มหา’ลัย สู้ ‘โควิด’ ซ้อมเทรนด์ใหม่ เรียนออนไลน์

มหา’ลัย สู้ ‘โควิด’ ซ้อมเทรนด์ใหม่ เรียนออนไลน์

ใกล้ตัวเข้ามาทุกที สำหรับสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนหลายแห่งเริ่มปรับตัว ปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ห้ามพนักงานเดินทางไปต่างประเทศ หรือหากใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงก็ขอให้กักตัวอยู่บ้าน 14 วัน งดอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก กินร้อน ช้อนกลาง (ของกู) ล้างมือ ให้สะอาดอย่างเคร่งครัด

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

พร้อมติดตามอาการใกล้ชิด หากมีไข้สูง 37.5 องศา ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หายใจเหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อทันที…

เกิดผลกระทบเป็นโดมิโนตามมา ไม่เว้นแม้แต่สถานศึกษา ไล่ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ที่หลายแห่งประกาศปิดการเรียนการสอนมาเรียนผ่านระบบออนไลน์แทน และจ่อเลื่อนเปิดเทอมออกไป

Advertisement

ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เช่นกัน ประกาศปิด และให้เรียนผ่านระบบออนไลน์แทน เริ่มจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งล่าสุดพบบุคลากรในคณะนิติศาสตร์ติดเชื้อโควิด-19 ได้ประกาศให้บุคลากรปฏิบัติงานโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ทำงาน และให้จัดการเรียนการสอนทุกรายวิชาในรูปแบบออนไลน์แทน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ประกาศงดการเรียนการสอนถึงวันที่ 23 มีนาคม ทั้งศูนย์ท่าพระจันทร์ และศูนย์รังสิต ให้คณะเตรียมสอนออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ประกาศยกเลิกการเรียนการสอนในห้องเรียนภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมเดินหน้าการจัดการเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยให้การเรียนการสอนในห้องเรียนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 มีนาคม จากนั้นให้ทุกคณะ วิทยาลัย วิทยาเขต ดำเนินการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ การประเมินผลให้เหมาะสมกับเนื้อหาของแต่ละรายวิชาตามประกาศ สจล.

ขณะที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) งดการเรียนการสอนและสอบในชั้นเรียนทุกระดับที่ มศว ประสานมิตร องครักษ์ จ.สระแก้ว และ จ.ตาก ระหว่างวันที่ 17-22 มีนาคม และดำเนินการสอนในรูปแบบออนไลน์ หรือรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่มีการเข้าชั้นเรียนตั้งแต่ในวันที่ 23 มีนาคม เป็นต้นไป

เชื่อว่าจะมีอีกหลายแห่งปรับตัวด้วยวิธีการเดียวกัน ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ หลายคนอาจสงสัยว่า เรียนออนไลน์ ทำกันอย่างไร ช่องทางไหนบ้าง และนิสิต นักศึกษา จะได้รับความรู้อย่างเต็มที่เหมือนนั่งเรียนกับอาจารย์ในห้องเรียนหรือไม่

รศ.ดร.แนบบุญ หุนเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านวิชาการ จุฬาฯ อธิบายให้ฟังว่า จุฬาฯ เตรียมพร้อมการเรียนการสอนระบบออนไลน์มานานกว่า 1 ปีแล้ว เพราะมองว่าเป็นทิศทางการเรียนการสอนที่จะตอบโจทย์อนาคต ลดการเรียนเลคเชอร์ในห้องเรียนลง เหลือไว้เฉพาะการเรียนที่ต้องเน้นกิจกรรมแบบ Active Learning

ดังนั้น เมื่อถึงช่วงวิกฤตจึงนำมาปรับใช้ได้ทันที โดยมีให้เลือกหลายแพลตฟอร์ม ทั้งการไลฟ์สดสอนตามตารางสอน นิสิตและอาจารย์มีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้ได้ทันที ขณะเดียวกันอาจารย์ผู้สอนยังสามารถถ่ายคลิปวิดีโอแขวนไว้ช่องทางเฉพาะ ให้นิสิตสามารถเปิดเพื่อศึกษาและทบทวนบทเรียนได้

“ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ย้ำให้อาจารย์ผู้สอนเลือกใช้แพลตฟอร์มที่สะดวก ทั้งผู้เรียนและผู้สอน เพราะบางรายอาจมีข้อจำกัดในเรื่องของอินเตอร์เน็ต ดังนั้น จึงอยากให้เน้นทำวิดีโอการสอนแขวนไว้ในช่องทางสื่อสารที่ตกลงกันไว้ เพื่อให้นิสิตสะดวกในการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น” รศ.ดร.แนบบุญให้ข้อมูลรายละเอียด

ด้าน รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. อธิบายเพิ่มเติมว่า คณะวิศวะเริ่มเรียนออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ข้อดีของ “ห้องเรียนออนไลน์” คือสามารถสอนแบบเรียลไทม์ ผู้สอนสามารถสตรีมมิ่งไฟล์เนื้อหาที่ต้องการ เปิดให้นักศึกษาดูได้ ไม่ต่างกับการเรียนในห้องเรียน ขณะที่นักศึกษาจะสนุกกับการถาม-ตอบ ผ่านระบบออนไลน์ ช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลายแก่นักศึกษา และกล้าซักถามประเด็นที่ยังไม่เข้าใจมากขึ้น

หลังจากสอนเสร็จ นักศึกษาสามารถดูย้อนกี่รอบก็ได้ จากวิดีโอที่ได้รับการบันทึกไว้บนหน้าไทม์ไลน์อัตโนมัติ นอกจากนี้ยังสามารถส่งไฟล์ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนในระบบห้องเรียนออนไลน์ได้ด้วย

“นอกจากนี้ ทางคณะยังได้ประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นๆ มาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์จำนวนมาก อาทิ เฟซบุ๊ก กรุ๊ป (Facebook Group) เฟซบุ๊ก ไลฟ์ (Facebook Live) แฮงก์เอาต์ (Hangouts) และ Zoom Microsoft Teams” รศ.ดร.ธีรเผยถึงรายละเอียดของห้องเรียนออนไลน์

ขณะที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล.เสริมว่า โมเดลคลาสเรียนออนไลน์จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกัน สจล.ยังตั้งทีมไอทีให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกให้อาจารย์ผู้สอนจัดคลาสเรียนออนไลน์ โดยสามารถเลือกประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มการสอนที่เหมาะสม อาทิ Facebook Broadcast, Microsoft Teams, Google Classroom หรือ Moodle

อีกทั้ง สจล.ยังตั้งเป้าให้ทุกชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยนำโมเดลคลาสเรียนออนไลน์ไปประยุกต์ใช้ในภาวะการระบาดของเชื้อโควิด-19 ตลอดจนการประยุกต์ใช้ในระยะยาว ตามแนวคิดของ สจล.ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์การเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน ที่สามารถเรียนได้ทุกที่อย่างไร้ขีดจำกัด

“หลักการของคลาสเรียนออนไลน์คือองค์ความรู้ในการเรียนการสอนต้องครบถ้วนเหมือนการเรียนในชั้นเรียน แต่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการพบปะกัน เพราะอาจเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โดยมีหลายแพลตฟอร์ม ทั้งการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook broadcast) ผ่านกลุ่มปิด (Closed group) ที่ตั้งขึ้นตามรายวิชา เพื่อให้นักศึกษากลับมาดูบันทึกวิดีโอย้อนหลังและทบทวนบทเรียนได้” ศ.ดร.สุชัชวีร์แจกแจง

ถือเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทดสอบระบบเรียนออนไลน์ เทรนด์การศึกษายุคใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามาในอีกไม่นาน แต่ที่สำคัญกว่าเรื่องใดคือ ป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่ให้แพร่กระจายไปมากกว่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image