‘ปอท.’เสนอยาแรง จัดการเฟกนิวส์โควิด-19 ปราบอวตาร-ดำเนินคดีคนผิดได้ทุกกรณี

‘ปอท.’ เสนอยาแรง ในที่ประชุม ศบค. จัดการ เฟกนิวส์เกี่ยวกับโควิด-19 จัดการโซเชียลบัญชีอวตาร ดำเนินคดีผู้นำเข้าข้อมูลเท็จกรณีโควิด19ได้ทุกกรณี โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ว่าสร้างความปั่นป่วนหรือไม่ และให้ผู้ให้บริการร่วมมือจนท.เคร่งครัด 

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานศูนย์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ที่เป็นการประชุมวาระแรก ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการที่ทำหน้าที่รับผิดชอบงานแต่ละด้าน นำเสนอและชี้แจงรายละเอียดในที่ประชุม อาทิ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสาธารณสุขในทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศถึงปัญหาและแนวทางในการจัดการแก้ไข ปลัดกระทรวงมหาดไทย รายงานด้านการสั่งการ ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงกรมควบคุมโรค ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รายงานด้านความมั่นคงโดยเสนอทางเลือกในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องต่อสถานการณ์นี้ ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม สื่อสังคมออนไลน์ นำเสนอโดยปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เสนอต่อที่ประชุมในประเด็นข้อกฎหมายเพิ่มเติม คือ 1. เพิ่มการดำเนินคดีกับผู้ใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม (บัญชีอวตาร) โดยใช้ข้อมูล (รูป/ชื่อ ฯลฯ) ของผู้อื่นมาใช้เปิดบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้วนำไปใช้ในการกระทำความผิด เช่น สร้างข่าวปลอมหรือหลอกลวงประชาชน 2.สามารถดำเนินคดีกับผู้นำเข้าข้อมูลเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กรณีโรคโควิด-19 ได้ทุกกรณี โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าก่อให้เกิดความปั่นป่วน ก่อให้เกิดความไม่สงบหรือไม่ และ 3.ผู้ให้บริการตามนิยาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยเคร่งครัด

โดยก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไข จำนวน 16 ข้อ ทั้งนี้ ในข้อกำหนดที่ 6 เป็นเรื่องของ ‘การนำเสนอข่าว’ ที่ระบุว่า ห้ามการเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายทางสื่อต่าง ซึ่งมีข้อความหรือข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) อันไม่เป็นความจริงและอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในกรณีเช่นนี้ให้เจ้าหน้าที่เตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าว หรือหากเป็นกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง ให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอเพิ่มเติมของ ปอท. ถือเป็นการเพิ่มอำนาจในการดำเนินคดีกับผู้นำเข้าข้อมูลเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือเฟกนิวส์ ได้ทุกกรณี ทั้งยังไม่ต้องพิสูจน์ว่า ‘ก่อให้เกิดความปั่นป่วน ก่อให้เกิดความไม่สงบหรือไม่’

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image