พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ปรับบ้าน-เปลี่ยนเมือง ​- ความท้าทายและอนาคตของเมืองในวิกฤตโควิด-19

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในฐานะภัยพิบัติใหม่ด้านสาธารณสุข ทำให้เราต้องคิดเรื่องประเด็นท้าทายของการใช้ชีวิตในเมือง การออกแบบ และการวางแผนพัฒนาเมือง นับจากวันนี้เป็นต้นไป ซึ่งก็ไม่รู้ว่าในหลายๆ พื้นที่ในโลกรวมถึงประเทศไทยนั้นเมื่อไหร่สถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น ทั้งที่เริ่มมีมาตรการต่างๆ ออกมาแล้ว

ผมขอนำเอาบางประเด็นที่เราควรพิจารณาร่วมกันในการปรับบ้าน-เปลี่ยนเมืองมานำเสนอดังนี้

1.มิติด้านความหนาแน่น : หัวใจสำคัญของเมือง โดยเฉพาะมหานครหรือเมืองใหญ่ ซึ่งในรอบนี้ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อเป็นจำนวนมากก็คือเรื่องของความหนาแน่น (density) กล่าวคือ โดยทั่วไปเวลาคนพูดถึงเรื่องเมืองนั้นมักจะนึกถึงความใหญ่ แต่โดยหลักวิชาแล้วความใหญ่หรือขนาดมักจะมาคู่กับความหนาแน่น และความหนาแน่นของผู้คนนี้เองที่ส่งผลให้การแพร่กระจายเชื้อทำได้ง่ายขึ้น

ประเด็นท้าทายในการออกแบบและเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในอนาคตก็คือโจทย์ของการออกแบบเรื่องความหนาแน่น เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว ความหนาแน่นเป็นองค์ประกอบสำคัญของเมือง และส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะการวางระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เช่น การวางป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า โครงข่ายการสื่อสาร ของเหล่านี้จำเป็นจะต้องมีจำนวนประชากรจำนวนหนึ่งจะเกิดความคุ้มค่าในการจัดหาทรัพยากร รวมไปถึงเรื่องของการจัดหาพื้นที่สีเขียวเพื่อการนันทนาการ

Advertisement

ความหนาแน่นของผู้คนในเมืองยังเกิดจากความจำเป็นจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เพราะราคาที่ดินในเมืองมีราคาแพง

ในด้านหนึ่งการระบาดมากับความหนาแน่น และความหนาแน่นเป็นความมุ่งหมายของนักออกแบบเมืองและผู้กำหนดนโยบายเมืองมาโดยตลอด แต่ในอีกด้านหนึ่งความหนาแน่นมาพร้อมกับความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติสุขภาพ ดังนั้น การตั้งคำถามถึงอนาคตของการออกแบบและวางนโยบายของเมืองเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

2.มิติด้านการเชื่อมต่อ และการคมนาคมขนส่ง : จากเงื่อนไขของความหนาแน่นที่ส่งผลให้การใช้ชีวิตในเมืองมีความเสี่ยงจากภัยพิบัติใหม่ในทางสาธารณสุข เรากำลังเผชิญประเด็นเรื่องการร่วมกันคิดเรื่องทิศทางของการคมนาคมขนส่งสาธารณะ จากเดิมที่เราเชื่อว่าอนาคตของเมืองจะเป็นเรื่องของการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่มากกว่าเรื่องของรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับการวางแผนพัฒนาเมืองที่เน้นการอยู่อาศัยหนาแน่นในพื้นที่เมืองบนตึกสูง หรือเน้นการสร้างเมืองขนาดใหญ่ที่ขนผู้คนจากชานเมืองเข้ามาในเมืองอย่างรวดเร็ว

ความหนาแน่นของการคมนาคมขนส่งมีผลต่อการแพร่ระบาดของเมือง และเมื่อเผชิญกับปัญหาการปิดเมืองหรืองดกิจกรรมและการเดินทาง ย่อมทำให้เกิดความไม่สะดวกสบายในการเข้าถึง จนถึงขั้นของการสะดุดหยุดชะงักของเมืองอย่างฉับพลันทันที

