‘บัณฑูร ล่ำซำ’ ยันไม่เล่นการเมือง วางมือจากนายแบงก์ เหตุถึงจุดอิ่มตัว หลังทำมา 40 ปี

‘บัณฑูร ล่ำซำ’ ยันไม่เล่นการเมือง วางมือจากนายแบงก์ เหตุถึงจุดอิ่มตัว หลังทำมา 40 ปี

 นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า นับจากวันที่รับบทบาทเป็นายแบงก์ ก็ทำหน้าที่มาเป็นเวลา 40 ปี จึงคิดว่าเพียงพอที่จะหันไปทำอะไรใหม่ๆ บ้าง โดยการส่งไม้ต่อให้กับผู้นำรุ่นใหม่ในช่วงวิกฤตขณะนี้ถือว่าเป็นสิ่งท้าทาย เนื่องจากเชื่อมั่นในทีมบริหารทั้งหมด ว่าจะสามารถขับเคลื่อนองค์กรเดินไปต่อได้ จึงไม่มีความกังวลอะไรต่อการลงจากตำแหน่งในครั้งนี้ โดยยืนยันว่าหลังจากนี้หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โครงการที่สามารถทำได้ ก็ยังสานต่อโครงการเหล่านั้นต่อไป และเชื่อว่าคงไม่ได้มีผลกระทบอะไร เพราะไม่ได้จะเข้าไปเล่นการเมือง แต่หากถามว่าต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ ก็คงต้องทำ เพราะเป็นฝ่ายที่ได้รับอำนาจจากประชาชนในการบริหารแผ่นดิน จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องทำงานร่วมกับรัฐบาล ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการต่อไป

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ถือว่าหนักหนามาก คนที่รับผิดชอบทั้งรัฐบาล และ บุคลากรทางการแพทย์ก็ทำงานหนักมาก รวมถึงยังเสี่ยงตายด้วย ซึ่งก็จะต้องสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และมีเครื่องไม้เครื่องมือในการสู้กับโรคระบาดได้ครบถ้วน โดยหากให้เปรียบเทียบความรุนแรงระหว่างวิกฤตต้มยำกุ้งและการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นความรุนแรงคนละแบบ ต้มยำกุ้งเป็นพายุของความโลภของมนุษย์ที่เกินพอดี เกิดความเสียหายและสร้างความเจ็บปวดให้กับชีวิตมนุษย์ ส่วนโรคระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องที่จะโทษมนุษย์โดยตรงไม่ได้ แต่ผลกระทบก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์เช่นเดียวกัน เพราะทำให้เกิดการหยุดชะงักของการทำมาหากิน และประชาชนมีกินน้อยลงชั่วคราว แต่ยังหวังว่าจะสามารถแก้ไขทัน เพราะการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในขณะนี้ ก็ดูจะได้ผลตามลำดับ โดยตอนนี้เกิดความยากลำบากในทั่วหน้า ทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้ยาก และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ที่แก้ปัญหาของรัฐบาลก็คงเหนื่อยด้วยกันทั้งหมด ซึ่งหากทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหาในรูปแบบต่างๆ ร่วมกัน ก็น่าจะไปต่อได้นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้นึกถึงช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศและประชาชนคนไทยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ทำให้เกิดการล่มสลายทั้งประเทศเช่นกัน ในช่วงเวลานั้นทุกคนก็พยายามจะแก้ปัญหาที่สืบเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยในวันที่ 4 ธันวาคม ของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชดำรัสให้คนไทยทั้งประเทศ โดยทรงแนะนำปรัญญาเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยเข้าใจ และหาวิธีรับมือกับปัญหาที่จะเข้ามา ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า หากวันใดพายุมา ก็อย่าถึงกับล่ม หมายความว่าอย่าทำจนสุดโต่งเกินตัว ทุกอย่างจะต้องมีการเตรียมพร้อม เพราะโลกมนุษย์มีการผันแปรไปตามปัจจัยต่างๆมากมายที่คาดไม่ถึง โดยหากไม่มีการเตรียมการเพื่อรับมือกับพายุวิกฤตที่จะพัดมาในทุกมิติต่างๆ ก็จะได้รับความเสียหายเหมือนที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาพของการล่มสลายหายไปของธุรกิจจำนวนมาก

