ศาลทั่วประเทศรับมือแพร่โควิด-19 ให้ผู้พิพากษากลุ่มเสี่ยงเเยกตัว 14 วันไม่ถือเป็นวันลา

“สราวุธ”ประชุมผ่านระบบตรีมมิ่งศาลทั่วประเทศรับมือแพร่ระบาดโควิด-19 ตามคำแนะนำประธานศาลฎีกา ให้ผู้พิพากษากลุ่มเสี่ยงเเยกตัว 14 วันไม่ถือเป็นวันลากำชับมาตรการเข้มศาลทั่วประเทศ พร้อมเป็นห่วงศาลภาคเหนือ ประสบควันพิษอนุมัติ 6 ล้านซื้อเครื่องฟอกอากาศ

เมื่อเวลา 08.30 น. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ประชุมหารือร่วมกับผู้อำนวยการศาลทั่วประเทศ จำนวน 284 หน่วยงาน ผ่านระบบ Streaming เพื่อแจ้งแนวทางการบริหารราชการ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ ซึ่งนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้แสดงความห่วงใยมายังบุคลากรของศาลยุติธรรมทุกคน และได้ให้คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสดังนี้

1.เมื่อข้าราชการตุลาการผู้ใดเดินทางไปยัง หรือแวะผ่านหรือเปลี่ยนเครื่อง หรือมีบุคคลที่พักอาศัยในที่พักเดียวกันเดินทางไปยังเขตการปกครองที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19และกลับมาถึงประเทศไทยให้ข้าราชการตุลาการผู้นั้น มีหน้าที่แจ้งผู้มีอำนาจอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศทราบ ในวาระแรกสามารถกระทำได้นับตั้งแต่วันที่ข้าราชการตุลาการผู้นั้น หรือบุคคลที่ข้าราชการตุลาการผู้นั้นพักอาศัยในที่พักเดียวกันเดินทางกลับถึงประเทศไทย และให้ข้าราชการตุลาการผู้นั้นแยกตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ โดยไม่ถือเป็นวันลา แต่ยังคงปฏิบัติราชการตามแนวทางที่ผู้รับผิดชอบราชการศาลกำหนด และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

2.ในกรณีที่ข้าราชการตุลาการผู้ใด ไม่ได้เดินทางไปประเทศหรือเขตปกครองที่เสี่ยงต่อการติดโรคระบาด แต่ผู้นั้นมีอาการที่เสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ข้าราชการตุลาการผู้นั้นดำเนินการตามและปฏิบัติตามข้อ 1 แยกตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ

Advertisement

3.หากแยกตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการของข้าราชการตุลาการ ตามข้อ 1 และ 2 จนข้าราชการตุลาการผู้นั้นไม่อาจเดินทางมาศาลได้ ให้ผู้รับผิดชอบราชการศาลจัดให้ข้าราชการตุลาการอื่น เข้าปฏิบัติหน้าที่แทนตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม อย่าให้เป็นที่เดือดร้อนแก่คู่ความและประชาชนผู้มีอรรถคดี

ในกรณีการนั่งพิจารณาคดี
1.ในระหว่างการพิจารณาคดีของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม สามารถสวมใส่หน้ากากอนามัยได้
2.ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม พึงอนุญาตให้ข้าราชการธุรการ คู่ความ ทนายความ ตลอดจนประชาชน ที่อยู่ร่วมห้องพิจารณาคดีเดียวกัน สวมใส่หน้ากากอนามัยได้ระหว่างพิจารณาคดี เว้นแต่มีเหตุความจำเป็น เช่นการรักษาความปลอดภัย การยืนยันตัวบุคคลในระหว่างสืบพยานเป็นต้น

3.ในระหว่างการควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยภายในบริเวณศาล อนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย สวมหน้ากากอนามัยได้เว้นแต่มีเหตุจำเป็น เช่นการรักษาความปลอดภัย การยืนยันตัวบุคคลหรือบันทึกภาพ เป็นต้น

