นักวิชาการนับร้อยลงชื่อร่วมแถลงการณ์ หลังเพจดังถูกจี้ถอดข่าววิพากษ์ปม ‘กักตัว’

นักวิชาการนับร้อยลงชื่อร่วมแถลงการณ์ หลังเพจดังถูกจี้ถอดข่าววิพากษ์ปม ‘กักตัว’

เมื่อวันที่ 11 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการเปิดเผยแถลงการณ์ ‘ปราศจากเสรีภาพย่อมปราศจากสุขภาพที่ดี’ มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ซึ่งเพจ ‘Patani notes’ นำเสนอประเด็นการกักตัวของครอบครัวทางภาคใต้ ต่อมาได้ถอดเนื้อหาดังกล่าวออกพร้อมข้อความขออภัย ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กระทั่งมีการออกแถลงการณ์ดังกล่าว โดยมีนักวิชาการกว่าร้อยราย และองค์กรจจำนวนมาก ร่วมลงชื่อ

รายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม

Advertisement

เรื่อง ปราศจากเสรีภาพย่อมปราศจากสุขภาพที่ดี

 

จากการอ้างถึง “สุขภาพนำเสรีภาพ” ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิว (การห้ามออกจากเคหสถานในยามค่ำคืนตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น.) ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมมีความกังวลว่าความหมายและท่าทีของนโยบาย “สุขภาพนำเสรีภาพ” กำลังก่อให้เกิดความสับสน และสร้างปัญหาทับซ้อนในการรับมือกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ (pandemic) ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย เนื่องจากหลักการ “เสรีภาพ” เชื่อมโยงโดยตรงถึงสิทธิมนุษยชนในหลายมิติ เช่น สิทธิพลเมือง สิทธิชุมชน สิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน สิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและบริการจากรัฐ สิทธิในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงสิทธิในการรับรู้ข่าวสาร ฯลฯ ภายใต้แนวทางการจัดการสุขภาพที่ขาดมิติเสรีภาพและไม่เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน ย่อมจะนำไปสู่ปัญหาเชิงสุขภาพและสังคมที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น

 

ดังกรณีที่สื่อ ปาตานีโนตส์ (Patani NOTES) ได้นำเสนอข่าวใน หน้าเฟซบุ๊ก (Facebook page) Patani NOTES ภายใต้หัวข้อ “กักตัวทั้งครอบครัว มีลูกสาวคนเดียวส่งข้าวส่งน้ำ” ในวันที่ 1 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นการรายงานเรื่องราวร้องทุกข์ของครอบครัวหนึ่งในตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ที่ได้รับคำสั่งให้กักตัวภายในบ้านเป็นเวลา 14 วันโดยที่ ณ เวลานั้นยังไม่เข้าใจถึงรายละเอียดของการกักตัว หรือ มาตรการในการช่วยเหลือที่ชัดเจน จนทำให้เกิดความกังวลถึงชีวิตความเป็นอยู่และปากท้องในช่วงเวลาดังกล่าว

การนำเสนอข่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสุขภาพของประชาชน หากในเวลาต่อมา ปาตานีโนตส์กลับถูกคุกคามและกดดันอย่างหนักจากกลุ่มบุคคลที่อ้างว่า การนำเสนอข่าวเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการด้านสุขภาพของภาครัฐ จนทำให้ต้องถอดข่าวนี้ออกจากพื้นที่สื่อไปในช่วงค่ำของวันที่ 3 เมษายน 2563

