่มสาว ใช้สีฟ้า แสดงถึงพลังการทำงานที่เต็มเปี่ยม มีความสดใหม่ วิ้ง ในท่วงท่ายกซุง ยกขา จบที่ปลายทางช้างแก่ชรา แทนด้วยสีม่วง ให้ความรู้สึกหม่น ตัดด้วยสีสะท้อนแสงแสดงรายละเอียดของความแก่ชรา อย่าง หูดขึ้น ลายแตก ตกกระ งาหัก หรือกระดูกขาที่เสื่อมลง ในขนาดความสูง 160 เซนติเมตร

Advertisement

ภายในงานยังมีการให้ความรู้เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาช้างไทย แสดงถึงปัญหาช้างไทยที่ถูกคุมคามในปัจจุบัน และการให้ความช่วยเหลือช้างไทยผ่านองค์กรเกี่ยวกับช้างไทย ได้แก่ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง และศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดกระบี่ โดยผู้เข้าชมสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือและอนุรักษ์ช้างไทยได้อีกด้วย

ด้วยความปลอดภัยห่างไกลจาก COVID-19 โดยที่คุณสามารถใช้เวลาชมนิทรรศการได้อย่างไร้ความกังวล ด้วยมาตรการวัดไข้ พร้อมติดสติ๊กเกอร์คัดกรองก่อนเข้างาน, บริการเจลล้างมือฆ่าเชื้อ, ใส่ถุงมือขณะแจกเอกสาร, มีจุดมาร์คตำแหน่งยืนขณะชมผลงาน พร้อมตารางทำความสะอาดอุปกรณ์ภายในงานทุก 1 ชม. ทีมงานให้คำแนะนำโครงการโดยใส่หน้ากากอนามัยทุกคน

โดยความร่วมมือของธนาคารไทยพาณิชย์ผู้สนับสนุนหลัก, สามย่านมิตรทาวน์เอื้อเฟื้อสถานที่ และศิลปินกราฟฟิตี้มาม่าบลูส์ ร่วมเป็นหนึ่งพลังการสร้างสรรค์ส่งต่อความตระหนักรู้ให้อีกหลายพลังอนุรักษ์ช้างไทย ให้ได้คงอยู่คู่ประเทศไทยไปอีกนาน ถ้าเราร่วมแรงร่วมใจกัน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image