‘ประธานศาลฎีกา’ออกประกาศคำแนะนำแนวปฏิบัติสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด

“ไสลเกษ”ออกคำเเนะนำปฎิบัติประธานศาลฎีกาเเนวปฏิบัติทุกศาลระหว่างโควิดระบาด ฉบับ3 ครอบคลุม3ด้าน บริการจัดการคดี เน้นเลื่อนอ่าน-นัดคดีช่วง1-30เม.ย. ขยายการเข้าถึงการปล่อยชั่วคราวลดเเออัดในเรือนจำ บริหารจัดการบุคคล ให้ลด เจ้าหน้าที่-ปชช. มาศาล ด้านจัดการสถานที่ ให้ป้องกันและสำรวจความปลอดภัยกันโรคตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 2 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ออกประกาศ คำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 2 เมษายน ความว่า ตามที่ปรากฏสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.- 30เม.ย. 63 อีกทั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้แจ้งให้หน่วยราชการลดเวลาและวันทำงาน เพื่อให้ข้าราชการพนักงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ออกจากที่พักอาศัยน้อยที่สุด หรือไม่ต้องออกจากที่พักอาศัยเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อควบคุมไม่ให้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง ประกอบกับประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่องการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ มติคณะอนุกรรมการศึกษาติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในการประชุมครั้งที่ 1/ 2563 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. จึงเห็นควรให้คำแนะนำ เกี่ยวกับมาตรการการบริหารจัดการคดีและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันดังนี้

ด้านการบริหารจัดการคดี

1.ตามที่ได้มีประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมเรื่องการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease: COVID-19) ให้ศาลชั้นต้นทุกศาลเลื่อนนัดพิจารณาคดีจัดการพิเศษคดีสามัญและคดีสามัญพิเศษออกไป โดยมีข้อยกเว้นประเภทคดีตาม ข้อ 1.1-1.3 และข้อ 2.1-2.2 นั้น บัดนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคมีแนวโน้มรุนแรงและขยายตัวมากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้ข้าราชการพนักงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องออกจากที่พักอาศัยน้อยที่สุด หรือเดินทางจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งให้น้อยที่สุด ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินข้างต้น จึงเห็นควรให้ผู้รับผิดชอบราชการศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาให้เลื่อนคดีจัดการพิเศษคดีสามัญและคดีสามัญพิเศษทุกคดี ที่นัดในช่วงเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คือระหว่างวันที่1-30 เม.ย.2563

Advertisement

2.การบริหารจัดการคดีจัดการพิเศษที่เลื่อนคดีไปตามประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่องการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ดำเนินการดังนี้

2.1 กรณีที่ศาลประกาศเลื่อนวันนัดและกำหนดวันนัดใหม่แล้ว ให้งดการออกหมายและส่งหมายแจ้งวันนัดใหม่แก่คู่ความในระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. แต่ให้ประกาศแจ้งคู่ความทราบทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโทรศัพท์แจ้งวันนัดไว้พลางก่อนได้

2.2 กรณีที่ศาลประกาศเลื่อนวันนัดแต่ยังไม่ได้กำหนดวันนัดใหม่ หรืออยู่ระหว่างประสานกับคู่ความเพื่อขอวันนัดให้ประสานขอวันนัดจากคู่ความทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโทรศัพท์และควรเปิดช่องทางให้คู่ความแสดงความจำนงขอวันนัดใหม่ได้เองด้วย โดยให้ผู้รับผิดชอบราชการศาลกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ให้พิจารณากำหนดกรอบจำนวนคดีที่นัดในแต่ละวันให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดโดยให้งดการออกหมายและส่งหมายแจ้งวันนัดใหม่แก่คู่ความใน

Advertisement

2.3 คดีที่รับฟ้องใหม่ ควรกำหนดวันนัดพิจารณาคดีในช่วงตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย. 2563 เป็นต้นไป แล้วแต่ปริมาณคดีของศาล แต่ควรกำหนดกรอบจำนวนคดีที่นัดให้น้อยกว่าปกติเพื่อรองรับคดีจัดการพิเศษเดิมที่เลื่อนคดีมา โดยให้งดการออกหมายและส่งหมายแจ้งวันนัดใหม่แก่คู่ความในระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. ไว้พลางก่อน

3.การบริหารจัดการคดีสามัญและคดีสามัญพิเศษที่เลื่อนคดีไปตามประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่องการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ดำเนินการดังนี้

3.1 กรณีที่ศาลประกาศเลื่อนวันนัดและกำหนดวันนัดใหม่แล้ว ให้งดการออกหมายและส่งหมายแจ้งวันนัดใหม่แก่คู่ความในระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. แต่ให้ประกาศแจ้งคู่ความทราบทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโทรศัพท์แจ้งวันนัดไว้พลางก่อนได้
3.2กรณีที่ศาลประกาศเลื่อนวันนัดแต่ยังไม่ได้กำหนดวันนัดใหม่ให้จัดทำบัญชีคุมคดีที่เลื่อนทั้งหมด และนำมาตรวจสอบว่าคดีที่เลื่อนดังกล่าวใช้วันนัดสืบพยานรวมกี่วันนัดเพื่อให้สามารถทราบช่วงระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการสืบพยานสำหรับคดีที่เลือนมาดังกล่าว แล้วกันวันนัดสำหรับคดีเหล่านั้นตามจำนวนวันนัดที่ต้องการใช้ในวันว่างของศาลตามบัญชีศูนย์นัดความ จากนั้นให้ประสานขอวันนัดจากคู่ความในช่วงเวลาดังกล่าวโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโทรศัพท์และควรเปิดช่องทางให้คู่ความแสดงความจำนงขอวันนัดใหม่ได้เองด้วย โดยให้ผู้รับผิดชอบราชการศาลกำหนดให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ให้พิจารณากำหนดกรอบจำนวนคดีที่นัดในแต่ละวันให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด โดยให้งดการออกหมายและส่งหมายแจ้งวันนัดใหม่แก่คู่ความในระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. ไว้พลางก่อน

