นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการเยียวยากลุ่มแรงงานนอกระบบคนละ 5 พันบาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน ยืนยันว่าตัวเลข 3 ล้านคนนั้นน่าจะครอบคลุมกลุ่มตกงาน ทั้งนี้แรงงานในไทยมีทั้งหมด 36 ล้านคน และอยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 16 ล้านคน ที่เหลือประมาณ 20 ล้านคน เป็นแรงงานอิสระ อย่างไรก็ตามเท่าที่ไปดูข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง พบว่ามีลูกจ้างนอกระบบเดือดร้อนจากการถูกปิดกิจการประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งยืนยันว่ากระบวนการตรวจสอบหลังการลงทะเบียนของกระทรวงการคลังสามารถทำได้ และใช้หลายวิธีในการตรวจสอบ
ทั้งนี้ผู้ลงทะเบียนนอกจากให้ผู้ลงทะเบียนเตรียมหลักฐานส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลนายจ้างแล้ว หากกระทรวงการคลังยังไม่มั่นใจอาจจะขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเป็นการยืนยันว่าเป็นผู้เดือดร้อนจริงๆ เช่น หลักฐานการเป็นลูกจ้าง หลักฐานการปิดกิจการ เช่น ประกาศของภาครัฐ การลงทะเบียน ที่เริ่มวันที่ 28 มี.ค.2563 เวลา 08.00 น. ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหากเข้าเงื่อนไข โดยผู้ลงทะเบียน หากให้รัฐบาลจ่ายเงินพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชน หากตรวจสอบแล้วผ่านทุกเงื่อนไข ก็จะได้รับเงินภายใน 5 วันทำการ แต่หากให้ให้โอนเงินเข้าบัญชีจะได้รับเงินภายใน 7 วันทำการ
เมื่อถามว่าลูกจ้างร้านหมูปิ้ง ไม่ได้มีการจดทะเบียนบริษัท สามารถที่จะขอรับเงินเยียวยาได้หรือไม่ นายลวรณ กล่าวว่า สามารถขอรับได้ หากมีหลักฐานว่าถูกปิดกิจการ และต้องมีหลักฐานที่ระบุว่าเป็นลูกจ้างร้านหมูปิ้ง เช่น รูปถ่ายที่เคยถ่ายในร้านหมูปิ้ง หรือมีหลักฐานอื่นๆ ที่ระบุว่าเป็นลูกจ้างร้านดังกล่าว
“ลูกจ้างนอกระบบกว่า 20 ล้านคน หักกลุ่มเกษตรกรออกไปประมาณ 4-5 ล้านคน จะมีแนวทางช่วยเหลือในรอบถัดไป และหักนักศึกษาอายุ 18-21 ปี อีกหลายล้านคน ดังนั้นคิดว่าลูกจ้างนอกระบบมีอายุ 18-60 ปีที่เหลือยู่และเดือดร้อนจริงๆ น่าจะมีจำนวนไม่เกิน 3 ล้านคน อย่างไรก็ตามหากมาลงทะเบียนมากกว่านี้ กระทรวงการคลังพร้อมดูแลให้ และเตรียมงบประมาณไว้เบื้องต้น 4.5 หมื่นล้านบาท”นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวว่า การจ่ายเงินให้กลุ่มอาชีพอิสระอาจน้อยกว่าลูกจ้างประกันสังคมรับสูงสุด 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน แต่เอาไปเทียบกันไม่ได้ เนื่องจากระบบประกันสังคมนั้นลูกจ้างต้องจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคม แต่กลุ่มอาชีพอิสระนั้นไม่ได้มีการจ่ายเงินสบทบ ซึ่งเท่าที่ดูการช่วยเหลือในระดับดังกล่าวเหมาะสมแล้ว หากเงินที่รัฐช่วย 15,000 บาทใน 3 เดือนไม่เพียงพอสามารถไปกู้เงินโครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำรงชีวิต จากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านสามารถกู้เงินรายไม่เกิน 10,000 บาท ดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.10% ต่อเดือน หรือเดือนละ 10 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ผ่อนชำระเพียงเดือนละกว่า 400 บาท เท่านั้น ทั้งนี้หากยังไม่พออีก สามารถไปกู้เงิน กับธนาคารออมสิน วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี รับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563