นายบัณฑูรกล่าวว่า ขณะนี้พายุได้พัดมาสร้างวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งในรูปแบบของโรคระบาด ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นพายุใหญ่ที่พัดไปทั้งโลก ทำให้จากช่วงแรกที่เศรษฐกิจยังดูดีอยู่ แต่เมื่อมีโรคระบาดเข้ามาก็ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจแย่ลงภายในชั่วข้ามคืน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ โดยพายุอื่นอาจพัดเข้ามาอีก ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบของความสูญเสียทางทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตที่ดีในโลกมนุษย์ อาทิ ดินน้ำลมไฟ เป็นปัจจัยที่คนคิดว่าจะต้องมี ซึ่งความจริงแล้วมีความเสียหายเกิดขึ้น แม้กระทั่งพายุที่สืบเนื่องมาจากความไม่สงบในสังคม อาทิ การเห็นต่างกันระหว่างความร่ำรวย และความยากจน จนในที่สุดก็ไม่สามารถอยู่กันอย่างสงบสุขได้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพายุของมนุษย์ทั้งนั้น คำถามคือ เราเตรียมการอะไรเพื่อให้แน่ใจว่าหากพายุนั้นพัดมาแล้ว จะไม่ถึงขั้นล่มสลายเหมือนที่ผ่านมา

Advertisement

นายบัณฑูรกล่าวว่า หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจใน 20 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้เศรษฐกิจไทยถือดีขึ้นมากกว่าเดิมสูง เนื่องจากผู้คนมีฐานะมั่งคั่งมากขึ้น ทำให้ลืมนึกถึงไปว่าพายุอาจจะมาอีกครั้งก็ได้ ซึ่งตอนนี้ก็มาแล้วผ่านโรคระบาดที่เกิดขึ้นและอาจมีพายุอื่นเข้ามาอีกในหลายรูปแบบ คำถามคือมนุษย์โดยเฉพาะในประเทศไทย สามารถที่จะรับมือกับพายุเหล่านั้นได้หรือไม่ ว่าจะต้องเตรียมการอย่างไรในการรับมือหากมีอะไรเกิดขึ้นมา ก็เป็นอะไรที่คาดเดาได้ลำบากเพราะในช่วงเวลาที่ดี ก็คิดว่าคงจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก โดยในธุรกิจธนาคารที่ผ่านมา ดูเสมือนฟื้นกลับมาจากความเสียหายในครั้งนั้นได้แล้ว ทุกอย่างดูเป็นไปได้ดี แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความจริงแล้วความเสี่ยงนี้มีอยู่ตลอดเวลา โดยความเสี่ยงเกิดขึ้นจากมนุษย์ที่อยากจะได้กำไรสูงมากขึ้น ผ่านกลไกการเงินในช่องทางต่างๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องทำมาหากิน แต่ความเสี่ยงนั้นเกิดจากความต้องการที่มากเกินตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ โดยหวังว่ามาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐใส่ไว้ในขณะนี้จะสามารถป้องกันไม่ให้เราไปถึงความเสียหายในจุดนั้นได้ เนื่องจากจำได้ว่าปี 2540 ไม่มีใครนึกถึงว่าพายุลูกนั้นจะมาแค่ทีเดียว แล้วเราจะร่มสลายเกือบหมดทันที ทำให้ขณะนี้รัฐจึงมีการใส่มาตรการต่างๆ ป้องกันไว้แล้วในระดับหนึ่ง แต่ถามว่าใส่ไว้แล้วจะครบหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจ เพราะพายุยังไม่มา แต่หากพายุมาหนักมากกว่านี้มาตรการที่เตรียมไว้ก็อาจไม่พอโดยโรคระบาดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูงมาก แต่ยังโชคดีที่โครงสร้างของเศรษฐกิจและโครงสร้างความมั่นคงในสถาบันการเงิน ได้ตุนสำรองไว้ในระดับหนึ่ง ทำให้ครั้งนี้ต่อให้เกิดความทดถอยอันสืบเนื่องมาจากการที่ผู้คนทำงานไม่ได้ตามปกติ ค้าขายไม่ได้ตามปกติ ระบบธนาคารพาณิชย์ก็ยังสามารถรับได้ แม้จะสูญเสียกำไรไปบ้างแต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่หากไม่มีทุนสำรองอะไรเอาไว้อาจจะเดือดร้อนมากกว่านี้

