เดนมาร์กไม่อนุญาตให้ใช้สาร PFAS บังคับใช้ 1 ก.ค.นี้

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหาร (Ministry of Environment and Food) ของเดนมาร์ก ได้ประกาศห้ามใช้สาร Perfluoroalkyl and Polyfluoroalkyl Substances (PFAS) ในผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารทำด้วยกระดาษและกระดาษแข็ง ซึ่งจะครอบคลุมถึงวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติบริสุทธิ์และวัสดุที่หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงที่มีส่วนประกอบของเส้นใยสังเคราะห์ สารเติมแต่ง และสารอื่นๆที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมี เช่น สารยึดเกาะ ฟิล์มพลาสติก หมึก สารเคลือบเงา สารเคลือบและกาว แต่อย่างไรก็ดี จะอนุญาตให้ใช้สาร PFAS ในผลิตภัณฑ์หากมีการป้องกันไม่ให้สารดังกล่าวแพร่กระจายเข้าสู่อาหาร ทั้งนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป

ที่ผ่านมา สาร PFAS มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรจุภัณฑ์อาหาร เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยให้สามารถป้องกันความชื้นและการดูดซึมของไขมันได้ดี (เช่น กระดาษห่อขนมปัง/ขนมหวาน และถุงบรรจุข้าวโพดคั่วสำหรับเข้าไมโครเวฟ เป็นต้น) อย่างไรก็ตามสารดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ เช่น คอเลสเตอรอลสูง มะเร็งอัณฑะ ความดันโลหิตสูง และภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น นอกจากนี้สาร PFAS ยังคงตกค้างในสิ่งแวดล้อม แม้ว่าผลิตภัณฑ์จะหมดอายุการใช้งานไปแล้วก็ตาม จึงจำเป็นต้องควบคุมการใช้สารดังกล่าว

จากข้อมูลสถิติการส่งออก ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสอาหารทำด้วยกระดาษและกระดาษแข็งไปยังตลาดโลก (พิกัด 4811.59.20) ในปี 2559-2561 มีมูลค่า 9.90 4.60 และ 7.90 ล้านบาทตามลำดับ และในปี 2562 (เดือน ม.ค.-ต.ค.) มีการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังตลาดโลก มูลค่า 3.50 ล้านบาท ลดลง 52.05% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image