องค์การการค้าโลกเผยช่วงโควิด-19 ระบาด สินค้าทางการแพทย์ทำสถิติมูลค่าถึง 5%

องค์การการค้าโลก เผยช่วงโควิดระบาด สินค้าทางการแพทย์ ทำสถิติมูลค่าถึง 5%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก (WTO) ได้เผยแพร่รายงานการศึกษาเรื่องการค้าสินค้าทางการแพทย์กับวิกฤติโควิด-19 ผ่านทางเว็บไซต์ www.wto.org โดยแสดงสถิติการค้าระหว่างประเทศและการเก็บภาษีศุลกากรของสินค้าทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562 โดยพบว่า มูลค่าการค้าโลกของสินค้าทางการแพทย์ (medical products) อยู่ที่ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 5 ของมูลค่ารวมการค้าโลก แบ่งเป็นการนำเข้าจากทั่วโลกรวม 1.01 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 5 ของมูลค่าการนำเข้าโลก และการส่งออกไปทั่วโลกมูลค่า 9.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 6 ของมูลค่าการส่งออกโลก

ด้านการนำเข้า ทั่วโลกมีสัดส่วนการนำเข้า คือ สินค้ายา ร้อยละ 56 ของการนำเข้าทั้งหมด วัสดุที่ใช้ทางการแพทย์ ร้อยละ 17 เครื่องมือทางการแพทย์ ร้อยละ 14 และสินค้าใช้ในการป้องกันส่วนตัว ร้อยละ 13 โดยมีประเทศ ผู้นำเข้าสินค้าทางการแพทย์หลักของโลก ได้แก่ สหรัฐ นำเข้าร้อยละ 19 เยอรมนี ร้อยละ 9 และจีน ร้อยละ 6 ส่วนด้านการส่งออกทั่วโลกมีสัดส่วนการส่งออก ได้แก่ สินค้ายา ร้อยละ 55 วัสดุที่ใช้ทางการแพทย์ ร้อยละ 17 เครื่องมือทางการแพทย์ ร้อยละ 14 และสินค้าใช้ในการป้องกันส่วนตัว ร้อยละ 14 โดยมีประเทศผู้ส่งออกสินค้าทางการแพทย์หลักของโลก ได้แก่ เยอรมนี ร้อยละ 14 สหรัฐ ร้อยละ 12 และสวิตเซอร์แลนด์ ร้อยละ 9

สำหรับจีนเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าทางการแพทย์ที่มีการส่งออกสินค้าใช้ในการป้องกันส่วนตัว อาทิ หน้ากากอนามัย สเปรย์ล้างมือ แว่นเพื่อการป้องกัน มากกว่าสินค้ายา โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าดังกล่าวถึงร้อยละ 49 ของการส่งออกสินค้าทางการแพทย์ทั้งหมดของจีน คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของการส่งออกสินค้าใช้ในการป้องกันส่วนตัวทั้งหมดของโลก โดยจีนเป็นผู้ส่งออกสินค้าหน้ากากอนามัยอันดับหนึ่งของโลก มีสัดส่วนส่งออกถึงร้อยละ 25 ของการส่งออกสินค้าหน้ากากอนามัยโลก รองลงมา คือ เยอรมนี และสหรัฐ ขณะที่สิงคโปร์เป็นผู้ส่งออกสินค้าเครื่องช่วยหายใจเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 18 ของการส่งออกโลก รองลงมา คือ สหรัฐ ร้อยละ 16 เนเธอร์แลนด์ ร้อยละ 10 และจีน ร้อยละ 10

นางอรมนกล่าวว่า รายงานของ WTO ยังระบุว่า ปัจจุบันสมาชิก WTO 164 ประเทศ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าทางการแพทย์เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.8 โดยฮ่องกง ไอซ์แลนด์ มาเก๊า และสิงคโปร์ ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดแล้ว ในขณะที่หลายประเทศ เช่น จีน เก็บภาษีนำเข้าสินค้าทางการแพทย์เฉลี่ยที่ร้อยละ 4.5 เกาหลีใต้ที่ ร้อยละ 5.9 อินเดียที่ร้อยละ 11.6 เวียดนาม ร้อยละ 2.8 สิงคโปร์ ร้อยละ 0 มาเลเซีย ร้อยละ 11.7 และอินโดนีเซีย ร้อยละ 5.2 เป็นต้น