นอกจากนี้แล้วหนึ่งในหนทางในการระงับยับยั้งภัยพิบัติในวันนี้คือ การลดจำนวนการติดเชื้อลงเกี่ยวเนื่องกับการจำกัดการเข้าถึงและจำกัดการเคลื่อนที่ คำถามสำคัญก็คือ เมื่อการเชื่อมต่อและการเข้าถึงถูกจำกัดโดยเฉพาะการปิดเมือง ประเด็นท้าทายคือแต่ละเมืองจะจัดวางระบบการเชื่อมต่อกันอย่างไร แม้ว่าประชาชนอาจถูกจำกัดการเชื่อมต่อ แต่การเชื่อมต่อในแง่ของการขนส่งและกระจายอาหารและทรัพยากรที่จำเป็นต่อการให้การดูแลของประชาชนจะเกิดขึ้นอย่างไร

นอกจากนี้การดูแลมาตรฐานความสะอาดในระบบการให้บริการสาธารณะยังเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากในการขนส่งจากวันนี้ถึงอนาคต ที่ผ่านมามาตรฐานด้านความสะอาดของระบบขนส่งสาธารณะยังเป็นที่ตั้งคำถามจากประชาชนเสมอ และสิ่งนี้แก้ไม่ได้ด้วยระบบการประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่ต้องแก้ด้วยการตรวจสอบมาตรฐานจากองค์กรภายนอก หรือจากเครือข่ายประชาชนผู้สนใจและห่วงใยในเรื่องดังกล่าว

3.มิติด้านความเปราะบาง : ในเมืองที่เหลื่อมล้ำสูง เราจะพบว่าความเปราะบางของผู้คนบางกลุ่มมีมากกว่าอีกหลายกลุ่ม อาทิ การที่คนยากจนอยู่ในที่พักอาศัยที่ไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐานตามสุขลักษณะพื้นฐาน ดังนั้น การเฝ้าระวังตัวเองย่อมทำได้ยาก

ความเปราะบางของการมีชีวิตอยู่ในเมืองไม่ได้มีแค่ในหมู่คนยากจน แต่ยังมีในหมู่ของคนรุ่นใหม่ ที่พักอาศัยในรูปแบบของที่พักอาศัยที่เป็นห้องๆ ไม่ใช่เป็นบ้าน จึงมีบริเวณที่ใช้ชีวิตในลักษณะคับแคบซึ่งทำให้มีชีวิตที่ลำบาก เพราะโดยทั่วไปคนเหล่านี้จะมีชีวิตบนพื้นที่สาธารณะในฐานะพื้นที่ส่วนตัวของเขา เช่น การรับประทานอาหาร การแสวงหาความบันเทิง หรือการทำงานในร้านกาแฟ รวมทั้งการไปทำงาน หรือใช้ชีวิตในสถานศึกษา

การเฝ้าระวังตนเองโดยอยู่ในบ้าน/ห้องที่คับแคบ หรือการที่เมืองถูกปิดด้วยคำสั่งห้ามออกมาภายนอกโดยไม่จำเป็น อาจทำให้ชีวิตของคนเหล่านี้เผชิญกับปัญหาทางจิตวิทยาอีกมากมายที่จะตามมา

4.มิติด้านเศรษฐกิจ : การสูญเสียงานและรายได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีในหลายกรณีเมื่อเมืองประสบภัยพิบัติ ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของผู้คน อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือการถูกเลิกจ้างจากคำสั่งการปิดพื้นที่ของรัฐซึ่งมีผลต่อกิจการในด้านการบริการ รวมทั้งการที่แรงงานจำนวนมากอพยพกลับภูมิลำเนาของตนเอง

การทำการสำรวจความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบทางเศรษฐกิจของพื้นที่เมืองเป็นเรื่องสำคัญในการปรับเปลี่ยนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนเศรษฐกิจเมืองในระยะยาว รวมทั้งในช่วงเวลาที่เกิดภัยพิบัติ อาทิ การปรับแผนกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ใช่งดเสียหมด อาทิ ระบบการผลิตและขนส่งอาหารที่มีมาตรฐานและปลอดภัย หรือระยะยาวเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเมืองกลับมาได้ การจัดพื้นที่กิจกรรมเศรษฐกิจและระบบการรองรับผู้คนที่จะกลับมาร่วมสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับเมืองและประเทศก็ยิ่งมีความสำคัญ