ในขณะนี้จะต้องมีการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลก็จะต้องช่วยเหลือเต็มที่ ทั้งผู้ประกอบการและผู้คนที่ตกงานไป โดยรัฐยังสามารถที่จะพิงระบบธนาคารพาณิชย์ไทยได้ ตราบใดที่ไม่พิงจนล้มกันไปทั้งหมด ก็น่าจะพอรับมือได้ แต่ต้องดูว่าโรคระบาดนี้จะลากยาวมากแค่ไหน ยิ่งลากยาวมากก็จะยิ่งส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้นและหวังว่ามาตรการต่างๆ ที่เข้มจ้นขึ้นทั้งในฝ่ายของรัฐบาลและฝ่ายของสาธารณสุข ก็หวังว่าจะสกัดโรคระบาดได้ ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า หากเราไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ มีทุนสำรองเตรียมพร้อมไว้ รัฐบาลก็ไม่ได้กู้เงินมากกว่าในอดีตที่ผ่านมามากนัก ส่วนหากจำเป็นที่จะต้องกู้เงินในการเยียวยาเศรษฐกิจ ก็ยังพอมีช่องทางที่จะทำได้แต่ก็อาจจะตึงตัวมากขึ้นทั้งในรัฐบาล ทางธนาคารพาณิชย์ และระบบการเงิน แต่ก็ยังเชื่อว่ายังสามารถรับได้ หลังจากนี้จะต้องคิดอีกว่ารับได้ในตอนนี้แล้ว พอโรคระบาดจบจะต้องกลับมาทำมาหากินกันตามปกติ ครั้งนี้จะต้องคิดหนักในการดำเนินต่อไป ว่าจะไปทางใด เนื่องจากเงินลงทุนก็น่าจะพอหาได้ สินเชื่อก็พอจะหาได้ แต่จะทำมาหากินประเภทไหน เป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่จะต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งคิดว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะกลายเป็นพายุที่ก่อตัวอีกแบบนึง เนื่องจากหากไม่มีสามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ในโลกนี้ องค์ความรู้ใหม่จะต้องมีเข้ามา เพราะความรู้แบบเดิมใช้ไม่ได้แล้วนายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวว่า องค์ความรู้ที่ให้ความสนใจเป็นการส่วนตัวคือ องค์ความรู้ทางการเกษตร ที่ได้ดึงธนาคารกสิกรไทยเข้ามาร่วมในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยได้ทำโครงการป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นต้นน้ำขนาดใหญ่ของประเทศในจังหวัดน่านถือเป็นโจทย์ความท้าทายที่ร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งรัฐและเอกชนที่จะแก้ปัญหาความสูญเสียที่ไม่น้อยของป่าต้นน้ำน่านโดยเฉพาะ โดยที่ผ่านมาเกษตรกรกับเจ้าหน้าที่รัฐในอดีตคุยกันไม่รู้เรื่อง แม้ในปัจจุบันจะคุยกันรู้เรื่องแล้ว แต่ก็ต้องหาองค์ความรู้ใหม่เข้ามา เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ เนื่องจากหากปล่อยให้ทำมาหากินแบบเดิมๆแน่นอนว่าคงจะไม่พอใช้พอกิน เมื่อไม่พอกินพอใช้ก็จะกลับไปบุกรุกป่า ซึ่งเรื่องมันก็จะวนเวียนอยู่ในแบบเดิม จึงต้องหาคนที่มีความรู้มาช่วยกัน ซึ่งถือเป็นโจทย์ในการแก้ปัญหาของมนุษย์ หากแก้โจทย์เดิมไม่ได้ ทุกอย่างก็จะวนเวียนในรูปแบบเดิม ซึ่งก็ไม่ได้เข้าใจว่า ทำไมหลายอย่างยังคงย่ำอยู่แบบเดิม เกษตรกรไม่พอกิน ทำมาหากินไม่ได้ทำไมถึงไม่หารูปแบบใหม่ของการทำการเกษตร หรือทำการค้าขายสินค้าเกษตร ทำไมถึงไม่ทำให้ผลผลิตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ยังคงแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตร ด้วยการย่ำอยู่กับการประกันราคา ถามว่าแล้วสามารถแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ เกษตรกรก็ยังจนอยู่ตามเดิม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image