ค้าปลีกไทยอ่วมพิษโควิด-19 ยอดขายติดลบ10% วูบ 2 แสนล./เดือน

สมาคมค้าปลีกไทยชี้ ไวรัสโควิด-19 ทุบน่วม หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ไตรมาส 1/2563 อุตสาหกรรมค้าปลีกติดลบ 5-10% ย้ำ กทม.ประกาศปิดห้างหวังลดการแพร่ระบาด กระทบ 150,000 ราย ยอดขายหายวับ 2 แสนล้าน/เดือน คาดหากสถานการณ์ลากยาว แรงงาน 1.5 ล้านคน จ่อตกงาน

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกราคมที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ (1 เมษายน) มีระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งสมาคมผู้ค้าปลีกไทยประเมินว่า สถานการณ์จะยืดเยื้อกว่าที่คาด โดยการแพร่ระบาดจะถึงจุดสูงสุดในเดือนเมษายน หลังจากนั้นสถานการณ์จะดีขึ้น และจะสกัดการแพร่ระบาดได้ในเดือนมิถุนายน นั่นหมายถึงว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบเต็มที่ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2563 และมีผลต่อเนื่องอีกราว 3-4 เดือน

สำหรับธุรกิจค้าปลีกเองก็ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประกาศให้ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ปิดดำเนินการเพื่อลดการแพร่ระบาด ซึ่งทำให้ยอดขายสินค้ากลุ่มต่าง ๆ ลดลงมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มเสื้อผ้าสินค้าแฟชั่น กลุ่มเครื่องใช้ในบ้าน และมีเพียง 2 กลุ่มหลักที่ยังมียอดขาย คือ กลุ่มอาหารสด-อาหารแห้ง และกลุ่มเครื่องอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

นายฉัตรชัยย้ำว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน และถือเป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสมาก เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 แต่ทุกคนต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าปลีกทุกรายก็ได้มีการปรับตัว ด้วยการพยายามหาช่องทางใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการขายสินค้า เช่น การขายผ่านออนไลน์ ซึ่งก็จะช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะยอดขายของออนไลน์ยังมีไม่มากนัก และโดยธรรมชาติของค้าปลีก รายได้จะมาจากหน้าร้าน หรือออฟไลน์เป็นหลัก มากกว่า 98%

Advertisement

“ตอนนี้แม้รายได้จะลดลงมาก แต่ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ยังไม่มีการปรับลดพนักงาน และผู้ประกอบการยังรักษาสภาพการจ้างงานไว้ และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายหรือฟื้นตัวดีขึ้น การกลับมาเปิดให้บริการใหม่ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องพนักงาน โดยส่วนตัวมองว่าศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า น่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 แต่ก็อาจจะยังไม่เต็มที่นัก เพราะอยู่ในช่วงอาฟเตอร์ช็อก และจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้นตั้งแต่ขึ้นไตรมาสที่ 4 เป็นต้นไป” นายฉัตรชัยกล่าว

รายงานข่าวจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกไทยว่า ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ลดลงกว่าร้อยละ 5-10 จากกำลังซื้อที่อ่อนตัวลง และเริ่มมีการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่าในประเทศจีน และส่งผลให้นักท่องเที่ยวหายไปกว่า 40-50% และธุรกิจค้าปลีกก็ลดลงมากถึงร้อยละ 20 ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก ในย่านเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ รวมถึงร้านค้าปลีกแฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ต่างก็ได้รับผลกระทบมาก จนกระทั่งกลางเดือนมีนาคม ที่มีการประกาศมาตรการเข้มข้นเพื่อหยุดการแพร่เชื้อโควิด-19 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และจังหวัดต่าง ๆ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และห้างค้าปลีกต้องปิดกิจการ และไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ (ยกเว้น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด) โดยเฉพาะช่วงท้ายของเดือนมีนาคมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด และคาดว่าจะลดลงถึงร้อยละ 20-30 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สรุปโดยรวมแล้วคาดว่า การเติบโตของภาคธุรกิจค้าปลีกในไตรมาส 1/2563 น่าจะเติบโตติดลบร้อยละ 5-10 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การประกาศมาตรการปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ของ กทม. และจังหวัดต่าง ๆ ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารต่าง ๆ ที่มีร้านในศูนย์การค้าและห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ไม่สามารถดำเนินการได้ คาดว่าจำนวนธุรกิจที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้มีมากกว่า 150,000 ราย โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเอสเอ็มอีในศูนย์การค้ามีมากกว่า 100,000 ราย และประมาณการยอดขายที่หายไปในระบบการบริโภคกว่า 2 แสนล้านต่อเดือน และหากสถานการณ์จะยืดเยื้อ แรงงานลูกจ้างพนักงานในระบบประกันสังคมที่คาดว่าอาจจะมีการยกเลิกการจ้างงานมากกว่า 1.0-1.5 ล้านคน และแรงงานลูกจ้างอิสระนอกระบบโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กอย่างเอสเอ็มอีมากกว่า 3 ล้านคน

Advertisement

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image