นอกจากนี้มิติเศรษฐกิจที่พึงพิจารณาอย่างยิ่งยวดคือในเงื่อนไขของเมืองแบบบ้านเรานั้น ภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการมีอยู่มาก และเปราะบางมากจากวิกฤตภัยพิบัติใหม่ทางสาธารณสุขในรอบนี้ ดังนั้น การให้ความสำคัญเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการกับการเฝ้าระวัง ป้องกัน และบริหารจัดการความตกต่ำทางเศรษฐกิจกับภาคที่ไม่เป็นทางการจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในมิติที่มากกว่าการจ่ายเงินก้อนหนึ่งให้กับพวกเขา

5.มิติด้านการบริหารจัดการเมือง : ในการบริหารจัดการเมืองในช่วงภัยพิบัติใหม่ด้านสุขภาพนี้ สิ่งที่เรากำลังเผชิญก็คือเรื่องของการใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและฉับพลันทันทีของรัฐบาล ทั้งรัฐบาลท้องถิ่น หรือรัฐบาลส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม ประเด็นท้าทายสำคัญของการใช้อำนาจ��อย��่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดคือการตรวจสอบการใช้อำนาจเหล่านั้น และความมั่นใจที่เราจะต้องมีว่าผู้ที่ใช้อำนาจได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และมีความเข้าใจสถานการณ์ที่ถูกต้องรอบด้าน ซึ่งความรอบด้านในการแก้ปัญหาสถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นได้ ผู้บริหารสถานการณ์จะต้องมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจ และความชอบธรรมในการใช้อำนาจนี้จะต้องมาจากการยินยอมพร้อมใจและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในแง่ของการเป็นพันธมิตรร่วมกันทางการบริหาร

หนึ่งในการสร้างหลักประกันในการบริหารจัดการเมืองในยามวิกฤตไม่ใช่จะมีแต่ตัวแบบการที่รัฐบาลจัดการทุกเรื่องด้วยกลไกความมั่นคง และระบบราชการเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงระบบอาสาสมัคร และการส่งเสริมให้รัฐบาลท้องถิ่นและชุมชนในระดับย่อยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการดูแลในกิจการการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว

การมุ่งเน้นแต่ใช้เจ้าพนักงานนั้น นอกจากทำให้เกิดการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น แต่อาจไม่ได้เป็นไปในทางเดียวกับประสิทธิภาพและความคุ้มค่า รวมทั้งเกิดการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการบริหารสถานการณ์ในระดับท้องถิ่นมากขึ้น เช่น การตั้งด่านในแต่ละพื้นที่ในภารกิจการตรวจสอบและให้คำแนะนำ ซึ่งประชาชนอาจจะตั้งคำถามว่าทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ ดีขึ้นกว่าการใช้คนในท้องถิ่นเองในการให้ความรู้ในเรื่องการปฏิบัติตัวต่างๆ

การบริหารจัดการบ้านเมืองยังรวมไปถึงมิติของการสร้างระบบการสนับสนุนในพื้นที่ เพราะคนในท้องถิ่นและชุมชนจะมีความเข้าใจในเรื่องปัญหาของท้องถิ่นได้ดี อีกทั้งความเข้าใจที่ถูกต้องและการมีบทบาทที่เหมาะสมของท้องถิ่นชุมชนจะทำให้การลดอคติที่มีต่อผู้ติดเชื้อมีความเป็นไปได้ที่จะลดลง เพราะชุมชนมีความรู้จักกับพื้นที่เป็นอย่างดี

ส่วนในกรณีชุมชนเมืองนั้น การส่งเสริมระบบสนับสนุนชุมชนให้เกิดขึ้นได้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะเดิมวิถีชีวิตใหม่ๆ ในเมืองจะมีมิติเรื่องชุมชนค่อนข้างต่ำ แต่ขณะนี้การส่งเสริมระบบการดูแลมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะการเฝ้าระวังตัวเองของประชาชนตามคำแนะนำของรัฐไม่ได้มีระบบการสนับสนุนอย่างเป็นระบบในระดับชีวิตประจำวัน

6.มิติด้านสาธารณสุข : มิติสาธารณสุขเป็นมิติที่สอดแทรกไปในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพักอาศัย มาตรฐานการก่อสร้าง การออกแบบสำนักงาน การขนส่ง การกำจัดขยะและการรักษาความสะอาดพื้นที่สาธารณะ การให้บริการสาธารณสุข และการให้บริการสาธารณะรวมทั้งระบบอาหารในเมือง

