พม.เปิดผลสำรวจครอบครัวไทย เผชิญวิกฤตโควิด-19 กระทบการเงินมาก เริ่มปรับตัวอยู่อย่างพอเพียง

ภาพประกอบ

พม.เปิดผลสำรวจครอบครัวไทย เผชิญวิกฤตโควิด-19 กระทบการเงินมาก เริ่มปรับตัวอยู่อย่างพอเพียง

เมื่อวันที่ 14 เมายน ที่บริเวณโถงชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในการเปิดเผยผลสำรวจ “ครอบครัวไทยในภาวะวิกฤติโควิด-19” ว่า พม.ได้สำรวจประชาชนกลุ่มตัวอย่าง อายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 2,069 ตัวอย่าง สอบถามใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การปฏิบัติตัวของประชาชน ในภาวะวิกฤตโควิด-19 2.กิจกรรมขณะอยู่บ้าน Stay at home ในภาวะวิกฤตโควิด-19 และ3.การอยู่ร่วมกันในครอบครัว Stay at home ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ระหว่างวันที่ 10 – 13 เมษายน 2563

รองปลัด พม. กล่าวอีกว่า ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด อย่างร้อยละ 96.4 มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน, ร้อยละ 88.3 พยายามหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ไม่ไปอยู่ในสถานที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัดและหลีกเลี่ยงงานเลี้ยงสังสรรค์, ร้อยละ 84.3 มีการทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ กินร้อน ช้อนส่วนตัวและล้างมือบ่อยมากขึ้น ทั้งนี้ ร้อยละ 98.8 มีการติดตามข่าวสารบ้านเมืองและข่าวสถานการณ์โควิด-19, ร้อยละ 85.6 มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น บริจาคเงิน ทำบุญ จิตอาสา และร้อยละ 82.0 มีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น

“ที่น่าห่วงใย คือ มีครอบครัวไทย ร้อยละ 5.8 ที่เมื่อมีความหงุดหงิดและโมโห แทบไม่สามารถควบคุมการใช้อารมณ์กับคนในครอบครัวได้เลย ซึ่งในจำนวนนี้มี ร้อยละ 0.9 ที่มีการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกัน จนได้รับบาดเจ็บ”

นางสาวสราญภัทร กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ มีประเด็นน่ากังวล ว่ามีครอบครัวไทย ร้อยละ 23.4 ที่ไม่มีปัญหาด้านการเงินและสามารถดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ในภาวะวิกฤตนี้ ส่วนครอบครัว ร้อยละ 61.4 พอที่จะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาทางการเงินและดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ แต่สำหรับครอบครัวอีกร้อยละ 14.7 มีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะแทบไม่สามารถจัดการด้านการเงินและค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้เลย อย่างไรก็ตาม ครอบครัวเกือบ 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 65.5 มีความเชื่อถือข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข และมีความเชื่อมั่นการทำงานของรัฐ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญจากภาวะวิกฤตนี้ ทำให้ประชาชนกว่า 6 ใน 10 หรือ ร้อยละ 60.1 มีการใช้ชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียงมากขึ้น

Advertisement

ขณะที่ นางจินตนา จันทร์บำรุง ผู้ตรวจราชการกระทรวง พม. กล่าวว่า พม. โดย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ดำเนินการเปิดจุดคัดกรองกลุ่มเป้าหมายคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน คนไร้ที่พึ่ง และผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก โดยศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรุงเทพมหานคร จัดบริการคัดกรองโรค ประเมินกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น และให้บริการที่พักพิง และปัจจัยสี่ในสภาวะวิกฤตินี้

ซึ่งได้ดำเนินการให้การคุ้มครองตามมาตรการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยผลการดำเนินงาน นับตั้งแต่เริ่มเปิดจุดคัดกรอง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 จนถึง 13 เมษายน 2563 มียอดผู้ใช้บริการสะสม 95 ราย เป็น ชาย 71 ราย หญิง 24 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นคนไร้ที่พึ่ง ไร้บ้าน และอยู่ในสภาวะยากลำบาก เช่น ตกรถ หรือถูกพักงานไม่มีที่อยู่อาศัย  ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มเป้าหมาย ผู้ใช้บริการ ที่ยังคงพักพิงในจุดคัดกรอง ดินแดง อยู่จำนวน 22 คน เป็นชาย 17 ราย และหญิง 15 ราย

ทั้งนี้ หากประชาชนประสบปัญหาทางสังคม หรือพบเห็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทรแจ้ง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมให้คำปรึกษาและดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่

Advertisement
นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ
นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ
นางจินตนา จันทร์บำรุง
นางจินตนา จันทร์บำรุง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image