กรณีปาตานีโนตส์สะท้อนว่าแนวคิด “สุขภาพนำเสรีภาพ” นั้น ได้นำไปสู่การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่ลิดรอนสิทธิของสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ประชาชนสูญเสียพื้นที่ในการร้องทุกข์ ซึ่งซ้ำเติมประชากรกลุ่มเปราะบางที่มีฐานทรัพยากรน้อย คนเหล่านี้เป็นผู้ที่ไร้สิทธิไร้เสียง (voiceless) ในสังคม การเบี่ยงประเด็นให้ปัญหาสุขภาพเป็นเพียงการควบคุมผู้คนไร้สิทธิ ไร้เสียง ยิ่งทำให้พวกเขาไม่อาจส่งเสียงความทุกข์ร้อนและปัญหาของตนเอง เนื่องจาก “เสียง” ที่ถูกส่งออกมาจะกลายเป็นสิ่งที่ขัดกับนโยบายรัฐ และจะกลายเป็นการรุกรานละเมิดความปลอดภัยและสุขภาพของส่วนรวมไปในทันที คำประกาศของนายกรัฐมนตรี ดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบาง ทำให้พวกเขาไม่มีทั้งเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และไม่มีสุขภาพ (ที่ดี) ไปในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ช่องว่างในการปฏิบัติงานหรือข้อผิดพลาดในการสื่อสาร ระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน เป็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ทั่วไปใน สภาวะวิกฤต ความเข้าใจต่อมาตรการต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงและมี รายละเอียดเชิงเทคนิคไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะทำความเข้าใจในหมู่ประชาชน อีกทั้งข้อเท็จจริงในการนำเสนอข่าวควรเป็นเป็นเรื่องที่สังคมวงกว้างได้มีส่วนร่วมในการพิจารณา ทั้งยังเป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการได้รับทราบเสียงสะท้อนของประชาชน เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการรักษาพื้นที่ส่งเสียง (voice) ความเดือดร้อนของประชาชน เนื่องจากหากมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร ก็จะมีโอกาส “กระจายความเป็นธรรม” (distributive justice) สู่ประชาชน กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางมากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงความช่วยเหลือหรือบริการจากภาครัฐที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาวิกฤต เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และในที่อื่นทั่วประเทศตามรายชื่อแนบท้ายจำนวน 116 คน และ 12 เครือข่าย/องค์กร จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรสื่อ และสังคมไทยดังนี้

ข้อที่ 1 ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐ เร่งทบทวนแนวนโยบาย “สุขภาพนำเสรีภาพ” โดยปกป้องคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และรักษาพื้นที่ของการ นำเสนอทุกข์ร้อนของประชาชน ซึ่งสามารถนำไปเป็นข้อมูลในการ ปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยไม่ควรมองว่าเสียงเหล่านั้นเป็นคู่ขัดแย้งหรืออุปสรรคของการทำงานจัดการวิกฤติด้านสุขภาพของภาครัฐ ซึ่งต้องการความจริงใจในการแก้ปัญหา

ข้อที่ 2 ขอเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรสื่อในระดับท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศ ได้จับตาและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ถึงผลพวงที่เกิดขึ้นจากคำประกาศ “สุขภาพนำเสรีภาพ” อันอาจจะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เป็นข้ออ้างในเชิงการเมือง และให้ใช้กลไกสิทธิมนุษยชนทุกระดับเพื่อปกป้อง คุ้มครองเสรีภาพของสื่อ ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร โดยมีการตอบสนองอย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามสื่อ

ข้อที่ 3 ขอเรียกร้องให้ประชาชนเชื่อมั่นในสิทธิ สวัสดิภาพในชีวิตความเป็นอยู่ และเสียงของประชาชน ซึ่งภาครัฐมีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมไปพร้อมกับได้รับการดูแลด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นความมั่นคงในชีวิตอย่างไม่แยกส่วนกัน กล่าวคือ “สุขภาพต้องการเสรีภาพ” โดยไม่อาจขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ทั้งนี้ประชาชนพึงตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมโดยรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ด้วย

 

ด้วยความศรัทธาเชื่อมั่นว่า “สุขภาพต้องการเสรีภาพ”

เครือข่ายนักวิชาการ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม

ทั้งนี้มีนักวิชาการที่ร่วมลงนามจำนวน 150 คน อาทิ เกษียร เตชะพีระ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นายนิมิตร์ เทียนอุดม นายยศ สันตสมบัติ นางวลักษณ์กมล จ่างกมล นางอังคณา นีละไพจิตร โดยร่วมลงชื่อในนามองค์กร ต่อไปนี้

 

  1. กลุ่มทำทาง
  2. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
  3. การเมืองหลังบ้าน
  4. คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAOW)
  5. เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)
  6. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่
  7. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
  8. มลายูรีวิว
  9. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
  10. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม(ลงชื่อในนามองค์กร)​
  11. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
  12. ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชน
  13. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (ศพช.)
  14. สร้างสรรค์อนาคตเยาวชน
  15. ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน (BUKU)
  16. ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น (ศพช.)

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image