นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้แต่ละกระทรวงร่วมกันแก้ปัญหาสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทางกระทรวงดีอีเอสได้เร่งดำเนินการโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดความเสี่ยง ทั้งสำหรับพี่น้องประชาชน และลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์ โดยร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) ส่งมอบโซลูชันผู้ช่วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) บนเครือข่าย 5G เพื่อใช้รายงานผลตรวจโควิด-19 ได้อย่างอัตโนมัติ รวดเร็ว และแม่นยำ
นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การนำระบบเอไอมาวิเคราะห์นี้ เป็นการวิเคราะห์ตัวอย่างผลการเอ็กซเรย์ปอดของคนไข้ จำนวน 20,000 กว่าตัวอย่าง เมื่อมีการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) เพื่อเอ็กซเรย์ปอดของคนไข้ ระบบจะนำผลจากการเอ็กซเรย์ มาเทียบเคียงกับตัวอย่างภาพเอ็กซเรย์ปอด 20,000 กว่าตัวอย่างดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 4,000 ราย เพื่อวิเคราะห์ วินิจฉัยเบื้องต้น ว่าคนไข้มีความเสี่ยงที่จะเป็นไวรัสโควิด 19 มากน้อยเพียงใด โดยระบบนี้เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย และมีการใช้จริงแล้วในประเทศจีนทั้งในเมืองอู่ฮั่น และหลายๆ เมืองในประเทศจีน
“กระทรวงดีอีเอสร่วมกับหัวเว่ย ส่งมอบโซลูชันผู้ช่วยระบบเอไอให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลศิริราชเรียบร้อยแล้ว จากนี้การวิเคราะห์คนไข้ด้วยระบบดังกล่าว ก็จะช่วยลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์ ทำให้แพทย์ไม่ต้องสัมผัสกับคนไข้ เมื่อคัดกรองแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูง จึงค่อยเข้าสู่กระบวนการตรวจสารคัดหลั่ง ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมงในการยืนยันผล ทั้งนี้ ขอให้กำลังใจและยืนยันว่าจะสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์อย่างเต็มที่” นายพุทธิพงษ์ กล่าว
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ระบบเอไอจะช่วยให้แพทย์นำมาใช้วินิจฉัยผลตรวจ ซีทีสแกนของผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส จึงลดภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ไทยได้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญความเร็วในการส่งข้อมูลบนเครือข่าย 5G จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้บุคลากรทางการแพทย์รับมือสถานการณ์ในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะช่วยให้ระบบทางการแพทย์ต่างๆ ตอบสนองการใช้งานได้รวดเร็ว ช่วยให้ติดตามอาการและเก็บข้อมูลคนไข้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์มีประสิทธิภาพขึ้นอีกด้วย