‘เอ็ตด้า’ เผย ปี 62 คนไทยใช้เน็ตเพิ่มเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 22 นาที ‘เจนวาย’ ครองแชมป์ 5 ปีซ้อน

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระบุว่า ผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2562 พบว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่า 150% ส่งผลให้ปัจจุบันไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 47.5 ล้านคน หรือราว 70% ของจำนวนประชาชนทั้งหมด ซึ่งจากตัวเลขที่พุ่งสูงนี้เป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามที่ภาครัฐต้องดูแล ส่งเสริมและเฝ้าระวังให้การใช้อินเตอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนมั่นคงปลอดภัย พร้อมกับการผ่านนโยบายที่ตอบโจทย์การใช้ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งการได้มาของนโยบายเหล่านี้จะต้องมีฐานข้อมูลสนับสนุน

และจากการสำรวจข้อมูลของประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ต ผ่านทางออนไลน์ ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2562โดยมีคนไทยเข้ามาตอบแบบสอบถามกว่า 17,242 คน ซึ่งจากการวิเคราะห์ พบว่า ปี 2562 คนไทยใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 22 นาที เพิ่มขึ้น 17 นาทีจากปีที่ 2561 และเมื่อพิจารณาเป็นรายประเด็นเทียบกับชั่วโมงการใช้งานพบข้อมูล ดังนี้ เพศทางเลือกครองแชมป์ใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุด 11 ชั่วโมง 20 นาที รองลงมาคือ เพศชาย 10 ชั่วโมง 25 นาที และเพศหญิง 10 ชั่วโมง 17 นาที

ถัดมา เจเนอเรชั่น พบว่า เจนวาย (อายุ 19-38 ปี) ยังครองแชมป์การใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดติดต่อกัน 5 ปีซ้อน โดยมีชั่วโมงการใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 10 ชั่วโมง 36 นาที รองลงมาได้แก่ เจนซี (อายุต่ำกว่า 19 ปี) อยู่ที่ 10 ชั่วโมง 35 นาที ส่วนเบบี้บูมเมอร์ (อายุ 55-73 ปี) อยู่ที่ 10 ชั่วโมง และเจนเอ็กซ์ (อายุ 39-54ปี) อยู่ที่ 9 ชั่วโมง 49 นาที ตามลำดับ

ทั้งนี้ พบว่า ทุกอาชีพใช้อินเตอร์เน็ตไม่ต่างกัน โดยนักเรียน/นักศึกษาใช้อินเตอร์เน็ตสูงสุด อยู่ที่ 10 ชั่วโมง 50 นาที รองลงมาคือ พ่อบ้าน/แม่บ้าน 10 ชั่วโมง 38 นาทีเจ้าของกิจการ/ประกอบธุรกิจส่วนตัว 10 ชั่วโมง 34 นาที คนว่างงาน/ไม่มีงานทำ 10 ชั่วโมง 32 นาที และอาชีพอิสระ/ฟรีแลนซ์ 10 ชั่วโมง 30 นาที ตามลำดับ

Advertisement

ภาคเหนือมีจำนวนชั่วโมงการใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 10 ชั่วโมง 31 นาทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 ชั่วโมง 28 นาที ภาคกลาง 10 ชั่วโมง 19 นาที กรุงเทพฯ 10 ชั่วโมง 19 นาที และภาคใต้ 10 ชั่วโมง 17 นาที ตามลำดับ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากนโยบายเน็ตประชารัฐที่คลอบคลุมพื้นที่แล้วกว่า 24,700 หมู่บ้าน และบริการฟรีวายฟายที่คลอบคลุมชุมชนกว่า 10,000 จุด ทำให้คนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 91.2% ใช้อินเตอร์เน็ตไปกับโซเชียลมีเดีย (เฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม) ซึ่งถือเป็นกิจกรรมยอดฮิต 7 ปีซ้อน รองลงมาคือ ดูหนัง ฟังเพลง 71.2% ค้นหาข้อมูลออนไลน์ 70.7% รับ-ส่งอีเมล 62.5% และการชำระเงินค่าสินค้าและบริการทางออนไลน์ 60.6% ซึ่งปี 2562 เป็นปีแรกที่การชำระเงินติด 1 ใน 5 ของกิจกรรมยอดฮิต ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของการชำระเงินรูปแบบออนไลน์ของไทยที่เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ กิจกรรมออนไลน์ที่กำลังมาแรงและมีการเติบโตเพิ่มขึ้นหากเทียบกับปี 2561 คือ การสั่งอาหารออนไลน์ได้รับความนิยมมากสุด เพิ่มขึ้นจากปี 61 ถึง 15.1% รองลงมาคือ การชำระค่าสินค้าและบริการใช้บริการเพิ่ม 11.4% และการรับ-ส่งสินค้า/พัสดุ/เอกสารทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 11.0% ตามลำดับ

