แรงงานท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคนป่วน “ประกันสังคม” ยืนยันไม่จ่ายชดเชยกรณี ประกาศปิดกิจการชั่วคราวเอง

ขอบคุณ ประชาชาติธุรกิจ

แรงงานท่องเที่ยวกว่า 2 ล้านคนป่วน “ประกันสังคม” ยืนยันไม่จ่ายชดเชยกรณี ประกาศปิดกิจการชั่วคราวเอง

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ สทท.ได้พยายามเจรจากับกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง พนักงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จนต้องปิดกิจการชั่วคราว เนื่องจากขณะนี้มีปัญหาว่า สำนักงานประกันสังคมแจ้งว่า กรณีที่ผู้ประกอบการปิดกิจการชั่วคราวเอง ลูกจ้างจะไม่ได้รับการชดเชยจากประกันสังคม

ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการ “ลูกจ้างผู้ประกันตน” ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามมติ ครม.(24 และ 31 มีนาคม 2563) แบ่งเป็น 2 กรณีเท่านั้น คือ 1.กรณีภาครัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว และ 2.ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน (ให้ออก-ลาออกเอง) เหตุจากโควิด-19 ส่วนผู้ประกอบการที่ “ปิดกิจการชั่วคราว” เนื่องจากไม่มีลูกค้าและไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อ 30 มีนาคมที่ผ่านมา สทท.ได้นำผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำนวน 13 สาขาอาชีพ ทั้งสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA), สมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.), สมาคมภัตตาคารไทย, สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย ฯลฯ เข้าประชุมหารือร่วมกับกระทรวงแรงงานประเด็นหลักในการหารือครั้งนี้คือ 1.ขอให้ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมได้รับสิทธิในการขอเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคมด้วย เนื่องจากสถานการณ์ในวันนี้ธุรกิจไม่สามารถเดินหน้า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว แต่ธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่เข้าข่ายที่รัฐบาลสั่งให้ปิดชั่วคราว ทำให้ไม่เข้าข่ายได้รับเงินชดเชยจากสำนักงานประกันสังคม ทาง สทท.จึงแสดงความประสงค์ว่าธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบพร้อมที่จะปิดตัวเองทั้งหมด และขอให้ทางกระทรวงแรงงานช่วยดูแลลูกจ้างในภาคธุรกิจท่องเที่ยวด้วย

Advertisement

และ 2.ขอเลื่อนการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม จากที่มีมติลดเก็บเหลือ 4% จากผู้ประกอบการ และ 1% จากลูกจ้างเป็นเวลา 3 เดือน ให้เลื่อนการจ่ายสมทบออกไปแบบไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์จะพลิกฟื้นและธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง และให้ภาครัฐช่วยจ่ายแทน เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ถือว่าไม่ใช่ภาวะปกติ

“ตอนนี้รัฐบาลประกาศจ่ายชดเชยรายได้ให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่คนที่จ่ายประกันสังคมกลับไม่ช่วยเหลือเลย และแจ้งข้อมูลว่าประกันสังคมจะช่วยก็ต่อเมื่อสถานประกอบการนั้น ๆ มีคนเป็นโรคระบาดแล้วเท่านั้น จุดนี้ถือว่าคิดผิด น่าจะใช้วิธีป้องกัน ไม่ใช่รอให้มีคนป่วยก่อนถึงเข้าไปช่วย”นายชัยรัตน์กล่าวและว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทุกเซ็กเตอร์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย และภาคแรงงานที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจท่องเที่ยวรวมกว่า 4 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว กระทั่งขณะนี้ทุกส่วนไม่สามารถแบกรับต้นทุนต่อไปได้แล้ว โดยแรงงานท่องเที่ยวประมาณ 60-70% อยู่ในระบบประกันสังคม หรือประมาณ 2 ล้านคน

ก่อนหน้านี้กลุ่มเอเย่นต์ทัวร์, รถขนส่ง, ผู้ประกอบการแหล่งท่องเที่ยวทยอยปิดตัวและปิดกิจการชั่วคราวไปแล้วเกือบทั้งหมด ตอนนี้ถึงคิวกลุ่มโรงแรมที่กำลังไล่ปิดให้บริการกันทั่วประเทศ ตอนนี้ทางภาคใต้ ภูเก็ต, กระบี่, พังงา, สมุย, พะงัน ฯลฯ ทยอยปิดกิจการชั่วคราวอย่างน้อย 6 เดือน เหลือให้บริการอยู่น้อยมาก ที่ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติตกค้างอยู่บ้าง เช่นเดียวกับทางฝั่งตะวันออกอย่างพัทยา ชลบุรี ก็ทยอยปิดให้บริการแล้วเช่นกัน ทั้งที่เป็นรายเล็กและรายใหญ่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image