ดอยคำ เพิ่มรายได้เกษตรกร เสิร์ฟ ‘สตรอเบอรี่ พรีเมียม’ ไม่เป็นรอง ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี’

ดอยคำ เพิ่มรายได้เกษตรกร เสิร์ฟ ‘สตรอเบอรี่ พรีเมียม’ ไม่เป็นรอง ‘ญี่ปุ่น-เกาหลี’

ก่อตั้งตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้ช่วยเหลือราษฎรบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือของไทย ในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม รับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม พัฒนาคุณภาพและแปรรูปผลผลิต ภายใต้การดำเนินงานของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จังหวัดเชียงใหม่

ภายหลังพัฒนาขึ้นเป็นแบรนด์ “ดอยคำ” และสานต่อแนวพระราชดำริ ตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน) จังหวัดเชียงราย และโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จังหวัดสกลนคร ที่ผ่านมาไม่เพียงทำให้ราษฎรบนพื้นที่สูงลืมตาอ้าปากได้ ยังทำให้คนไทยทั่วประเทศได้ดื่มกินผลไม้อบแห้ง แยมผลไม้ น้ำผลไม้บรรจุกล่อง มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ในราคาที่เป็นมิตร

ล่าสุดดอยคำยังได้พัฒนาและส่งเสริมการปลูกผลไม้สด “สตรอเบอรี่ พรีเมียม” ที่คุณภาพไม่เป็นรอง “ญี่ปุ่น” และ “เกาหลี” เลย

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เล่าว่า ที่ผ่านมา ดอยคำส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 แล้วส่งมาให้เราแปรรูป เวลาผ่านมาเห็นว่าเกษตรกรได้พัฒนาผลผลิตจนทำให้มีผลสตรอเบอรี่ที่มีคุณภาพ ทั้งขนาดและรสชาติ จึงเห็นช่องทางที่จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร คือการจำหน่ายสตรอเบอรี่สด ที่เรียกว่า “สตรอเบอรี่ พรีเมียม” บรรจุลงกล่องขายช่วงต้นฤดูในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของทุกปี

Advertisement

“สตรอเบอรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงเกินความเป็นจริง ในขณะที่คุณภาพไม่แตกต่างกับของที่เราผลิตได้เองในประเทศ ทั้งรสชาติ กลิ่นและสี รวมถึงขนาดของผล มีความพรีเมียม เพราะเราเก็บที่ความสุก 90 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนเป็นช่วงที่รสชาติ กลิ่น สี ดีที่สุด เป็นช่วงเวลาคุณภาพที่ต้องรับประทานให้หมดภายใน 3 วัน” นายพิพัฒพงศ์กล่าว

ในฤดูเก็บเกี่ยวผลสตรอเบอรี่นี้ ดอยคำคัดพิเศษทยอยวางขายใน 4 เกรดคือ 1.ไซซ์ AA ขนาด 16 ผล (น้ำหนัก 480 กรัม) กล่องละ 550 บาท 2.ไซซ์ A ขนาด 20 ผล (น้ำหนัก 450 กรัม) กล่องละ 370 บาท 3.ไซซ์ B ขนาด 24 ผล (น้ำหนัก 380 กรัม) กล่องละ 270 บาท และ 4.ขนาดมาตรฐานดอยคำ (น้ำหนัก 250 กรัม) กล่องละ 120 บาท ทั้งนี้ ด้วยเป็นผลไม้สดพรีเมียมที่จัดส่งเฉพาะร้านดอยคำบางสาขา ผู้สนใจสามารถเช็กเพื่อซื้อสตรอเบอรี่ พรีเมียม ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/DoikhamFP

สตรอเบอรี่ พรีเมียม
สตรอเบอรี่ พรีเมียม
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา

ถือเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรที่ ธนกฤต จันทรสมบัติ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาเกษตร โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ การันตีว่า “ปลูกน้อย แต่ได้มาก”

ธนกฤตเล่าว่า การปลูกสตรอเบอรี่ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่นำไปแปรรูปขายได้เพียงกิโลกรัมละ 45 บาท แต่หากนำมาขายแบบพรีเมียมที่มีเงื่อนไข อาทิ ขนาดใหญ่ ผิวไม่มีตำหนิ ไม่มีสารเคมีตกค้าง จะได้กิโลกรัมละตั้งแต่ 300 400 และ 500 บาท (ราคารับซื้อสตรอเบอรี่ พรีเมียม แบ่งตามเกรด) ซึ่งมีเพียงร้อยละ 3-5 ต่อการนำมาขายรอบหนึ่งเท่านั้น ที่เหลือถูกนำไปแปรรูป เช่น ทำแยม น้ำผลไม้บรรจุกล่องยูเอชที และอบแห้ง

ด้วยความนิยมอย่างสูงของผู้บริโภค จึงมีความพยายามในการเพิ่มปริมาณผลสตรอเบอรี่ พรีเมียม และต้องให้ออกผลผลิตนอกฤดูกาล หนึ่งในแนวทางที่จะทำได้คือ การปลูกแบบโรงเรือน ที่สามารถคุมสภาพอากาศ ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น การให้น้ำ ให้ปุ๋ยอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถคุมโรคและแมลงที่เป็นศัตรูพืชได้ ทำให้ได้ผลสตรอเบอรี่มีคุณภาพ เพิ่มสัดส่วนการได้สตรอเบอรี่ พรีเมียมมากขึ้น

