ธุรกิจ‘โลจิสติกส์’เฟื่องฟู ในยุค‘โควิด’ระบาด

ธุรกิจ‘โลจิสติกส์’เฟื่องฟู ในยุค‘โควิด’ระบาด

รถส่งพัสดุที่แล่นอยู่กลางท้องถนนกันขวักไขว่ ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตลาดออนไลน์ที่โตวันโตคืน “ธุรกิจขนส่ง” หรือ “โลจิสติกส์” ที่มีเม็ดเงินไหลเข้าอย่างไม่หยุดหย่อน จนมียอดทะลุ 200,000 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซ้ำยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นปีละ 15-20% โดยเฉพาะการจัดส่งพัสดุด่วนประเภทถึงมือผู้รับภายใน 1-2 วัน มีมูลค่าทางการตลาดไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท

ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รัฐบาลมีการสนับสนุนการทำงานจากที่บ้าน หรือเวิร์ก ฟรอม โฮม ทำให้หลายคนหันมาจับจ่ายทั้งของกินและของใช้ ผ่านแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ เป็นอานิสงส์ให้ธุรกิจโลจิสติกส์ มีปริมาณพัสดุเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว กองพะเนินล้นคลังจนพนักงานส่งทำงานกันไม่หวาดไม่ไหว

แต่ภายใต้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงทำให้การจัดส่งพัสดุไม่ได้ดั่งใจลูกค้าเล็กน้อย โดย “บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)” กินส่วนแบ่งทางการตลาดสูงลิ่ว ระบุว่า เนื่องจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ปริมาณความต้องการของลูกค้าในการส่งพัสดุเพิ่มขึ้น โดยจำนวนการจัดส่งพัสดุของบริษัทในช่วงนี้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากการจัดส่งในช่วงเวลาปกติ จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดลำดับเส้นทางการจัดส่ง ประกอบกับการดำเนินงานที่ต้องคำนึงถึงมาตรการการควบคุมการคมนาคมในแต่ละพื้นที่ ส่งผลให้รถส่งสินค้าต้องใช้เวลานานกว่าปกติในการจัดส่งสินค้าไปยังปลายทาง

บริษัทได้เร่งดำเนินการแก้ไข จัดทีมช่วยเหลือฉุกเฉินเข้าไปบริหารจัดการพัสดุที่คงค้างในคลังสินค้าแต่ละแห่ง และได้ออกมาตรการเพื่อแก้ไขสถานการณ์

Advertisement

ประกอบด้วย 1.พัสดุที่ส่งก่อนและภายในวันที่ 4 เมษายน 2563 จะดำเนินการจัดส่งให้ถึงมือผู้รับแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ 2.จัดให้มีการจ้างงานเพิ่มกว่า 1,000 อัตรา เพื่อเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ทั้งในฝ่ายปฏิบัติการและคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงาน และ 3.ปรับเปลี่ยนระยะเวลาที่ใช้ในการจัดส่งสินค้าชั่วคราวจาก 1 วัน เป็น 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับแต่ละปลายทาง

โดยบริษัทจะให้ความสำคัญกับ 1.อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าป้องกันเกี่ยวกับโควิด-19 และ 2.สินค้าที่มีวันหมดอายุ หรือมีระยะเวลาจำกัด ถูกจัดส่งก่อนสิ่งของอื่นๆ

“บริษัทขอความร่วมมือลูกค้าที่มีความต้องการพัสดุด่วน ไม่เดินทางมาที่คลังสินค้าเพื่อติดต่อรับพัสดุเอง เนื่องจากบริษัทต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าเป็นสำคัญและปฏิบัติตามข้อกำหนดในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และเพื่อไม่เป็นการกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำให้ปฏิบัติงานได้ช้าลง บริษัทจึงขอสงวนสิทธิไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าภายในบริเวณคลังสินค้า และพื้นที่โดยรอบ”

กรณีที่มีการแชร์กันในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับพนักงานเคอรี่ลาออก จนทำให้พัสดุไม่ได้จัดส่งเป็นจำนวนมากนั้น บริษัทยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ปัจจุบันยังมีพนักงานที่ปฏิบัติงานตามปกติ จำนวนทั้งสิ้นกว่า 20,000 คน

ขณะที่ “บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด” โดย คมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทยในขณะนี้ บริษัทคำนึงถึงการให้บริการขนส่งพัสดุด้วยความปลอดภัยและมีมาตรฐานสูงสุด ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บริษัทได้มีนโยบายปรับแนวทางการทำงาน ประกอบด้วย 1.ปรับรอบเวลารับพัสดุให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง จากเวลาปกติ เพื่อความสะดวกในการคัดแยกสินค้า ในช่วงสถานการณ์ประกาศเคอร์ฟิว และ 2.ได้ออกมาตรการของดการรับพัสดุที่มีความยาว กว้าง และสูงรวมกันเกินกว่า 155 เซนติเมตร และพัสดุที่มีน้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม ในบางพื้นที่ชั่วคราว เพื่อจะสามารถช่วยให้การจัดส่งพัสดุในภาพรวมของบริษัทเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังคงรักษามาตรฐานในการให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น คือ จะสามารถดูแลปกป้องพัสดุของลูกค้าที่อยู่ในระหว่างนำส่ง ให้จัดส่งถึงปลายทางได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้ปริมาณพัสดุเพิ่มสูงขึ้น บริษัทจึงเปิดรับสมัครพนักงานเพิ่มขึ้นกว่าสถานการณ์ปกติ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการในการจัดส่งพัสดุของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด มีการตั้งด่านตรวจ และจุดคัดกรองควบคุมโรคไม่ให้เกิดการระบาดค่อนข้างเยอะในหลายพื้นที่ พนักงานของบริษัทจะมีเอกสารยืนยันระบุว่า เป็นพนักงานขนส่งพัสดุของบริษัท โดยมีการระบุชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชนของพนักงานไว้อย่างชัดเจน รวมถึงระบุเวลาการทำงานของพนักงานลงในเอกสารด้วย โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นไปตามคำแนะนำของกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กำหนดให้อาชีพขนส่งพัสดุ ถือเป็นอาชีพที่ได้รับการยกเว้นอยู่แล้ว ดังนั้น ในภาพรวมของการขนส่งของแฟลช เอ็กซ์เพรส ลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่า มีมาตรการรองรับที่ชัดเจน และสามารถให้บริการคนไทยในทุกสถานการณ์ได้อย่างแน่นอน” คมสันต์ระบุ

