เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 26 มี.ค. นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจซึ่งจะครอบคุลมประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งในและนอกระบบ ก่อนที่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลจะแถลง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า ระยะที่ 2 ในเวลาต่อมา
หนึ่งในมาตรการที่เป็นที่สนใจอย่างมาก คือ มาตรการชดเชยรายได้ ด้วยการมอบเงินเยียวยาจำนวน 5 พันบาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจะชดเชยให้แก่ แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการของสถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเช่น สนามมวย สนามกีฬา ผับ สถานบันเทิง โรงมหรสพ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส และสถานบริการอื่น ๆ
การสนับสนุนเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน เมษายน – มิถุนายน 2563 จะดำเนินการผ่านการลงทะเบียนแสดงความจำนง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ และรับโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้รับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการ
ทั้งนี้ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่า ประชาชนจะสามารถเริ่มลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์และช่องทางออนไลน์อื่นๆ ได้ภายในสัปดาห์นี้
หลักเกณฑ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ต่อเดือน
– ลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2563
– ข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ ได้แก่ หมายเลขบัตรประชาชน ข้อมูลบริษัทนายจ้าง ข้อมูลปัญหาความเดือดร้อน และ ข้อมูลบัญชีพร้อมเพย์หรือบัญชีธนาคาร
– สามารถรับเงินจำนวน 5,000 บาท 5 วันหลังจากลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์
การจ่ายเงินจะโอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ โอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์
– ธนาคารของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)