คอลัมน์ แท็งก์ความคิด : อ่านตำราชีวิต

ภาพโดย Patrick Tomasso on Unsplash

ในช่วงที่โลกวุ่นวายไปด้วยการระบาดของโควิด ทุกคนควรอยู่บ้านเพื่อป้องกันตัวเองและผู้อื่นให้ห่างโรค
หนังสือคือเพื่อนที่ดีสำหรับหลายคนที่รักการอ่าน
เพราะหนังสือคือความบันเทิง หนังสือคือความรู้
ผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายได้รับความรู้จากหนังสือ
ขณะเดียวกันบุคคลเหล่านั้นก็อุดมไปด้วยความรู้จากประสบการณ์
การได้สนทนากับบุคคลเหล่านั้นจึงเหมือนกับการได้อ่านหนังสือฮาวทูความสำเร็จ
เหมือนกับการได้อ่านตำรา
เหมือนดั่งก่อนหน้านี้ที่มีโอกาสพบปะกับ คุณไชย ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
คุณไชยเป็นคนคิดบวก มีพลังสร้างสรรค์เสมอ
เป็นที่ทราบกันดีว่า คุณไชยศึกษาหลักบริหารตามวิถีตะวันออก
ชมชอบวิถีไทย ศึกษาวิถีพุทธ วิถีเซน และนำมาใช้ในการบริหาร
ระหว่างการสนทนา คุณไชยบอกเล่ามุมมองต่างๆ ให้ฟัง
รวมถึงหลัก “อิคิไก” ของประเทศญี่ปุ่น

ไชย ไชยวรรณ

หลักการนี้แสวงหาคำตอบว่า เราจะมีชีวิตอยู่กันไปทำไม
หลังการสนทนา กลับมาบ้านได้ค้นหาคำอธิบายหลักอิคิไกเพิ่มเติม
ทราบว่า คนเราต้องอยู่ภายใต้ส่วนผสม 4 ประการ
1.ความรัก 2.สิ่งที่ทำได้ดี 3.สิ่งที่มีผู้จ้างให้ทำ 4.สิ่งที่โลกต้องการ
ถ้ามีเฉพาะความรักกับสิ่งที่ทำได้ดี เราได้แค่ความหลงใหล
ถ้ามีเฉพาะสิ่งที่ทำได้ดีกับสิ่งที่ผู้จ้างให้ทำ เราได้แค่ความชำนาญ
ถ้ามีเฉพาะสิ่งที่มีผู้จ้างให้ทำ กับสิ่งที่โลกต้องการ เราได้แค่อาชีพ
ถ้ามีเฉพาะสิ่งที่โลกต้องการ กับความรัก กลายเป็นเพียงพันธกิจ
ถ้าไม่ได้ทำในสิ่งที่โลกต้องการ งานที่ทำก็แลดูไร้ค่า
ถ้าไม่ได้ทำในสิ่งที่รัก ชีวิตย่อมว่างเปล่า
ถ้าไม่ได้ทำในสิ่งที่มีผู้จ้างงาน ชีวิตขาดรายได้
ถ้าไม่ได้ทำในสิ่งที่ทำได้ดี ชีวิตก็ขาดความมั่นใจ
แต่ถ้าเรามีส่วนผสมทั้ง 4 อย่างครบถ้วนแล้ว เราก็จะ “อิคิไก”
เมื่อมีครบถ้วนเช่นนั้น ชีวิตก็จะตื่นขึ้นมาด้วยพลังที่จะก้าวเดินต่อไป

แค่แนวคิดที่คุณไชยเปรยให้ฟัง เมื่อมาค้นหาเพิ่มเติมก็ทำให้ได้อะไรดีๆ ในชีวิต
การสนทนากับผู้รู้ทำให้ชีวิตคึกคักกับเนื้อหาการสนทนา
อีกเรื่องที่ได้จากการสนทนาในวันนั้น คือ ความคิดเกี่ยวกับงานประกันชีวิต
ความคิดที่เดิมคนทั่วไปไม่ชื่นชอบ
ไม่ชื่นชอบเพราะคนมีมุมมองในแง่ร้าย
ดังนั้น จึงแก้ไขมุมมองดังกล่าวด้วยการเติมมุมมองในแง่บวกเข้าไป
เติมมุมมองที่ว่า การทำประกันชีวิตนั้นคือ “การให้” ไม่ใช่มุ่ง “เอาแต่ได้”
การทำประกันชีวิตคือการทำให้ผู้อื่น
วงเงินประกันที่ทำจะไปตกอยู่กับคนที่เรารัก
และคนที่เรารักก็จะมี “ความทรงจำ” ถึงเรา แม้วันที่เราจากไป
เมื่องานประกันชีวิตเปลี่ยนจากการเป็น “ผู้รับ” มาเป็น “ผู้ให้”
งานประกันชีวิตก็มีคุณค่า คนที่ทำงานประกันชีวิตมีคุณค่า
การชักชวนให้คนมาทำประกันชีวิต จึงเป็นการชวนให้คนหันมาทำอะไรเพื่อคนอื่น
และผลจากการทำให้คนอื่น ทำให้เรามีคุณค่า
หลักคิดแบบนี้ฟังแล้วเหมือนจะทำง่าย แต่หากย้อนกลับไปในยุคนั้น ต้องยอมรับว่าทำได้ยาก
แต่ในที่สุดไทยประกันชีวิตก็ทำได้สำเร็จ
คุณไชยเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ การพบปะพูดคุยกับคุณไชยทำให้มองเห็นคุณสมบัติของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต
การได้สนทนากับคุณไชย ตอกย้ำว่าคนที่ประสบความสำเร็จนั้นมี “วิชาประจำตัว”
มีเป้าหมายเป็นของตัวเอง มีแนวทางที่ตัวเองทำแล้วบรรลุเป้าหมาย
และมีประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติ
การได้สนทนากับคุณไชย เหมือนได้อ่านตำรา
ไม่ได้เป็นตำราที่บอกแต่ทฤษฎี หากแต่เป็นเรื่องราวในระหว่างลงมือทำ
หลายเรื่องอาจไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นตัวอักษร
ทุกครั้งที่ได้สนทนากับผู้ประสบความสำเร็จจากงานที่ทำ จึงเป็นโอกาสของชีวิตที่จะได้รับข้อมูลดีๆ
การได้สนทนากับผู้ประสบความสำเร็จเหล่านี้เหมือนกับการได้อ่านหนังสือ
เป็นหนังสือที่อ่านครั้งใดก็ได้ไอเดียได้ความรู้
เพราะเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ยิน เป็นข้อมูลที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์
เกิดจากการตกผลึกจากการทำงาน
กระทั่งกลายเป็นตำราแห่งชีวิตที่ฟังกี่ครั้งๆ ก็น่าประทับใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image