‘กุลิศ’ขีดเส้น พ.ค. ขับเคลื่อน กฟผ. สู่ ‘อีแกท กรุ๊ป’ ลงทุนในสตาร์ตอัพ ผุดจยย.-เมล์อีวี

‘กุลิศ’ขีดเส้นพ.ค.ขับเคลื่อนกฟผ.สู่’อีแกท กรุ๊ป’ เดินหน้านโยบายครั้งใหญ่ตั้ง บ.ขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ด้านไฟฟ้า-ลงทุนในสตาร์ตอัพ ลุยซื้อขายไฟ-แอลเอ็นจี ผุดจยย.-รถเมล์อีวี

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างกฟผ.ให้แข่งขันในภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการแพร่ระบาดของไว้รัสโควิด-19 โดยแกนหลักในการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะดึงคนรุ่นใหม่ พนักงานกฟผ.ที่มีศักยภาพ เป็นเด็กทุนในสาขาต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกับหัวหน้าทุกระดับ ตลอดกลุ่มสหภาพกฟผ. เพื่อให้การทำงานเกิดแนวคิดหลากมิติ เบื้องต้นพบว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือนิวเจน มีประมาณ 50-100 คน เมื่อเร็วๆนี้ได้เรียกประชุม พร้อมตั้งชื่อทีมว่า exclusive team เพื่อวางแนวทางทำงานเบื้องต้นแล้ว คาดว่าเดือนพฤษภาคมนี้จะเห็นความชัดเจนในการคิดนโยบาย แนวทางทำงาน เพื่อเดินหน้าได้ทันที

“ตอนนี้ กฟผ.เปรียบเหมือนยักษ์ที่มีศักยภาพ เป็นหน่วยงานผลิตไฟฟ้าหลักเพื่อสร้างความมั่นคงให้ประเทศ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปรวดเร็ว แม้กฟผ.จะปรับตัว และเดินหน้าทดลองหลายต่อหลายโครงการ อาทิ การร่วมกับเอกชนทดลองผลิตไฟฟ้าบนหลังคาแล้วซื้อขายไฟระหว่างกัน แต่ยังไม่ได้โปรโมทผลงาน ผมไม่อยากให้กฟผ.ที่เป็นองค์กรใหญ่แล้วคนอื่นจะมองเป็นยักษ์อุ้ยอ้าย ดังนั้นผมจะให้ยักษ์ตัวนี้ใส่สเก็ตบอร์ด แล้วมุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นอีแกท กรุ๊ป ที่พร้อมเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในหลายธุรกิจ”นายกุลิศกล่าว

นายกุลิศ กล่าวว่า ล่าสุดเดือนมิถุนายน  กฟผ.เตรียมจัดตั้งบริษัทนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ด้านไฟฟ้า และสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ตอัพที่เกี่ยวกับไฟฟ้า มูลค่าลงทุนเบื้องต้น 600 ล้านบาท เป็นการลงทุนร่วมร่วมระหว่างกฟผ. 40% บริษัทราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 30% และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก 30% โดยการสนับสนุนสตาร์ตอัพนั้นกฟผ.ต้องออกไปแสวงหาธุรกิจที่น่าสนใจ สนับสนุน เข้าลงทุน อย่างอนาคตอาจใช้เอไอประเมินศักยภาพสายส่งว่าจะมีอายุใช้งานเท่าไหร่ อย่างอีสานอากาศร้อนสายส่งอาจมีอายุสั้นเร็วกว่าปกติ

Advertisement

นายกุลิศ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังเตรียมจัดตั้งบริษัทใหม่ รองรับธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า(เทรดดิ้ง) กับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะช่วงปี2568-72 ที่ไทยจะมีปริมาณสำรองในระบบสูงหลังทุกสัญญามีการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(ซีโอดี) รวมทั้งการเทรดดิ้งก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ขณะเดียวกันจะสนับสนุนให้ขยายการลงทุนในพลังงานทดแทน โดยเฉพาะไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์) การรุกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)โดยเฉพาะในส่วนของรถจักรยานยนต์อีวี รถโดยสารสาธารณะอีวี รวมทั้งการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน(เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ) แบตเตอรี่สำหรับรถอีวีรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image