ผมคาดการณ์ว่าการออกแบบและวางแผนระบบสาธารณสุขในระดับครัวเรือนและในระดับเมืองภายหลังจากภัยพิบัติใหม่ทางสาธารณสุขในรอบนี้น่าจะเกิดขึ้นทั้งในแง่การวางมาตรฐานใหม่และการวางมาตรการด้านสาธารณสุขใหม่ๆ ในเมือง แต่ทั้งนี้ จะต้องเข้าใจว่ามาตรฐานและมาตรการต่างๆ จะต้องมีจุดมุ่งหมายที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ใช่ยิ่งมีมาตรฐานและมาตรการใหม่แล้วจะสร้างความยากลำบาก แรงกดดัน และความเปราะบางที่มากขึ้นกับประชากรในเมือง

7.มิติด้านเทคโนโลยี : จากเดิมที่ความเข้าใจเมืองอัจฉริยะนั้นมักจะถูกจินตนาการว่าเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยในการขนส่งและสนับสนุนธุรกิจในเมือง ผมเห็นว่าภายหลังภัยพิบัติในเมืองรอบนี้เราเริ่มเห็นว่าประเทศและเมืองที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาภัยพิบัติใหม่ด้านสาธารณสุขในรอบนี้ อาทิ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ (รวมทั้งจีน) นั้น ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีโดยมีจุดมุ่งหมายที่การป้องกันประชากรของพวกเขาเองผ่านการติดตามตัว-เฝ้าระวัง การใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การสร้างแผนที่ และสำรวจรายงานพื้นที่ในเมืองที่มีการติดเชื้อมากน้อยในฐานะพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งการสร้างระบบการสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหามีประโยชน์เป็นอย่างมาก และชี้ให้เห็นว่าเมืองอัจฉริยะไม่ได้หมายความแต่เพียงเรื่องของความทันสมัยและการสร้างกิจกรรมเศรษฐกิจล้ำสมัยในเมืองให้กับเอกชนเท่านั้น

8.มิติด้านวัฒนธรรม : ในประเด็นสุดท้ายเราคงจะต้องวางแผนและออกแบบเมืองใหม่ที่คำนึงถึงการรองรับและการสนับสนุนกิจกรรมใหม่ๆ ในเมืองเพื่อส่งเสริมมาตรฐานและมาตรการใหม่ๆ ด้านสาธารณสุขที่จะเกิดขึ้นจากวันนี้ถึงภายหลังภัยพิบัติใหม่ทางสาธารณสุขในรอบนี้ รูปแบบการนันทนาการในเมืองย่อมจะต้องเปลี่ยนไป การออกแบบและวางมาตรฐานของร้านอาหารและสถานบันเทิง รวมทั้งการรวมตัวของคนในพื้นที่สาธารณะย่อมจะต้องมีการปรับเปลี่ยน

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงข้อควรพิจารณาเบื้องต้นในการเปลี่ยนบ้าน-ปรับเมืองในการทำให้กระบวนการฟื้นตัวและการส่งเสริมการเติบโต ความเป็นธรรม และความยั่งยืนของเมืองต่อภัยพิบัติใหม่ด้านสาธารณสุขในระดับเมืองนั้นเป็นไปได้ และในกระบวนการนี้จะต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสะท้อนประสบการณ์ที่ผ่านมาออกมาด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วการกำหนดทุกอย่างโดยรัฐราชการฝ่ายเดียวในการปรับเปลี่ยนบ้านเมืองในรอบนี้อาจจะทำให้ขาดความรอบด้าน ไม่สะท้อนปัญหาจริง และขาดความชอบธรรมจากประชาชน

หมายเหตุ – พัฒนาจากบทเรียนและข้อมูลใน Global Development Institute. “Dealing with COVID-19 in the towns and cities of the Global South”. 25 March 2020. J.Shenker. “Cities after coronavirus: How Vovid-19 could radically alter urban life”. The Guardian.com. 26 March 2020. S.Null and H.Smith. “COVID-19 could affect cities for years. Here are 4 ways they’re coping now.” World Resource Institute. 20 March 2020.)

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image