ธปท.ออกพ.ร.ก.นำเงินมาทำซอฟท์โลน-อุ้มตราสารหนี้เอกชน บี้แบงก์ลดดอกเบี้ย

ธปท

ครม.นัดพิเศษ เห็นชอบ ธปท.ออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ นำเงินมาทำซอฟท์โลน-ซื้อตราสารหนี้เอกชน รวมถึงมีมติให้ลดเงินนำส่ง FIDF4 เหลือ 0.23% ของเงินฝาก เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงอีก รวมถึงขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก 5 ล้านบาทออกไปอีก 1 ปี เป็นส.ค.ปีหน้า ลดความกังวลของประชาชน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวภายหลังประชุมครม.นัดพิเศษว่า ธปท.เตรียมออก พ.ร.ก. 2 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก.เพื่อให้ธปท..นำเงินของธปท.มาทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) คล้ายกับที่ดำเนินการในปี 2555 หลังน้ำท่วมใหญ่ โดยซอฟท์โลนของธปท.จะมีขนาดใหญว่าที่ธนาคารออมสินเคยให้ซอฟท์โลน(1.5 แสนล้านบาท) ซึ่งซอฟท์โลนของธปท.เน้นดูแลธุรกิจขนาดกลางใน ขณะที่ของออมสินเน้นดูแลเอสเอ็มอีและธุรกิจรายย่อย

นอกจากนี้เตรียมออกพ.ร.ก.เพื่อให้ ธปท.สามารถเข้าซื้อไปตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนด(โรลโอเวอร์) แต่ต้องเป็นตราสารที่ผู้ออกมีคุณภาพดีและต้องระดมทุนจากตลาดเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งไปแล้ว ซึ่ง ธปท.จะเข้าไปเป็นส่วนเติมเต็มให้ตลาดทำหน้าที่ได้ตามปกติ โดยมีเงื่อนไขในการคัดกรองให้แน่ใจว่าเป็นบริษัทที่ดี ตรงนี้เป็นมาตรการในลักษณะสร้างหลังพิงให้กับตลาดตราสารหนี้เอกชน

นายวิรไท กล่าวว่า นอกจากนี้ครม.นัดพิเศษเห็นชอบหลักการการขยายระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากออกไป 1 ปี เป็นสิงหาคม 2563 ซึ่งในเรื่องนี้ต้องเรียนยืนยันว่า สถาบันการเงินวนประเทศไทยมีความมั่นคงมาก แต่ขณะนี้มีประชาชนที่กังวลเพราะการคุ้มครองเงินฝากจะลดลงเหลือ 1 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคมนี้  โดยคณะกรรมการสำนักงานคุ้มครองเงินฝากมีความเห็นว่าถ้าขยายออกไปก่อนอีก 1 ปี เป็นเดือนสิงหาคม ปีหน้า จะช่วยลดความกังวลของประชาชนได้

Advertisement

นอกจากนี้ที่ประชุมให้เลื่อนการนำส่งเงินสมทบของธนาคารพาณิชย์ที่จะไปใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน( FIDF4) โดยจะลดเหลือ 0.23% จากที่เคยเก็บ 0.46% ของเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้ธนาคารลดดอกเบี้ยให้ประชาชนและผู้ประกอบการ โดยก่อนหน้านี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมา 2 ครั้งในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมา ถ้าจะทำให้การส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ภาคธุรกิจและประชาชนได้ตรงนี้อาจเป็นต้นทุนทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยให้ประชาชนได้ จึงเสนอให้ลดเงินนำส่งดังกล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า  วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ระบบการเงินมีความเข้มแข็งสามารถเป็นเสาหลักสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจได้ ขณะเดียวกัน ต้องให้แน่ใจว่า ตลาดการเงินยังทำหน้าที่ได้อย่างเป็นปกติ ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือก.ล.ต.และธปท.ร่วมพิจารณากลไกที่สำคัญ ที่จะช่วยดูแลตลาดตราสารหนี้ของภาคเอกชนที่วันนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก โดยมีขนาดถึง 3.5 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยในระบบ 14 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ผู้ถือตราสารหนี้ภาคเอกชนนี้จะครอบคลุมประชาชนหลากหลายประเภท และองค์กรหลายประเภท เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนรวมตราสารหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ มีธุรกิจจำนวนมากที่อาศัยการกู้ยืมเงินตราสารหนี้เอกชน ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากโควิด -19 ได้ลามไปยังตลาดตราสารหนี้โลกและลามมาตราสารหนี้ในไทย รวมทั้งมีความไม่แน่นอนในสถานการณ์เศรษฐกิจข้างหน้า ทำให้ตราสารหนี้เอกชนทำหน้าที่ไม่ปกติ จึงจำเป็นต้องออกมาตรการมาช่วยเหลือ

Advertisement

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ครม. นัดพิเศษเคาะมาตรการเยียวยาศก.ชุด 3 คาดวงเงินสูงถึง 1.6 ล้านล้านบ.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image