ดร.โกร่ง เสนอ 11 ข้อกระตุ้นศก.ครัวเรือน แนะขึ้นเงินเดือน ลดค่าน้ำค่าไฟค่ารถ ลดดอกเบี้ย-ค่าบาท

ดร.โกร่ง เสนอ 11 ข้อ กระตุ้นเศรษฐกิจครัวเรือน แนะขึ้นเงินเดือน , ลดค่าน้ำค่าไฟค่ารถ ลดดอกเบี้ย ลดค่าบาทฯลฯ  

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. รัฐบาลเห็นชอบมาตรการเยียวยาโควิด-19 ระยะที่ 3 โดยออกพ.ร.ก. 3ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ขณะที่หลายฝ่าย เสนอความเห็นรัฐบาลในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ ” ดร.โกร่ง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.คลัง เขียนบทความเรื่อง”กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ” ในมติชนรายวัน ตอนหนึ่ง ว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจของครัวเรือนควรทำอะไรได้บ้าง พร้อมระบุเป็นข้อ 11 ข้อด้วยกัน คือ  1.ขึ้นเงินเดือนข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจอย่างน้อย 15-20 เปอร์เซ็นต์ ทุกระดับตั้งแต่ระดับล่างถึงระดับสูง

2.ดำเนินนโยบายลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าผ่านทาง ค่ารถไฟ รถเมล์ แล้วตั้งงบประมาณชดเชยให้กับครัวเรือนและอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมที่ผลิตไฟใช้เองก็ควรได้รับการชดเชยด้วย

3.ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีก ให้เข้าใกล้ 0.25 – 0.5 เปอร์เซ็นต์ ลดส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงอีก และแทรกแซงตลาดเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนลง อย่างน้อยค่าเงินบาทควรอยู่ที่ 35-40 บาทต่อดอลลาร์

Advertisement

4.เร่งจัดขบวนการการจัดซื้อจัดจ้างให้เร็วขึ้น ปรับปรุง พ.ร.บ.การร่วมทุนของรัฐกับเอกชนให้คล่องตัวยิ่งขึ้น ลดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมลงในส่วนที่ไม่จำเป็น ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ในเรื่องเป้าหมายการลงทุน ความต้องการให้เม็ดเงินได้กระจายเข้าไปสู่ระบบโดยเร็ว เพื่อให้ค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยกับรายได้จากการส่งออกลดลง แม้ว่าการลงทุนของภาครัฐบาลจะมีขนาดเพียงร้อยละ 16-17 ของรายได้ประชาชาติก็ตาม

5.เร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อันได้แก่โครงการทางรถไฟรางคู่ สนามบินแห่งที่ 2 ในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ อุดร ขอนแก่น แม้ว่าการจราจรจะยังไม่คับคั่งก็ควรลงทุนเพื่อสร้างอุปสงค์ในการใช้

6.อนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายจากการลงทุนได้เป็น 3-4 เท่าของเงินลงทุนของเอกชน ซึ่งบัดนี้ก็ได้อนุญาตให้หักได้มากกว่า 1 เท่าของเงินลงทุนอยู่แล้ว

Advertisement

7.ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกระดับลงมาอีก ภาษีเงินได้ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการลดช่องว่างของรายได้ เพราะพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล รายได้สำหรับคนชั้นสูงส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยและเงินปันผล ไม่ใช่เงินเดือนและค่าจ้าง ควรนำไปใช้ลดช่องว่างในเรื่องคุณภาพชีวิตระหว่างคนรวยกับคนจนมากกว่า

8.การลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคด้านต่างๆ อาจจะติดขัดที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในยามนี้ก็ควรลดขั้นตอนของการพิจารณาให้สั้นและเร็วขึ้น เพราะเป็นยามที่รัฐบาลต้องทำโดยวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่เพียงเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น ต้องขจัดความไม่รู้ขององค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอที่สร้างกระแสความตระหนกในสังคม เพื่อไม่ให้ประชาชนและประเทศชาติเสียโอกาส

9.เพิ่มรายจ่ายและลดรายได้ของรัฐบาลลงทั้ง 2 ด้าน ให้มีเม็ดเงินในตลาดให้ได้ประมาณร้อยละ 10 ของรายได้ประชาชาติต่อปี ติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี อาจจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42 เป็นร้อยละ 70 ซึ่งก็ยังอยู่ในกรอบของวินัยการคลัง แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลต้องเพิ่มการขาดดุลงบประมาณขึ้นอีกในยามนี้ก็ยังต้องทำและตั้งเป้าหมายว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ในระดับไม่เกินรายได้ประชาชาติ เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศยังแข็งแรง

10.ค่าเงินบาทยังแข็งเกินไป เงินบาทต้องอ่อนตัวลงไป จาก 33 บาทต่อดอลลาร์ให้กลายเป็น 35 บาทดอลลาร์ในปี 2563 และเป็น 40 บาทในปี 2564 ก็จะทำให้ความซบเซาทางเศรษฐกิจในบ้านเราลดลงไปได้บ้าง ทุนสำรองระหว่างประเทศจะลดลงไปบ้างก็ไม่น่าจะมีปัญหา

11.หลายประเทศได้ทำการจัดงบประมาณแผ่นดินใหม่โดยการลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมลง แล้วโอนไปใช้ในการป้องกันและเยียวยาผลกระทบจากโรคระบาดในคราวนี้
ฯลฯ
ติดตามอ่านบทความฉบับเต็ม ซึ่งมีรายละเอียดน่าสนใจได้ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 9เม.ย. 2563 หรือติดตามในมติชนออนไลน์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image