3.3สำหรับคดีใหม่ที่ยังไม่ได้กำหนดวันนัดในศูนย์นัดความควรกำหนดวันนัดพิจารณาคดีในช่วงต่อจากระยะเวลาในข้อ 3.2 โดยให้งดการออกหมายและส่งหมายแจ้งวันนัดใหม่แก่คู่ความในระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย. ไว้พลางก่อน

4.กรณีจำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่การอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง การสอบถามคำให้การ การตรวจพยานหลักฐานให้ถือปฏิบัติตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือสถานที่กักขังในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019

5.คดีที่มีการนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลสูงในระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย.2563

5.1คดีแพ่ง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 140 (3) วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าคู่ความไม่มาศาล ศาลจะงดการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ได้…ดังนั้นจึงให้คงวันนัดเดิมไว้

5.2 คดีอาญา
กรณีจำเลยทุกคนในคดีได้รับการปล่อยชั่วคราว ให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาและแจ้งให้คู่ความทราบ เว้นแต่คู่ความแจ้งให้ศาลทราบว่าประสงค์จะฟังคำพิพากษาตามกำหนดเดิม ก็ให้อ่านคำพิพากษาไปได้ โดยกำหนดมาตรการเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

กรณีจำเลยบางคนหรือทุกคนในคดีถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ให้อ่านคำพิพากษาตามกำหนดนัดเดิมโดยใช้วิธีการตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือสถานที่กักขังในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19สำหรับจำเลยที่ถูกคุมขัง

6. คดีที่ครบกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือฎีกาในระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย.2563 หากคู่ความยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลพึงใช้ดุลพินิจในทางที่เป็นคุณแก่คู่ความโดยเฉพาะคดีอาญาซึ่งจำเลยต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา ควรพิจารณาอนุญาตให้ขยายระยะเวลาไปก่อน

7.การพิจารณาคำสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในทุกชั้นศาล ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2562 และเพื่อมิให้เป็นการเพิ่มความแออัดในเรือนจำอันอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของจำเลย หรือเงื่อนไขอื่นใดเช่นการให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของจำเลย หรืออาจมีคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับดูแลจำเลยตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.มาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ. 2560
การรายงานตัวต่อศาล ศาลควรกำหนดให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย รายงานตัวทางโทรศัพท์ หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดแทนการเดินทางมาศาล

ด้านการบริหารจัดการบุคลากร

1. ให้ผู้รับผิดชอบราชการศาลจัดให้ผู้พิพากษามาปฏิบัติหน้าที่เวรในด้านต่าง ๆ ตามจำนวนที่เหมาะสม โดยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ สำหรับผู้พิพากษาที่มีคดีต้องนั่งพิจารณา ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่ทำการ หากไม่มีคดีต้องนั่งพิจารณาและไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่เวร ให้ผู้รับผิดชอบราชการศาลมอบหมายงานให้ทำงาน ณ ที่พักอาศัยได้

2. ให้ผู้รับผิดชอบราชการศาลจัดให้ข้าราชการศาลยุติธรรมมาปฏิบัติหน้าที่ ณ ที่ทำการ หรือนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน ตามหนังสือสำนักงานศาลยุติธรรม ด่วนที่สุดที่ ศย 004/ ว 24 (ป) ลงวันที่ 24 มี.ค. 63 เรื่องมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อลดจำนวนบุคลากรที่ต้องมาปฏิบัติงาน ณ ที่ทำการให้น้อยลงอย่างน้อยหนึ่งในสาม แต่หากหน่วยงานใดมีบุคลากรตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไป ให้พิจารณาลดลงเกินกว่าเกณฑ์ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลายลง

3.ให้ผู้รับผิดชอบราชการศาลพิจารณาลดจำนวนประชาชนที่ต้องเข้ามาในศาล ไม่ว่าเพื่อติดต่อราชการหรือเข้ามาเพื่อร่วมรับฟังการพิจารณา (หากมี) โดยให้ดำเนินการตามตามหนังสือสำนักงานศาลยุติธรรมด่วนที่สุดที่ ศย 029/ ว 68(ป) ลงวันที่ 26 มี.ค. 63 เรื่อง แนวปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยกรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)ทั้งนี้ศาลควรจัดให้มีการบันทึกรายการยืนยันตัวบุคคลที่เข้ามาในศาล เช่น การใช้เครื่องอ่านบัตรประชาชน หรือการจดบันทึกข้อมูลส่วนตัวของบุคคล เพื่อเป็นฐานข้อมูลหากมีกรณีที่ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ด้านการบริหารจัดการอาคารสถานที่

1.ศาลควรกำหนดมาตรการในด้านต่าง ๆ ตามแนวปฏิบัติและคำแนะนำของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของศาลยุติธรรม
2.เห็นควรให้มีการสำรวจมาตรการด้านความปลอดภัยของศาลต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้ทุกศาลมีความปลอดภัยสูงสุด ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image