นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส หรือ ASPS เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 ปี 2563 ยังผันผวนสูงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าดัชนีหุ้นไทยยังมีโอกาสปรับลงต่ำกว่าระดับ 1,000 จุด สาเหตุจากปัจจัยกดดันหลักอย่างการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต้องติดตามว่าจะรุนแรงและยืดเยื้อไปอีกนานเท่าใด เนื่องจากโรคระบาดได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเกือบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ จึงมีการปรับประมาณเติบโตของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ลงเป็นติดลบ 1.4% จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถบวกได้ 2.8% โดยถือว่าน้อยกว่าประมาณการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินไว้ว่าทั้งปี 2563 จีดีพีจะติดลบ 5.3% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยติดหลุมที่ลึกกว่าที่ควร เพราะหากคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปจากระบบ จะอยู่ที่ประมาณ 579,000 ล้านบาท โดยมองว่าภาครัฐควรจะหาวิธีในการเติมช่องว่างของหลุมไม่ให้ลึกเกินไป ซึ่งต้องกลับมาดูที่มาตรการของภาครัฐ ในส่วนของนโยบายการเงินและการคลัง โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบทยอยออกมาเพิ่มเติม สะท้อนได้จากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง
“การระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดัน และทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยอาจทำให้จีดีพีโลกติดลบเหมือนช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงปี 2551 เนื่องจากหากอ้างอิงตัวเลขเศรษฐกิจโลกจากประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.2% แต่ยังไม่ได้รวมผลกระทบของโควิด-19 ที่ระบาดรุนแรงนอกประเทศจีน ทำให้จีดีพีจริงอาจถูกปรับลดต่ำกว่าติดลบ 0.1% ส่วนในประเทศเอง หากอ้างอิงประมาณการของธปท.ถือว่ามองไว้ค่อนข้างเลวร้ายพอสมควรเพราะจะติดลบ 5.3% เม็ดเงินหายไป 5.79 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นการติดหลุมที่ลึกมาก ทำให้ภาครัฐต้องเร่งหาวิธีทำให้หลุดนั้นตื้นที่สุด ผ่านการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งตรงจุดที่สุดจะต้องอัดเข้าไปในภาคการบริโภค จึงเห็นมาตรการแจกเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ต่อเนื่อง 3 เดือน และมีการเพิ่มจำนวนผู้ได้รับเงินเป็น 9 ล้านราย จากเดิมที่ตั้งไว้เพียง 3 ล้านราย รวมถึงยังเชื่อว่าต้องมีอีก 1 รอบในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเพิ่ม โดยนำงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เฉลี่ยเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติม ไม่รวมงบประมาณในการจ่ายลงทุนปกติ และหากรวมกับพ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉินอีก 1 ก้อน ก็จะได้เม็ดเงินที่สามารถถมรวมกันเพิ่มอีก จึงเป็นสาเหตุของการไม่รีบปรับลดประมาณการจีดีพี เพื่อรอดูเม็ดเงินที่รัฐจะสามารถถมได้ก่อน แล้วจะกลับมาประเมินอีกครั้ง” นายเทิดศักดิ์กล่าว
นายเทิดศักดิ์กล่าวว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้นรุนแรง ทำให้เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ในส่วนของทิศทางเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ขณะนี้ ฟันด์โฟลว์ไหลออกจากทุกตลาด แทบจะทั้งภูมิภาคนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ไหลออกจากประเทศไทยเท่านั้น โดยหากดูตามสถิติจะเห็นว่าภายในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ฟันด์โฟลว์ไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคนี้กว่า 35,233 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าไหลออกเยอะมาก หากเทียบกับทั้งปี 2561 ที่ฟันด์โฟลว์ไหลออกไป31,508 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเป็นปีที่เกิดสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐและจีน เป็นครั้งแรก จึงประเมินว่าแนวโน้มในการไหลออกต่อเนื่องยังคงมีอยู่ เนื่องจาก โรคระบาดยังคุมไม่ได้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ต้องหยุดชะงักไป เพื่อควบคุมโรคระบาดไม่ให้กระจายมากกว่านี้ โดยภาพรวมฟันด์โฟลว์ในตลาดทุนไทย เม็ดเงินไหลออกจากตลาดหุ้นกว่า 1.1 แสนล้านบาท และไหลออกตากตลาดตราสารหนี้กว่า 1 แสนล้านบาทเช่นกัน จึงทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 8% ซึ่งจากปัจจัยโควิด-19 ที่ยังอยู่ และค่าเงินบาทที่อ่อนค่า น่าจะทำให้เดือนเมษายนนี้ ฟันด์โฟลว์ยังไม่ไหลเข้ามา
“แต่ยังโชคดีที่มีกองทุนรวมเพื่อการออม (เอสเอสเอฟ) กองพิเศษ เข้ามาช่วยพยุงตลาดได้ถูกที่ถูกเวลา โดยเชื่อว่ากองทุนเอสเอสเอฟจะสามารถเข้ามาช่วยพยุงหุ้นได้แน่นอน แต่หากจะคาดหวังให้สามารถช่วยพยุงได้เหมือนกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ในอดีต คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแอลทีเอฟมีวงเงินในการซื้อต่อปีอยู่ที่500,000 บาท แต่เอสเอสเอฟเงื่อนไขพิเศษที่ออกมาให้วงเงินอยู่ที่ 200,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 5 เท่านั้น จึงทำให้เม็ดเงินหายไปในระดับหนึ่ง แต่ข้อดีก็คือพอมีเอสเอสเอฟเข้ามาพยุงได้พอดี จะทำให้แรงขายจากกองทุนแอลทีเอฟที่พร้อมขาย เพราะครบกำหนดขายพอดีได้พอ หากซื้อตั้งแต่ปี 2547 โดยการมีเม็ดเงินก้อนใหญ่เข้ามาเอสเอสเอฟจะชะลอการขายลงไปได้ ทำให้ช่วยดัชนีหุ้นไทยได้ จึงเชื่อว่าจะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น” นายเทิดศักดิ์กล่าว
นายเทิดศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ กำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ล่าสุดได้ปรับลดประมาณการกำไรบจ.ปีนี้ เหลือที่7.8 แสนล้านบาท ลดลง 2.19 แสนล้านบาท หรือลดลง 16.5% จากประมาณการเดิม ส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้น (อีพีเอส) ปีนี้ ลดเหลือ 72.62 บาทต่อหุ้น จาก 1 บาทต่อหุ้น หรือลดลง 17.8% หากเทียบช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยสาเหตุหลักมาจากการปรับลดกำไรในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ผลจากการปรับลดสมมุติฐานราคาน้ำมันลงรวมถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ถูกกดดันจากดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำ บวกกับเศรษฐกิจที่ชะลอ จึงมีความเสี่ยงที่จะลดดอกเบี้ยได้อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ ส่วนกลุ่มไอซีทียังมีต้นทุนจากการประมูลคลื่น 5G เพิ่มขึ้น แลเกลุ่มการบิน กลุ่มท่องเที่ยว ยังถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากยืดเยื้อกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 2 นี้ แนะนำให้สะสมหุ้นที่ปรับฐานลงมาแรง จากประเด็นโควิด-19 พร้อมกับมีโอกาสฟื้นตัวได้แรงกว่าตลาด