เจ้าทองดี กระทิงป่าแสนรู้ หนีภัยแล้ง ขอน้ำสวนไผ่ลุงโชคกินประทังชีวิต ห่วงสูญเสียครั้งใหญ่

เจ้าทองดี กระทิงป่าแสนรู้ หนีภัยแล้ง ขอน้ำสวนไผ่ลุงโชคกินประทังชีวิต ห่วงสูญเสียครั้งใหญ่

เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายโชคดี ปรโลกานนท์ เจ้าของสวนลุงโชค อำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 17.10 น.วันที่ 6 เมษายน 2563 “เจ้าทองดี” กระทิงป่าแสนรู้ อายุ 8 ปี ได้ลงจากเขาเข้ามาในสวนลุงโชคของตนเองที่บ้านคลองทุเรียน ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อหาแหล่งน้ำกินเนื่องจากช่วงนี้อำเภอวังน้ำเขียวเกิดภัยแล้ง สัตว์ป่าขาดแคลนน้ำกิน เป็นเหตุให้ “เจ้าทองดี” กระทิงป่าเพศผู้ ได้ลงจากเขามาหาน้ำกิน ซึ่งในสวนของตนเองก็ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นเดียวกัน ตนจึงใช้สายยางเปิดน้ำใส่กระถางให้เจ้าทองดีกิน

ซึ่งทองดีก็กินน้ำด้วยความกระหาย และเดินหากินใบไผ่ ผักบุ้ง และหญ้าในสวนลุงโชคอย่างสบายอารมณ์เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง ทองดีก็ขึ้นไปพักผ่อนบนเนินเขาที่บ้านคลองทุเรียน โดยทองดีเป็นกระทิงป่าที่คุ้นเคยกับตนเองรวมทั้งสมาชิกในครอบครัวและสุนัขที่เลี้ยงไว้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ทองดีมักจะลงมาหาอาหารและน้ำกินที่สวนตนเองปีละ 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งที่บนเนินเขาประสบภัยแล้งขาดแคลนอาหารและแหล่งน้ำ

นายโชคดีกล่าวอีกว่า ทองดีเป็นกระทิงเพศผู้ อายุประมาณ 8 ปี เป็นลูกของนางมะลิ กระทิงหลงที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เลี้ยงเอาไว้ พอมะลิเป็นสาวก็ไปติดตัวผู้ในป่าและคลอดทองดีออกมา พฤติกรรมของทองดีจึงเป็นกระทิงเลี้ยงแบบปล่อย เดิมอาศัยหากินอยู่ที่ผากระดาษในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต่อมาทองดีได้เดินหากินอาหารมาเรื่อยๆ และหนีจากแนวเขตป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ฝั่งอำเภอปากช่อง เพราะมีการบุกรุกแหล่งอาหารของกระทิงทำเป็นการเกษตร บ้านพัก โรงแรม รีสอร์ต

รวมถึงสนามกอล์ฟ ทองดีได้หนีจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มาหากินอยู่แถวเนินเขาบ้านคลองทราย, คลองทุเรียน และบุเจ้าคุณ ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เป็นกระทิงที่มีพฤติกรรมเหมือนสัตว์เลี้ยง คุุ้นกับคน แต่ทองดีโชคร้ายตาด้านขวาบอด ซึ่งตนสันนิษฐานว่าน่าจะถูกงูพ่นพิษใส่ขณะหากินอาหาร ที่ผ่านมาทองดีไม่เคยทำร้ายคนหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ แต่อย่างใด

Advertisement

นายโชคดี ปรโลกานนท์ อดีตประธานกลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้าและปราชญ์ชาวบ้านอำเภอวังน้ำเขียวกล่าวในตอนท้ายว่า สิ่งที่ตนเป็นห่วงขณะนี้คือโรคระบาดในสัตว์เลี้ยง เช่น กาฬโรคแอฟริกาซึ่งกำลังระบาดในฟาร์มม้า เขตอำเภอปากช่อง และมีม้าล้มตายเกือบ 150 ตัวแล้ว ถ้าเกิดว่าแมลงที่เป็นพานะของโรคนำเชื้อมาแพร่ระบาดในสัตว์ป่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติทับลาน หรือในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ฝูงกระทิงป่าที่เขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว ที่มีอยู่กว่า 300 ตัว จะเกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมาทันที เพราะสัตว์ป่าไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มีใครคอยดูแล จึงขอวอนฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดจากม้าเลี้ยงไปสู่สัตว์ป่าอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ประเทศไทยเกิดการสูญเสียสัตว์ป่าครั้งใหญ่ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image