ศิรินภา ไชยพล ผู้จัดการแผนกนวัตกรรมเกษตร (Lab) โรงงานหลวงอาหารสําเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) จ.เชียงใหม่ เล่าว่า เป็นความร่วมมือที่ดอยคำได้รับการสนับสนุนจัดสร้างโรงเรือนจากภาครัฐและเอกชน อาทิ จังหวัดเชียงใหม่, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการสนับสนุนทางวิชาการ อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ปัจจุบันมีโรงเรือนที่ปลูกสร้างแล้ว 14 โรง จากต้องสร้างทั้งหมด 40 โรง เปิดใช้งานแล้ว 9 โรง แบ่งเป็นโรงเรือนที่ดอยคำเอาไว้วิจัยทดลองปลูก 3 โรง และให้เกษตรกรมาทดลองปลูก 6 โรง โดยแต่ละโรงเรือนสามารถปลูกสตรอเบอรี่ได้ 2,200 ต้น ทั้งนี้ เราเพิ่งเริ่มปลูกในฤดูกาลนี้ ค้นพบเบื้องต้นว่าการปลูกสตรอเบอรี่แบบโรงเรือนได้รสชาติที่หวานกว่าการปลูกแบบลงแปลง

“นี่จะเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกที่คนไทยจะได้กินสตรอเบอรี่คุณภาพนอกฤดูกาลในอนาคต หรือมีให้กินตลอดทั้งปี ซึ่งดอยคำจะศึกษาและสรุปต่อไปว่าการลงทุนปลูกแบบโรงเรือนนี้คุ้มค่าแก่การลงทุนหรือไม่ เพื่อขยายผลไปยังเกษตรกรต่อไป” ศิรินภากล่าว

ถือเป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มรายได้ให้ตัวเองและครอบครัว อย่าง นาลอ กรองแก้วพนา เจ้าของไร่สตรอเบอรี่ ในตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่วันนี้ลืมตาอ้าปากได้อย่างภาคภูมิ ทั้งยังเปิดแปลงสตรอเบอรี่ให้คนได้เข้ามาศึกษาดูงาน

นาลอเล่าว่า แต่ก่อนทำสวนลิ้นจี่อย่างเดียวมาตลอด แต่ราคาผลผลิตตกต่ำ ยิ่งช่วงหลังต้นพันธุ์ออกผลผลิตลดลงด้วย ยิ่งทำให้รายได้ไม่พอ ต้องเข้าเมืองไปหางานรับจ้างทำ แต่หลังจากได้มาเรียนรู้การปลูกสตรอเบอรี่กับดอยคำ เขาสอนทุกอย่าง เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา ในการปลูก 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีรายได้มากขึ้น จากปีแรกได้ 3 หมื่นบาท ปีล่าสุดได้ 8 หมื่นบาท ออกผลให้เก็บเกี่ยวสลับกับลิ้นจี่ ก็ยิ่งทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี

นาลอก็เป็นหนึ่งในเกษตรกรส่งผลสตรอเบอรี่ พรีเมียมขายที่ดอยคำ เธอยืนยันว่าสตรอเบอรี่ของเธอ “ปลอดภัยแน่นอน เพราะไม่ใช้สารเคมีในการปลูก” ตามข้อกำชับดอยคำที่มีมาตรการสุ่มตรวจเข้มข้น เช่นเดียวกับ มนูญ ภูแสนธนา เจ้าของไร่สตรอเบอรีข้างกัน เกษตรกรดีกรีปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ จากสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ ลาชีวิตเมืองขอกลับมาพัฒนาและทำงานที่บ้านเกิด วันนี้เริ่มยิ้มออก

ครอบครัวของ นาลอ กรองแก้วพนา
ครอบครัวของ นาลอ กรองแก้วพนา
นาลอ กรองแก้วพนา
นาลอ กรองแก้วพนา
มนูญ ภูแสนธนา
มนูญ ภูแสนธนา
ธนกฤต จันทรสมบัติ
ธนกฤต จันทรสมบัติ

มนูญเล่าว่า ตอนแรกที่ทราบว่าดอยคำจะเข้ามาส่งเสริมการเพาะปลูกสตรอเบอรี่ ผมและเพื่อนๆ ดีใจมาก เพราะไม่เคยมีใครเข้ามาให้การส่งเสริม หรือสนใจพวกเรา เพราะพวกผมเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา แต่พวกผมก็ความตั้งใจเมื่อทำอะไร อย่างที่ทำกับดอยคำก็ตั้งใจและอยากให้เป็นความยั่งยืน บางครั้งผลผลิตอาจน้อยลง ไม่ได้มาตรฐานดอยคำ เพราะสภาพดินฟ้าอากาศ แต่เราก็จะไม่ย่อท้อ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรหมั่นคอยดูแลพวกเราตลอด ถามสารทุกข์สุกดิบ ไม่เคยเอาเปรียบเกษตรกรเลย จากวันแรกที่กลุ่มผมมีกัน 9 คน วันนี้บ้านหนองเต่า เรามีเกษตรกรผู้เพาะปลูกหลายสิบคนแล้ว เราต่างภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มาก อย่างผมที่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ผมมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้วครับ

“พวกเรารับทราบและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงเมตตาและห่วงใยราษฎรบนพื้นที่สูง จนเป็นที่มาของการมีโรงงานหลวงและดอยคำ และมีการสืบสาน รักษา ต่อยอด เหล่านี้ได้ให้โอกาสกับพวกเราจริงๆ ทำให้พวกเรามีความหวัง เมื่อลงมือทำก็มีรายได้ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจริงๆ ณ บ้านเกิด ก็ไม่รู้ว่าจะหาคำอะไรมาอธิบาย นอกจากคำว่า “ทรงพระเจริญ” มนูญกล่าวด้วยสายตาเปล่งประกายพร้อมพนมมือทั้ง 2 ข้าง

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

โรงเรือน
โรงเรือน

ศิรินภา ไชยผล
ศิรินภา ไชยผล

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image