Advertisement

ทั้งนี้ หากแยกอัตราภาษีนำเข้าที่สมาชิก WTO เก็บตามกลุ่มสินค้า พบว่า สมาชิก WTO เก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่ใช้ในการป้องกันส่วนตัวในอัตราที่ยังสูงอยู่ โดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 11.5 วัสดุที่ใช้ทางการแพทย์ อัตราภาษีเฉลี่ยร้อยละ 6.2 เครื่องมือทางการแพทย์ อัตราภาษีเฉลี่ยร้อยละ 3.5 และยา อัตราภาษีเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ในส่วนของไทยเก็บภาษีศุลกากรสินค้าทางการแพทย์เฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 7.2 แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้ในการป้องกันส่วนตัว เก็บภาษีนำเข้าเฉลี่ยที่ร้อยละ 7.4 วัสดุที่ใช้ทางการแพทย์ อัตราภาษีเฉลี่ยร้อยละ 11.9 เครื่องมือทางการแพทย์ อัตราภาษีเฉลี่ยร้อยละ 0.8 และยา อัตราภาษีเฉลี่ยร้อยละ 7.6 ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วย เช่น อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไทยเก็บภาษีนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 0 ยกเว้นอินเดีย ไทยยังคงเก็บภาษีสินค้าบางรายการที่ร้อยละ 5 และเก็บภาษีกับฮ่องกงที่ร้อยละ 1-8 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐบาลไทยได้มีการยกเว้นภาษีนำเข้าหน้ากากอนามัย เป็นการชั่วคราวถึงกันยายน 2563 และเตรียมที่จะปรับลดเครื่องมือทางการแพทย์ อุปกรณ์ชุดตรวจหาไวรัสโควิด-19 ยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 แล้ว รวมทั้งยังได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้าที่ใช้ในการรักษา วินิจฉัย และป้องกันโรคโควิด-19 ที่นำเข้ามาเพื่อการบริจาค เป็นระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563-28 ก.พ. 2564

องค์การการค้าโลกเผยช่วงโควิด-19 ระบาด สินค้าทางการแพทย์ทำสถิติมูลค่าถึง 5%ทางด้านสถิติการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทางการแพทย์ของไทยในปี 2562 พบว่า ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าทางการแพทย์ที่ 8,552 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 3,656 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็นร้อยละ 1.4 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และมูลค่าการนำเข้าที่ 4,896 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 2 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของไทย โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ ร้อยละ 23.1 ญี่ปุ่น ร้อยละ 12.9 และเวียดนาม ร้อยละ 6.1 แบ่งสัดส่วนประเภทสินค้าทางการแพทย์ที่ส่งออก เป็นวัสดุที่ใช้ทางการแพทย์ เช่น แอลกอฮอล์ ผ้าก๊อซ เข็มฉีดยา ร้อยละ 52.6 สินค้าใช้ในการป้องกันส่วนตัว เช่น สบู่ล้างมือ สเปรย์ล้างมือ หน้ากากอนามัย แว่นตาป้องกัน ร้อยละ 26.2 ยา ร้อยละ 11.7 และเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอกซเรย์ ร้อยละ 9.1 ในขณะที่ไทยมีตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ สหรัฐ ร้อยละ 15.8 เยอรมนี ร้อยละ 12.6 และจีน ร้อยละ 11.3 โดยแบ่งสัดส่วนประเภทสินค้าทางการแพทย์ที่นำเข้า เป็นยา ร้อยละ 42.4 วัสดุที่ใช้ทางการแพทย์ ร้อยละ 23.6 เครื่องมือทางการแพทย์ ร้อยละ 20.2 และสินค้าใช้ในการป้องกันส่วนตัว ร้อยละ 13.8

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image