แมกโนเลียฯหนุนจุฬาฯพัฒนาหุ่นยนต์ส่งอาหาร-ยาในรพ.สู้โควิด

แมกโนเลียฯหนุนจุฬาฯพัฒนาหุ่นยนต์ส่งอาหาร-ยาในรพ.สู้โควิด

นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) กล่าวว่า จากที่ทีม ‘CU ROBO COVID’ประกอบด้วยนักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยบริษัทเอชจี โรโบติกส์ และบริษัทโอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรมในการผลิตหุ่นยนต์ ‘Pinto’หรือ ‘ปิ่นโต’ ได้สำเร็จ เพื่อทำหน้าที่ขนส่งอาหารและยาสำหรับผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้ร่วมสมทบทุนจำนวน 2 ล้านบาทให้กับ “กองทุนนวัตกรรม วิศวฯ จุฬาฯ”เพื่อร่วมสนับสนุนในการผลิตหุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ ลดความเสี่ยงของทีมแพทย์ในโรงพยาบาลจากการรักษาผู้ป่วยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ร่วมพัฒนาระบบสื่อสาร ‘Telepresence’เพื่อใช้งานกับหุ่นยนต์ปิ่นโต และใช้ในจุดคัดกรองผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และเพิ่มความปลอดภัยในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลให้มากขึ้น

“ในสถานการณ์ที่เราทุกคนกำลังเผชิญวิกฤตร่วมกันนี้ MQDC ยินดีที่มีส่วนร่วมสนับสนุนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแบ่งเบาภาระความรับผิดชอบของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นด่านหน้าในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ให้ทุกท่านได้มีกำลังใจ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างราบรื่นให้มากที่สุด ผมต้องขอขอบคุณความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งกล้าเผชิญความท้าทายอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา”นายวิสิษฐ์ กล่าว

ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัทโอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอชจี โรโบติกส์ กล่าวว่า ทีมงานโอโบดรอยด์ฯและทีมงานเอชจี โรโบติกส์ ยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้มีโอกาสร่วมทำงานกับทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันผลิตหุ่นยนต์ต้นแบบ ปิ่นโต ‘Pinto’ และพัฒนาระบบการสื่อสาร โดยทีมงานโอโบดรอยด์ได้ร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์และทำหน้าที่จัดหาอุปกรณ์เพื่อการผลิตหุ่นยนต์ และระบบสื่อสารตรวจดูแลผู้ป่วยระยะไกลกับแพทย์และพยาบาล รวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์สำคัญอื่นๆ เช่น เครื่องช่วยหายใจ โดยการร่วมงานครั้งนี้ เราจะร่วมกันเดินหน้าผลิตหุ่นยนต์เพื่อมอบให้โรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศคาดว่าจะแล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยใช้งบประมาณการผลิตหุ่นยนต์พร้อมระบบสื่อสาร 1ชุดอยู่ที่ประมาณ 50,000 -70,000 บาท

Advertisement

สำหรับที่มาของหุ่นยนต์ปิ่นโตนี้ ประยุกต์มาจากอุปกรณ์ที่ต้องใช้เป็นประจำในโรงพยาบาล คือ รถเข็น ส่งอาหารผู้ป่วยนำมาปรับเพิ่มระบบให้สามารถควบคุมการเคลื่อนที่จากระยะไกลได้ พร้อมระบบสื่อสาร’Telepresence’ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ใช้งานได้สะดวกปลอดภัยดูแลผู้ป่วยผ่านจอแท็บเล็ต ได้ถูกนำไปใช้ที่จุดคัดกรองผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แล้ว พร้อมติดตั้งฐานข้อมูลผู้ป่วยเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ทีมงานบริษัทโอโบดรอยด์ฯ จะมุ่งมั่นทุ่มเทในการผลิตหุ่นยนต์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทีมแพทย์ทั่วประเทศตามเป้าหมายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image