Advertisement

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาช่องทางออนไลน์ไหนถูกใจคนซื้อ-ขายมากที่สุด พบว่า ช่องทางที่ผู้ซื้อเลือกใช้เพื่อซื้อสินค้ามากที่สุด คือ อี มาร์เก็ตเพลส ได้แก่ ช้อปปี้ 75.6% รองลงมาคือ ลาซาด้า 65.5% และโซเชียลมีเดีย ได้แก่ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ 47.5% และไลน์ 38.9% ต่างจากช่องทางที่ผู้ขายนิยมใช้ที่เพื่อขายของออนไลน์มากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ 64.0% รองลงมา คือ ช้อปปี้ 43.1% และไลน์ 39.5% และยังพบว่า คนไทยนิยมใช้ไลน์ ติดต่อสื่อสาร 98.5% รองลงมาคือ เฟซบุ๊ค เมสเซนเจอร์, เฟซไทม์ และวอตส์แอปป์ ตามลำดับ

แม้จากการสำรวจจะพบปัญหากวนใจในการใช้อินเตอร์เน็ต มากสุดที่คือ โฆษณาออนไลน์รบกวนการใช้งาน 78.5% รองลงมาคือความล่าช้าในการเชื่อมต่อ 68.7% ปัญหาข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ 35.8% แต่ผู้ตอบแบบสอบถาม 73.3% ยังคงเชื่อมั่นในความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานอินเตอร์เน็ต ความเชื่อมั่นที่ค่อนข้างสูงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเอาใจใส่ในการเพิ่มมาตรการลดภัยคุกคามออนไลน์ต่างๆ  เช่น จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ของกระทรวงดีอีเอส เพื่อลดปัญหาข่าวปลอม และการมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ของเอ็ตด้า ที่เปิดให้ผู้ใช้ออนไลน์สามารถขอคำปรึกษาและร้องเรียนปัญหาออนไลน์ ได้ทั้งช่องทางโทรศัพท์สายด่วน 1212 ตลอด 24 ชม. และอีเมล [email protected] หรือเว็บไซต์ www.1212occ.com เป็นต้น

สำหรับประเด็นร้อน ความรู้ความเข้าใจเรื่องดิจิทัลไอดี พบว่า กิจกรรมการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่คนส่วนใหญ่รู้จักและเคยทำมาก่อนกว่า 91.6% คือการกรอก รหัสโอทีพี รองลงมาคือ การสมัครใช้บริการออนไลน์ของเอกชน โดยให้ข้อมูลส่วนบุคคล85.9% การเข้าใช้บริการออนไลน์ของภาคเอกชนด้วยรหัสผ่านที่ตั้งขึ้นมา 82.1%โดยกิจกรรมที่นิยมสร้างบัญชีใหม่ เพื่อยืนยันการใช้บริการมากที่สุด คือ การต่อทะเบียนภาษีรถยนต์ออนไลน์ รองลงมาคือ การซื้อขายสินทรัพย์ออนไลน์ และการเรียนออนไลน์ ส่วนกิจกรรมที่นิยมใช้บัญชีเดิม (บัญชีในโซเชียลมีเดีย, อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ฯลฯ) มากที่สุดคือ ใช้รถโดยสารออนไลน์ รองลงมา สั่งอาหารออนไลน์ และอ่านหนังสือทางออนไลน์

และเมื่อถามว่า ต้องการใช้บัญชีเดียวในการเข้าถึงทุกบริการออนไลน์หรือไม่ ส่วนใหญ่ 64.4% ตอบว่าต้องการใช้บัญชีเดียวเข้าถึงทุกบริการ 23.8% ตอบว่าไม่แน่ใจ และ 11.9% ตอบว่าไม่ต้องการ และประเด็นที่ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้ภาครัฐดูแลมากที่สุด คือ ความมั่นคงปลอดภัย ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล 61.4% การมีกฎหมายกำกับ ดูแลหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 18.5% การรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ 11.2% และระบบที่สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง 7.2% เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เอ็ตด้าได้ทำไปแล้วในการวางมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ คือ การผลักดัน 1.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 3 และ 4) พ.ศ.2562 เพื่อรองรับสถานะทางกฎหมายของดิจิทัลไอดี 2.มาตรฐานรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือตามกฎหมาย และ 3. อยู่ระหว่างการนำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ. ….. และร่างประกาศสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง แนวทางการเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล พ.ศ. …. (ดิจิทัลไอดี แซนบล็อก)เพื่อวางกฎเกณฑ์กำกับดูแลธุรกิจบริการที่เกี่ยวกับดิจิทัลไอดี ซึ่งจะสร้างระบบนิเวศของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการพิสูจน์และยืนยันตัวตนที่น่าเชื่อถือต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image