อดีตที่ปรึกษา รมว.คลังแย้ง พรก. 9 แสนล้าน ซัดขัดหลักปฏิบัติธนาคารกลาง

อดีตที่ปรึกษา รมว.คลังแย้ง พรก. 9 แสนล้าน ซัดขัดหลักปฏิบัติธนาคารกลาง

เมื่อวันที่ 9 เมษายน นายรุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการออกพระราชกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 9 แสนล้านว่า  มีความปรารถนาให้สาธารณะมีความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนว่า การดำเนินการนี้มิใช่การกู้เงินของรัฐบาลโดยตรงเหมือนดังอารยประเทศดำเนินการเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่เป็นการโอนภารกิจดังกล่าวในส่วนนี้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดำเนินนโยบายการเงิน รักษาเสถียรภาพของสถาบันการเงินและรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ เป็นคนดำเนินการเอง

นายรุ่งเรืองกล่าวว่า กรณีได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 นั้น อาจเกิดผลกระทบต่อสถาบันการเงินกรณีที่ลูกหนี้ขาดความสามารถในการชำระหนี้ ธปท.จะมีมาตรการในการดำเนินการในส่วนนี้เองอยู่แล้ว เป็นภารกิจปกติและ ธปท.สามารถทำได้เอง โดยไม่ต้องมีการออก พรก. แบบนี้ แต่ผมอยากให้สาธารณะมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การดำเนินการเช่นนี้ เป็นเสมือนว่ารัฐไม่สามารถที่จะกู้เงินได้เอง เพราะขาดศักยภาพที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากฐานะการคลังอ่อนแอ จึงไปให้ธปท.ดำเนินการแทน และการดำเนินการนี้สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนว่า เป็นการให้ธปท.ไปพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นมา 9 แสนล้านบาท โดยใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศหนุนหลัง

“ผมจึงขอเรียนไปถึงรัฐบาลว่า การดำเนินการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทำไมต้องไปใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ มาช่วยสนับสนุนดำเนินการ หากมีกรณีที่ทำได้ที่จะเกี่ยวข้องกับการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศไปดำเนินการ จะต้องแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงเท่านั้น ไม่ใช่ตราสารหนี้ของเอกชนที่ขาดสภาพคล่อง หรือไถ่ถอนไม่ได้ จึงต้องออกตราสารหนี้ใหม่ขึ้นมาไถ่ถอน หรือเป็น soft loan ของ SMEs
ผมสนับสนุนการดำเนินการเพื่อสนับสนุน SMEs และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ไม่ควรดำเนินการในรูปแบบที่เอาทรัพย์สินมั่นคงของชาติ มาหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มแต่อย่างใด”นายรุ่งเรืองกล่าว

นายรุ่งเรืองกล่าวอีกว่า ในจำนวน 9 แสนล้านนั้น ประเด็นที่ มีความไม่สบายใจอย่างยิ่ง คือในส่วนของ 4 แสนล้านบาทที่จะตั้งเป็นกองทุน BSF เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้เอกชน

Advertisement

นายรุ่งเรืองกล่าวว่า โดยปกติการสนับสนุนสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้เอกชน สามารถดำเนินการได้ โดยธนาคารพาณิชย์ เป็นผู้ดำเนินการเอง มิใช่ ธปท. ซึ่งต้องรักษาความเป็นกลาง โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดๆกับภาคธุรกิจโดยตรง จะต้องเป็นการดำเนินการผ่านธนาคารพาณิชย์ เท่านั้น โดยที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องวิเคราะห์ขีดความสามารถของภาคธุรกิจเอง โดยตรง ซึ่งในทางปฎิบัติ ธนาคารพาณิชย์จะมีการเข้าไปซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดรองเท่านั้น เนื่องจากการดำเนินการแบบนี้ จะเป็นการซื้อขายตราสารหนี้ในราคาจากตลาดรองที่กำหนดขึ้น ทำให้เกิดความเป็นธรรมของการซื้อขาย ไม่ใช่เข้าไปซื้อขายที่ราคาหน้าตั๋วหรือราคาเต็มที่ภาคเอกชนกำหนด ซึ่งมีความแตกต่างในฐานะและความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป ทำให้ภาครัฐต้องเข้าไปรับความเสี่ยงจำนวนมหาศาล รวมถึงเกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจรายใดกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ เพราะวงเงินจำนวน 4 แสนล้านบาทนั้น ย่อมไม่พอเพียงที่จะโอมอุ้มตลาดตราสารหนี้ทั้งหมด ที่มีมูลค่าหลายล้านๆบาท และเชื่อว่า จะเกี่ยวพันกับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ที่ตราสารหนี้กำลังจะครบกำหนดในเร็ววันนี้

“การที่รัฐบาล ไปให้ ธปท. ไปดำเนินการซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนโดยตรง ในตลาดแรก หรือแม้ว่าในตลาดรองก็ตาม ย่อมเป็นการให้ดำเนินการที่ขัดกับหลักปฏิบัติของธนาคารกลางอย่างสิ้นเชิง และย่อมให้เกิดภาระขาดทุนจากการดำเนินการนี้ให้กับ ธปท. แทนที่ภารกิจทั้งหลายนี้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล มิใช่ภารกิจของ ธปท. ที่เขาเองก็มีหน้าที่จะต้องดูแลเสถียรภาพการเงิน และระบบสถาบันการเงินอยู่แล้ว ผ่านการให้ soft loan หรือการยืดหยุ่นเกณฑ์การตั้งสำรองต่างๆ หากมีกรณีหนี้เสียเกิดขึ้นในระบบมากขึ้น รัฐบาลจึงควรปรับเปลี่ยนภารกิจให้ ธปท.เป็นผู้สนับสนุนสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์ไปดำเนินการตรงนี้แทน ผ่านกลไกการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ มิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มที่กำลังมีปัญหาไม่สามารถไถ่ถอนตราสารหนี้ได้”นายรุ่งเรืองกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image