เมื่อสอบถามไปยังสมาคมค้าปลีกหรือสมาคมค้าส่งในไทย ได้รับการยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อรัฐบาลออกมาตรการเวิร์ก ฟอรม โฮม หรือทำงานที่บ้าน และประกาศเคอร์ฟิว 22.00 น. ถึง 04.00 น. วันรุ่งขึ้น เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกค้าปลีกต้องปิดบริการตามสาขาชั่วคราว และหันมาเปิดบริการรับคำสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์หรือโทรสายตรง พร้อมบริการจัดส่งสินค้าถึงที่พัก ซึ่ง 2 ส่วนนี้ส่งผลต่อการผลักดันการใช้บริการจัดส่งสินค้าเพิ่มขึ้นแล้ว 5-10 เท่า ขึ้นอยู่กับพื้นที่และชนิดสินค้า จากความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายที่ต้องการความสะดวก

“มูลค่าค้าปลีกในแต่ละปีนั้น เดิมมีถึง 2-3 แสนล้านบาท แต่ปีนี้วิกฤตจากโควิด อาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกในแบบออฟไลน์ แต่ได้ออนไลน์และการบริการส่งถึงที่พักมาเสริม แต่อาจไม่เท่าเดิม น่าจะช่วยพยุงได้ 40% จากที่ต้องเสียไปต่อสัปดาห์ ที่ในระยะยาวเมื่อคนไทยชินกับการใช้ดิลิเวอรี่มากขึ้น เชื่อว่าจะกลายเป็นธุรกิจที่ทุกค้าปลีกต้องมีทีมงานมาโดยตรง แทนที่จะใช้บริการจากบริษัทขนส่งอย่างในอดีต เพราะตัดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย และการควบคุมเวลาการส่งมอบ ที่ตอนนี้เริ่มเป็นปัญหาจากการแย่งบุคลากรที่จะจัดส่งสินค้าให้ทันเวลาที่ลูกค้าต้องการ”

จากการยืนยันของ พิษณุ พงษ์วัฒนา รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจค้าปลีก บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี ระบุว่า “ช้อปปิ้งออนไลน์กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทุกค้าปลีกต้องมีการเปิดให้บริการ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ยอดสั่งซื้อผ่านระบบโทรโดยตรงมาสั่งซื้อตามสาขา เพื่อให้บริการ 2 ส่วน คือ โทรมาสั่งและมารับด้วยตนเอง กับโทรมาสั่งแล้วให้บริการไปส่งถึงบ้าน ก็มีอัตราขยายตัวพอๆ กัน โดยในส่วนของบิ๊กซี ได้จัดทีมรับคำสั่งซื้อและจัดส่งโดยตรงเอง ทำให้ไม่เจอปัญหาผิดนัดส่งของมากนัก เพราะได้มีการวางระบบให้จัดส่ง 3 รอบต่อวัน และสามารถเพิ่มจำนวนการให้บริการในแต่ละสาขาได้ เพราะมีบุคลากรอยู่แล้ว”

บิ๊กซีให้ความสำคัญตั้งแต่อบรมวิธีการเลือกสินค้าให้แก่พนักงาน เลือกสินค้าที่สดใหม่ สะอาด เหมือนลูกค้าเป็นผู้เลือกเอง พร้อมจัดเตรียมกระเป๋าเก็บความเย็นให้สินค้ายังคงความสดใหม่ปลอดภัยจากเชื้อโรคภายนอก สำหรับการชำระค่าบริการ ลูกค้าสามารถเลือกชำระเงินผ่านออนไลน์ หรือชำระเงินเมื่อได้รับสินค้า ค่าบริการจัดส่งเริ่มต้นเพียง 59 บาท เริ่มให้บริการครอบคลุมพื้นที่การจัดส่งในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา รวมถึงมี Food Delivery บริการส่งความอร่อยหลากหลายเมนูจากศูนย์อาหารบิ๊กซี Food Park ร้านสเวนเซ่นส์ ร้านเอ็มเค และร้านกาแฟวาวี อาหารปรุงสดใหม่ ส่งถึงบ้าน ผ่านเบอร์ Home Delivery สาขาใกล้บ้านและสามารถเลือกดูเมนูเพิ่มเติมได้จากเฟซบุ๊ก บิ๊กซี สาขาใกล้บ้าน เมื่อสั่งอาหารตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป ฟรีค่าจัดส่งภายในระยะทาง 5 กม. จัดส่งภายใน 1 ชม. บริการ “อยู่บ้านสุขใจสั่งได้ครบจบที่บิ๊กซี” เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. หรือปรับได้ตามสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสิ่งที่สำคัญในสถานการณ์เช่นนี้ คือ เราต้องช่วยให้ประเทศและคนไทยก้าวผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน โดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ จะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยประคับประคองระบบเศรษฐกิจที่ซบเซา ให้กระเตื้องขึ้นไม่มากก็น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image