รพ.ธรรมศาสตร์ ยกระดับ ‘ห้องแล็บตรวจเลือด’ อัตโนมัติทั้งระบบ ได้ผลเลือดเร็วขึ้น 50%

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

รพ.ธรรมศาสตร์ ยกระดับ ‘ห้องแล็บตรวจเลือด’ อัตโนมัติทั้งระบบ ได้ผลเลือดเร็วขึ้น 50%

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 19 มีนาคม ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ ดร.ทนพ.พลากร พุทธรักษ์ หัวหน้างานห้องปฏิบัติเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดนวัตกรรม ในโครงการ “SMART One Touch Solution – Beyond the Future” ยกระดับการให้บริการทางห้องปฏิบัติการแบบครบวงจร ด้วยนวัตกรรมใหม่ล่าสุด “One Touch Solution” ช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการ ลดความผิดพลาด และสร้างมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เตรียมความพร้อมเข้าสู่เฟส 3 และการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19

โครงการ SMART One Touch Solution – Beyond the Future จัดตั้งขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีแห่งยุคดิจิตอล เข้ามาช่วยบริหารจัดการด้านการบริการผู้ป่วยแบบครบวงจร ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันประกอบไปด้วย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

1. ระบบลงทะเบียนอัจฉริยะรับคิวเจาะเลือด ผ่าน Mobile Application “LAB TUH” หรือผ่านตู้จัดคิวอัตโนมัติ (KIOSK) โดยใช้เวลาไม่ถึง 40 วินาที ช่วยลดความแออัดบริเวณหน้าห้องเจาะเลือดได้มากกว่าร้อยละ 50 ลดโอกาสเสี่ยงที่คนไข้มีการแพร่กระจายเชื้ออันตรายระหว่างกัน เช่น COVID-19 เป็นต้น

Advertisement

2. ระบบเตรียมหลอดเลือดอัตโนมัติ มีการนำเทคโนโลยีเครื่องติดฉลากบนหลอดเลือดอัตโนมัติ (ROBO8000) มาใช้ในการเตรียมหลอดเลือด ตัดขั้นตอนการเตรียมโดยเจ้าหน้าที่

3. ระบบตรวจสอบความถูกต้องของผู้ป่วยก่อนการเจาะเลือด

4. ระบบการขนส่งหลอดเลือดเข้าสู่ห้องปฏิบัติการ โดยปราศจากการสัมผัสหลอดเลือด โดยนำหลอดเลือดใส่บริเวณระบบสายพานขนส่ง (Conveyer) ที่โต๊ะเจาะเลือด ลำเลียงหลอดเลือดเข้าสู่เครื่องนำส่งหลอดเลือดอัตโนมัติ (ATT : Auto Tube Transfer) ส่งเข้าสู่ระบบท่อนำส่งอัตโนมัติ (Tempus600) ช่วยลดขั้นตอนและลดความเสี่ยงจากการที่เจ้าหน้าที่ต้องสัมผัสกับหลอดเลือด

Advertisement

5. ระบบการตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ เมื่อหลอดเลือดถูกนำส่งเข้าสู่ห้องปฏิบัติการ จะลงมาสู่เครื่องคัดแยกอัตโนมัติ (ASP LoadPro) เข้าสู่ระบบรางตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ (Laboratory Automation System) โดยระบบจะทำการปั่นแยกเลือดด้วยเครื่องปั่นความเร็วสูง และเปิดจุกหลอดเลือด ก่อนนำส่งผ่านระบบรางเข้าสู่เครื่องตรวจวิเคราะห์โดยตรง และจัดเก็บหลอดเลือดหลังการตรวจวิเคราะห์เรียบร้อย เป็นการลดขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ลดโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสสิ่งส่งตรวจ

6. ระบบการรายงานผลอัจริยะ ระบบมีซอฟแวร์ที่ใช้ในการรายงานผลสำหรับห้องปฏิบัติการโดยเฉพาะ (Laboratory Information System : LIS Agile) ซึ่งมีการนำผลการตรวจวิเคราะห์มาประมวลผล และแสดงให้นักเทคนิคการแพทย์ทำการตรวจสอบอีกครั้ง ก่อนส่งผลการตรวจวิเคราะห์เข้าสู่ระบบของโรงพยาบาลไปยังแพทย์ผู้รักษาต่อไป

ด้าน รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ การเปิดห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ ถือว่าเป็นแห่งแรกในประเทศไทยในเรื่องของ Total solution (ระบบการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการทางการแพทย์แบบครบวงจร ซึ่งประกอบไปด้วย ระบบลงทะเบียนของผู้ป่วย ระบบห้องเจาะเลือด ระบบขนส่งสิ่งส่งตรงเข้าสู่ห้องปฏิบัติการ ระบบตรวจวิเคราะห์ภายในห้องปฏิบัติการ และระบบการรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ไปยังแพทย์) ที่เป็นออโตเมติกทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนเจาะเลือดเสร็จจนไปถึงการตรวจวิเคราะห์และออกผลตรวจ

เกิดความพอใจกับผู้รับบริการในการเจาะเลือดเพิ่มขึ้น และระยะเวลาการได้ผลแล็บลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้ป่วยได้รับผลเร็ว และดูแลรักษาเร็ว สามารถกลับบ้านได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังลดการสัมผัสกับสิ่งส่งตรวจ ได้แก่ ผู้เจาะเอง ผู้ขนส่งสิ่งส่งตรวจจะลดออกไปได้ทั้งหมด ทำให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการลดสัมผัสกับผู้ป่วยในทุกกรณีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท พี ซี แอล โฮลดิ้ง จำกัด ในการดำเนินการโทเทิลแล็บ (Total Lab)ในครั้งนี้ได้สำเร็จ ทั้งนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ติดตั้งระบบขนส่งหลอดเลือดและตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ โดยสัมผัสหลอดเลือดเพียงจุดเดียว “One touch solution” ซึ่งได้รับความพึงพอใจจากผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการเป็นอย่างมาก จากระยะเวลารอคอยการเจาะเลือดที่สั้นลง ขั้นตอนในการเข้ามารับบริการที่ง่ายขึ้น และความแออัดในห้องเจาะเลือดที่ลดลง

นับเป็นโรงพยาบาลต้นแบบของ “Digital Hospital” ที่นำเทคโนโลยีการขนส่งหลอดเลือดอัตโนมัติ มาประยุกต์ใช้ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยที่มารับบริการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการตรวจวิเคราะห์ให้ปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย ทำให้สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image