นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เดือนมกราคม 2563 การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) มีมูลค่ารวม 5,048.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ 59.91% โดยเทียบปีก่อนลดลง 12.59 % โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 4,596.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 451.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA ในเดือนมกราคม 2563 จำนวน 12 ฉบับ ไม่รวมไทย-นิวซีแลนด์ ที่ใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก (Self-declaration) มีมูลค่า 4,596.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 13.64 % และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 59.17% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 1,720.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ยานยนต์เพื่อขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส อื่นๆ เครื่องปรับอากาศที่ใช้ติดหน้าต่าง ผนัง เพดาน หรือพื้น 2) จีน (มูลค่า 1,048.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด ผลไม้อื่นๆ เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด 3) ญี่ปุ่น (มูลค่า 652.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ไก่ชนิดแกลลัสโดเมสติกัส เนื้อและส่วนอื่นที่บริโภคได้ของสัตว์ปีกแบบแช่แข็ง โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต 4) ออสเตรเลีย (มูลค่า 531.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ยานยนต์สำหรับขนส่งของแบบลูกสูบที่จุดระเบิดโดยการอัด รถบรรทุกขนส่งขนาดไม่เกิน 5 ตัน รถยนต์ส่วนบุคคลความจุกระบอกสูบ 1,000-1,500 ลบ.ซม. และ 5) อินเดีย (มูลค่า 347.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ลวดทองแดงอื่น แทรกเตอร์ เครื่องปรับอากาศ สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-เปรู (100 %) 2) ไทย-ชิลี (100 %) 3) ไทย-ญี่ปุ่น (98.76 %) 4) อาเซียน-เกาหลี (80.43 %) และ 5) ไทย-ออสเตรเลีย (71.97 %) ส่วนรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์เพื่อขนส่งของน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้อื่นๆ เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส เครื่องปรับอากาศที่ใช้ติดหน้าต่าง ผนัง เพดาน หรือพื้น
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ในเดือนมกราคม 2563 ไทยได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP ในเดือนแรกของปี 2563 เท่ากับ 451.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 0.37 % และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 68.64 % ตลาดที่ไทยส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา โดยมูลค่าการใช้สิทธิฯ เท่ากับ 418.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 0.71 % และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 70.35 % อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เท่ากับ 19.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 20.05 % และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 39.98 % อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เท่ากับ 12.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 0.19 %และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 94.57 % และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ เท่ากับ 1.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 14.77 % และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 77.38 % สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ถุงมือยาง เครื่องดื่มอื่นๆ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องยนต์จักรยานยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบเกิน 800 ลบ.ซม. หม้อแปลงไฟฟ้าอื่นๆ
ในเดือนแรกของปี 2563 สถานการณ์การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ยังคงถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อันเป็นผลจากปัจจัยด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในปี 2562 ประกอบกับการระบาดใหญ่ (Pandemic) ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และทวีความรุนแรงขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงการท่องเที่ยว ในวงกว้าง และกระทบต่อการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพื่อการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรมฯ ตระหนักถึงปัญหาสำคัญดังกล่าว ในฐานะหน่วยงานหนึ่งในการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ กรมฯ จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกไปประเทศอาเซียนขอออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ประกอบการดำเนินพิธีการทางศุลกากรเพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีลดหย่อน/ยกเว้นภาษีนำเข้า ณ ประเทศอาเซียนปลายทาง ซึ่งสามารถลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการ อีกทั้งยังมีความสะดวกและรวดเร็วกว่าการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบ Form D ที่เป็นกระดาษ ทั้งนี้ สำหรับการเชื่อมโยงระบบ e-Form D กับประเทศสมาชิกอาเซียน โดยไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 ได้ผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลือ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา เมียนมา ลาว รวมถึงฟิลิปปินส์เข้าร่วมเชื่อมโยงข้อมูล e-Form D ผ่านระบบ ASEAN Single Window ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถใช้ e-Form D ในการขอลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีนำเข้าระหว่างกันได้ครบ 10 ประเทศ
ปัจจุบัน ความตกลงทางการค้าเสรีอาเซียนถือเป็นความตกลงที่มีมูลค่าการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ฯ มากที่สุด เมื่อเทียบกับทุกกรอบ โดยในปี 2562 การส่งออกภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรีอาเซียนมีมูลค่า 24,553.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีปริมาณการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ามากที่สุด หรือประมาณ 340,000 ฉบับ มีสินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส น้ำตาลจากอ้อย รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคลความจุกระบอกสูบ 1,500-2,500 ลบ.ซม. เป็นต้น