‘ทรีนีตี้’ มองหุ้นไทยยังเจอสารพัดปัจจัยเสี่ยง เชื่อผ่านจุดต่ำสุดแล้ว หวังไต่ระดับผ่าน 1,220 จุด

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในเดือนเมษายน 2563 ยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลักต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี ทั้งการระบาดของโควิด-19 ความผันผวนของราคาน้ำมัน และแนวโน้มปัญหาภัยแล้งที่จะเข้ามากระทบอีก ซึ่งต้องยอมรับว่าผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากส่งผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศ ทำให้ประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย ถูกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว โดยทรีนีตี้ประเมินว่าในเดือนเมษายนนี้ จะมีสภาพคล่องเพิ่มในประเทศเกิดขึ้นใหม่ จากการเริ่มโครงการซื้อหุ้นคืนของบจ.กว่า 20 แห่งและการเริ่มขายกองทุนเอสเอสเอฟ ประเภทพิเศษ ซึ่งจากการคำนวณของทรีนีตี้โดยอ้างอิงกับระดับการเข้าซื้อของกองทุนแอลทีเอฟในอดีต คาดว่าจะมีเม็ดเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ไหลเข้าสู่กองทุนเอสเอสเอฟดังกล่าวในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้

ขณะนี้ประเมินตลาดหุ้นไทยมีโอกาสผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ระดับ 970 จุด แต่ต้องอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวทำจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ เนื่องจากปกติแล้ว ดัชนีหุ้นไทยมักปรับตัวชี้นำเศรษฐกิจและกำไรของบจ.อยู่ประมาณ 1 ไตรมาส ซึ่งมองการประกาศเคอร์ฟิวหากเกิดขึ้นจริงจะเป็นผลบวกต่อดัชนี เนื่องจากจะเป็นการช่วยร่นระยะเวลาจุดสูงสุดของปัญหาให้ใกล้เข้ามายิ่งขึ้นนายณัฐชาตกล่าว

นายณัฐชาตกล่าวว่า ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีในเดือนเมษายนนี้ จะมีแนวต้านสำคัญอยู่ 2 บริเวณ ได้แก่1,130-1,140 จุด และ 1,220 จุด โดยระดับ 1,130-1,140 จุด เป็นระดับที่อิงการปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 8.9% จากดัชนีปิดต่ำสุดซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของการรวมในช่วงตลาดขาลง 3 รอบหลังสุด และยังเป็นระดับที่เทียบเคียงอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (พีอี) ในกรณีล่างที่ 14.2 เท่า ส่วนระดับดัชนี 1,220 จุด เป็นระดับที่อิงพีอีในกรณีฐานที่ 15.2 เท่า ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ ยังคงแนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนใยหุ้นแบบรายตัว โดยถือครองไปยังหุ้นทีาแนะนำ และหากดัชนีขึ้นไปแตะแนวต้านแรกที่ 1,130-1,140 จุด แนะนำขายหุ้นออกมาบางส่วนและหากยังเดินหน้าไปต่อถึงระดับ 1,220 จุด แนะนำเป็นจุดขายหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นายณัฐชาตกล่าวว่า สำหรับธีมการลงทุนแนะนำในเดือนเมษายนนี้ ยังคงโฟกัสไปที่ 5 กลุ่มการลงทุน โดยคาดว่าหุ้นเหล่านี้มีโอกาสเป็นเป้าหมายหลักของนักลงทุนสถาบันในประเทศ ที่กำลังจะได้รับสภาพคล่องเพิ่มจากการเปิดขายกองทุนเอสเอสเอฟในเดือนเมษายนนี้ ได้แก่ 1.กลุ่มโรงไฟฟ้า อาทิ บี.กริมเพาเวอร์ (BGRIM) โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และราช กรุ๊ป (RATCH) 2.กลุ่มสื่อสาร อาทิ แอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และอินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) 3.กลุ่มสินค้าจำเป็น ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวัน และได้ประโยชน์จากการเร่งกักตุนสินค้าของประชาชน อาทิ สยามแม็คโคร (MAKRO) เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) 4.กลุ่มบริหารสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยลดลง ทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง และมีโอกาสซื้อหนี้ในราคาถูกในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อาทิ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) และ 5.กลุ่มอาหารที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า การบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้น อาทิ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)

Advertisement

นายณัฐชาตกล่าวว่า ในส่วนของหุ้นกลุ่มโรงแรม สายการบิน สนามบิน ยังคงแนะนำให้ชะลอการลงทุนไปก่อน แม้ว่าราคาจะปรับลดลงมามากแล้วก็ตาม โดยมองจุดการเข้าซื้อที่ปลอดภัยที่สุดยังคงได้แก่การรอให้ทางองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ประกาศการควบคุมโควิด-19 ให้ได้อย่างเป็นทางการก่อน แต่คนที่ต้องการซื้อเร็วกว่านั้น มองว่าอย่างน้อยก็จะต้องรอให้จำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นปรับตัวขึ้นถึงจุดสูงสุดให้ได้ก่อน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลล่าสุดนั้นยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าวแต่อย่างใด โดยยังคงแนะนำการถือครองทองคำในสัดส่วน 10% ของพอร์ตโฟลิโอรวมต่อไป เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์อันดับแรกๆ จากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ล้นทำจุดสูงสุดใหม่ ซึ่งสะท้อนจากขนาดงบดุลของ 4 ธนาคารกลางขนาดใหญ่ที่ ตอนนี้อยู่ที่ระดับ 16.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าจุดสูงสุด ช่วงต้นปี 2561 ที่อยู่เพียง 15.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image