4.ในกรณีจำเป็นเมื่อได้รับความยินยอมจากคู่ความแล้ว ศาลอาจจัดให้มีการดำเนินกระบวนการพิจารณาผ่านระบบเทคโนโลยี โดยแยกคู่ความบางฝ่าย หรือพยานบุคคลให้อยู่ในพื้นที่อื่นภายในศาล

5.ให้ผู้รับผิดชอบราชการศาล กำกับดูแลปฏิบัติ ในเรื่องนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงการป้องกันรักษาสุขภาพอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

ในกรณีการใช้แนวทางลดการเดินทางมาศาลและติดต่อราชการของประชาชน
1.ศาลพึงซึ่งส่งเสริมให้คู่ความและประชาชน ใช้แนวทางการยื่นส่งและรับคำฟ้อง คำให้การ คำคู่ความและเอกสารทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ e- filing ตามแนวทางที่กำหนดไว้
2.ในการสืบพยานและการพิจารณาคดี ศาลอาจพิจารณาคดีใช้แนวทางในการนำสืบพยานหลักฐานและการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบการประชุมทางจอภาพ
3.ศาลอาจใช้ดุลพินิจในการสืบพยานที่อยู่นอกศาลในลักษณะประชุมจอภาพ โดยถือว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเหตุจำเป็น
4.ให้ผู้รับผิดชอบราชการศาลพิจารณากำหนดมาตรการ ในการคัดกรองและป้องกันความเสี่ยง
จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในศาล ให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงมาตรการการควบคุมโรค
เช่น กำหนดทางเข้าออกของบุคคลเพื่อตรวจคัดกรอง ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หรือการเว้นระยะห่างของบุคคลเป็นต้น
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่หน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมทุกหน่วยงานๆ ละ 25,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อเชื้อไวรัส โควิด-19 ตามความเหมาะสมและจำเป็นของแต่ละหน่วยงาน และเน้นย้ำให้ผู้อำนวยการทุกหน่วยงานรายงานสถานการณ์โควิด 19 ผ่าน LINE COJ ALERTS เพื่อให้สำนักงานศาลยุติธรรมมีข้อมูลที่รวดเร็วถูกต้องและบริหารจัดการกับข่าวสารที่คลาดเคลื่อน ลดการตื่นตระหนกต่อข่าวสารที่ไม่เป็นความจริงได้ นอกจากนี้ขอให้ศาลนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อลดความแออัดของจำนวนคนที่มาติดต่อราชการซึ่งจะเป็นการลดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดต่อได้เป็นอย่างมาก

นอกจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมยังห่วงใยสุขภาพของบุคลากรของศาลยุติธรรมในพื้นที่ภาค 5 ที่ประสบปัญหาฝุ่นควันที่เกินค่ามาตรฐาน โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้จัดสรรงบประมาณ 6,000,000 บาท ให้แก่ศาลในภาค 5 เพื่อจัดซื้อเครื่องฟอกอากาศภายในบริเวณที่ศาลที่ประสบปัญหาดังกล่าว และขอให้ระมัดระวังการเกิดอัคคีภัยในบริเวณที่ทำการศาลที่อยู่ใกล้กับแนวไฟป่า อย่างไรก็ดี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ขอให้ทุกคนช่วยกันร่วมคิดร่วมทำ และสำนักงานศาลยุติธรรมพร้อมที่จะสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรของศาลมีความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดี (health and safety first) สามารถฝ่าวิกฤตในสถานการณ์ครั้งนี้ไปได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงบประมาณในการจัดสรรให้กับศาลต่างๆ ทั่วประเทศเบื้องต้นเพื่อจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 นั้น ก่อนหน้านี้ช่วงต้นเดือน มี.ค.สํานักงานศาลยุติธรรมได้จัดสรรให้แต่ละศาลทั่วประเทศและแห่ง 10,000 บาท โดยขณะนี้ได้เพิ่มเป็นเเห่งละ 25,000 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image