คลังคาดชง มาตรการดูแลเศรษฐกิจ ชุด 3 เข้า ครม. เม.ย.นี้

แฟ้มภาพ

กระทรวงการคลังเตรียเสนอ มาตรการดูแลเศรษฐกิจ ชุด 3 เข้า ครม. เม.ย.นี้ เน้นดูแล เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ครบถ้วนและต่อเนื่อง รวมถึงดูแลไม่ให้กลไกด้านเศรษฐกิจหยุดชะงัก รอลุ้น ออก พ.ร.ก. กู้เงิน หรือไม่

นายลวรณ แสงสนิท โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าววว่า สำหรับ มาตรการดูแลเศรษฐกิจ ชุดที่ 3 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเสนอครม.ภายในเดือนเมษายน เป้าหมายสำคัญคือดูแลและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ครบถ้วนและต่อเนื่อง นอกจากนี้ต้องนำมาดูแลระบบเศรฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้เพื่อไม่ให้กลไกด้านเศรษฐกิจหยุด หรือสะดุดลง ถ้าเศรษฐกิจชะงักลงจะเกิดผลกระทบรุนแรง และฟื้นตัวได้ช้า ดังนั้นถ้ารักษากลไกทางเศรษฐกิจไว้ได้ เมื่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ลดลง ทำให้สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้เร็ว และใช้เงินไม่เยอะมาก

นายลวรณ กล่าวว่า อย่าเพิ่งมาถามว่าจะใช้เงินเท่าไหร่ เพราะยังไม่รู้ว่า มาตรการดูแลเศรษฐกิจ ชุดที่ 3 จะมีอะไรบ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณามาตรการที่เกี่ยวข้องกับ 2 ข้อใหญ่ คือดูแลเศรษฐกิจ และดูแลประชาชน ถ้าสรุปมาตรการแล้วจึงจะทราบว่าจะใช้เงินเท่าไหร่ และจะทำให้ดูว่านำเงินจากตรงไหนมาใช้บ้าง

นายลวรณ กล่าวว่า ส่วนที่ว่าจะเป็นต้องกู้มาใช้ มาตรการดูแลเศรษฐกิจ ชุดที่ 3 หรือไม่นั้น คงต้องรอดูว่ามาตรการจะใช้เงินเท่าไหร่ และสำนักงบประมาณมีงบวางไว้หรือไม่ ซึ่งสำนักงบประมาณจะรายงานเรื่องงบประมาณตรงกับนายกฯ ในส่วนของคลังจะบอกว่าต้องการใช้เงินเท่าไหร่หลังจากนั้นสำนักงบประมาณจะบอกว่างบมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่พอต้องหาช่องทางอื่นในการนำเงินมาใช้ ซึ่ง พ.ร.ก.กู้เงินเป็นแนวทางหนึ่ง ดังนั้นขณะนี้ยังเร็วเกินไปจะบอกว่าต้องกู้เท่าไหร่ เพราะต้องดูก่อนว่าจะทำอะไร ใช้งบเท่าไหร่

Advertisement

“ในการกู้เงินนั้น ไม่มีปัญหา เพราะฐานะการคลังยังแข็งแกร่ง หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 42% ของจีดีพี ต่ำกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ 60% ของจีดีพี ในเรื่องหาเงินมาใช้ในช่วงวิกฤต เป็นการบริหารจัดการงบประมาณ ซึ่งแหล่งเงินยังมีหลายแหล่ง และมีขั้นตอนในการนำมาใช้ ส่วนจะกู้ได้เท่าไหร่จะมีหลักเกณฑ์อยู่ว่ากู้มาเพื่ออะไร รวมถึงมีเพดานว่าต้องกู้เท่าไหร่ โดยมีหลักเกณฑ์ต่างๆ มีกฎหมายเกี่ยวข้อง ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการกู้เงิน”นายลวรณ กล่าว

ด้านนางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งมาให้สบน.กู้เงิน ดังนั้นจึงบอกไม่ได้ว่าจะต้องกู้เท่าไหร่ เพราะต้องขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะนำเงินไปใช้อะไรบ้าง ทั้งนี้การออกพ.ร.ก.กู้เงิน ต้องมีโครงการที่ชัดเจน ซึ่งถ้ารัฐมีนโยบายกู้เงินออกมาชัดเจน สบน.ก็พร้อมกู้ให้ทันที และสามารถใช้ทุกเครื่องมือมากู้เงิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image