‘สทท.’ เผยดัชนีความเชื่อมั่นท่องเที่ยวลดฮวบ ต่ำสุดรอบ 9 ปี วอนรัฐหามาตรการตรงจุด ต่อลมหายใจเอสเอ็มอี

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวในไตรมาส 1 ปี 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 57 ลดลงต่ำกว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 88 โดยถือเป็นการปรับลดระดับลงต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี สาเหตุต่อเนื่องมาจากการค้าโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักจากสงครามทางการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวมาตั้งแต่กลางปี 2562 และทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวต่อเนื่องจนไตรมาสนี้ รวมถึงปัจจัยหลักล่าสุดอย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก โดยเริ่มมีการจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 รวมถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน หรือ PM2.5 ที่เป็นปัญหาต่อการท่องเที่ยวมาตลอดด้วย

ในไตรมาส 1 ปี 2563 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพียง 6.70 ล้านคน ลดลง 37.96% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาดเริ่มรุนแรงขึ้นในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยคาดว่ามีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 343,130 ล้านบาท ลดลง 38.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งจะส่งผลให้หากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายได้ภายใน 6 เดือนนี้ ในสิ้นปี 2563 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 26.59 ล้านคน ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 33.19% และคาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีประมาณ 1.23 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ประมาณ 36.38%” นายชัยรัตน์กล่าว

นายชัยรัตน์กล่าวว่า จากมาตรการเยียวยาที่ภาครัฐออกมา ถือว่าช่วยได้บ้าง แต่ยังไม่ตรงจุดมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่มัสายป่านสั้น และยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำของธนาคารต่างๆ ตามมาตรการที่ภาครัฐออกมาได้ อาทิ มาตรการจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 10,000 ล้านบาทของธนาคารออมสิน เพื่อปล่อยกู้ให้ธุรกิจท่องเที่ยวโดยเฉพาะ แต่จะประเมินคุณสมบัติจากศักยภาพในการทำธุรกิจที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่าธุรกิจท่องเที่ยวในปี 2562 ก็ไม่ได้ดีมากนัก หากเทียบจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวยังทำได้ไม่ทั่วถึง อีกทั้งดอกเบี้ยที่ควรจะต่ำอย่างต่อเนื่อง ก็ยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ด้วย

ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมโรงแรม บริษัททัวร์ ร้านอาหาร ธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จะร่วมกันแสดงออกด้วยการติดแฮชแทค #จ่ายแล้วได้อะไร เพื่อรณรงค์ไม่จ่ายเงินประกันสังคม และงดการจ่ายภาษีทุกอย่างให้กับรัฐบาล เพราะตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดใหม่ๆ ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างต่อเนื่อง แต่ภาครัฐออกไม่มีมาตรการที่ตรงจุดและชัดเจนออกมา แม้จะออกมาแล้วแต่ก็ยังครึ่งๆ กลางๆ จนตอนนี้ธุรกิจท่องเที่ยวหลายส่วนกำลังจะยืนไม่ไหว เพราะจะเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว และเลิกจ้างพนักงานไป เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหาย คนในประเทศก็หยุดการเดินทางเพื่อควบคุมโรค แต่ขณะนี้ลูกจ้างในธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่ได้รับเงินชดเชย ในกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่เข้าข่ายการว่างงาน ทั้งที่ได้รับความเดือดร้อนก่อนภาคส่วนอื่นๆนายชัยรัตน์กล่าว

Advertisement

นายชัยรัตน์กล่าวว่า นอกจากนี้ การที่กฎหมายได้กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง 75% ของเงินเดือนในกรณีปิดกิจการชั่วคราว แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวไม่เหลือสภาพคล่องที่จะจ่ายค่าจ้างส่วนต่างให้ลูกจ้างได้อีก จึงอยากเรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน และสำนักประกันสังคมออกมาตรการมาช่วยเหลือผู้ประกอบการในส่วนนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกันแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนในส่วนใดออกมาเพิ่มเติม ผู้ประกอบการจึงต้องกดดันด้วยกระแสทางสังคมออนไลน์แทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image