ส่องเพื่อนบ้าน มองเอเชียแปซิฟิกกับมาตรการรับมือโควิด-19  

เมื่อวันที่ 15 เมษายน รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย ผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เดือนนี้ก็จะก้าวเข้าสู่เดือนที่ 4 ของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น ได้เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการรับมือขึ้นมาเป็นลำดับ จากการปิดสถานศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. รวมทั้งการปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เช่น สถานบันเทิง ร้านนวดแผนโบราณ สนามมวย และธุรกิจให้บริการต่างๆ ตลอดจนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 26 มีนาคม และการห้ามออกนอกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว เพื่อให้ประชาชนอยู่ในบ้าน ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้มีผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาลในทุกๆ ด้าน ทั้งภาคธุรกิจใหญ่น้อย ร้านอาหาร และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งกระทบกับการจ้างงาน มีผู้คนตกงานจำนวนมาก ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมากต่อเศรษฐกิจของทุกๆ ประเทศ แต่มีผลในการป้องกันไม่ให้การระบาดเป็นไปในวงกว้างและทำให้ผู้คนล้มตายจำนวนมาก

“ดังนั้น หากพิจารณาดูให้ดีจะเห็นได้ว่า การป้องกันไม่ให้โควิดลุกลามนั้น ต้องแลกด้วยต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล และผลต่อเนื่องภายหลังก็คือ เศรษฐกิจโลกอาจจะเกิดภาวะถดถอย หรืออาจเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หรือ Great Depression ได้ อย่างไรก็ตาม หากปล่อยให้การแพร่รระบาดของโรคลุกลาม ก็จะทำให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุข ผู้คนล้มตายจำนวนมาก และเศรษฐกิจก็จะเกิดปัญหาเช่นเดียวกัน

การที่ประเทศต่างๆ ยอมแลกปัญหาทางเศรษฐกิจกับการแก้ปัญหาการระบาดของโควิดจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า แต่ละประเทศตัดสินใจอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเราจะยกตัวอย่างเพียงบางประเทศและดูแนวคิดเท่านั้น โดยเริ่มจากกลุ่มที่ยอมสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างมากเพื่อแก้ปัญหานี้ กลุ่มแรกนี้ ได้แก่ จีน โดยจีนนั้นทำการปิดธุรกิจ ปิดเมืองที่มีปัญหาทุกอย่าง และเข้าทำการควบคุมกำกับดูแล ซึ่งในที่สุดปัญหาก็ลดลง และควบคุมทุกอย่างได้ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าจีนปิดเมืองอู่ฮั่นและเมืองใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลหูเป่ย ซึ่งไม่ใช่เมืองหลวง และยังมีเมืองอื่นๆ ที่เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญอยู่ ซึ่งทำให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่มากนัก” รศ.ดร.ศุภัช กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.ศุภัช กล่าวอีกว่า  ต่อมาคือตัวอย่างของประเทศที่ยอมเสียงบประมาณจำนวนมากตั้งแต่ต้น เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ได้แก่ เกาหลีใต้ ซึ่งไม่ได้ปิดประเทศหรือจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชนแบบจีน แต่ใช้การขอความร่วมมือจากประชาชนในเมืองแทกู และคยองซังเหนือให้อยู่แต่ในบ้าน ขอให้ยกเลิกการชุมนุมหรือกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก เลื่อนการเปิดเทอม แต่มาตรการที่สำคัญคือ การตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้นเป็นจำนวนมาก โดยประชาชนสามารถตรวจได้ฟรี ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น ซึ่งทำให้เกาหลีใต้สามารถนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้เพื่อระบุตำแหน่งของผู้ติดเชื้อ หรือผู้ต้องกักตัว รวมทั้งเพื่อส่งคำเตือนบริเวณที่มีผู้ติดเชื้อให้ประชาชนทราบได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ แม้ว่าเกาหลีใต้จะไม่ได้ห้ามต่างชาติเข้าประเทศ แต่ก็มีกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง และการติดตามตัวแบบพิเศษที่เข้มงวด ซึ่งในอีกทางหนึ่งก็ทำให้จำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศลดลง

“สำหรับประเทศที่มีการควบคุมปานกลาง คือ ประเทศญี่ปุ่นที่เลือกที่จะไม่ปิดเมือง ปิดเศรษฐกิจเช่นกัน (จนถึงปัจจุบัน) แต่ให้ประชาชนมีวินัย ใช้วิธีขอร้องให้อยู่บ้าน ให้ลดกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ออกเป็นมาตรการที่เคร่งครัด เพราะญี่ปุ่นพยายามให้มีผลกระทบน้อยที่สุด จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่เกิดปัญหาลุกลามมากเกินไป แต่ก็เริ่มจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งยังจะต้องดูกันต่อไปว่าผลจะเป็นอย่างไร

ประเทศในกลุ่มสุดท้าย คือ สหรัฐฯ รวมถึงประเทศในยุโรปบางประเทศ เช่น อิตาลีและสเปน ชัดเจนว่าในระยะแรกประเทศเหล่านี้มีการควบคุมต่ำ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคโควิดมากนัก ในที่สุดปัญหาก็ลุกลามและควบคุมไม่ได้ และต้องใช้มาตรการเข้มข้นเช่นเดียวกับจีนและเกาหลีใต้อยู่ดี และความเสียหายก็เป็นทวีคูณ ทั้งผู้คนติดเชื้อและล้มตายจำนวนมาก รวมทั้งเศรษฐกิจก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

Advertisement

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า แต่ละประเทศนั้นมีวิธีการมองปัญหาและการควบคุมโรคโควิดที่แตกต่างกัน ขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ วัตถุประสงค์ ฯลฯ ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนทางเลือกของประเทศไทยว่าควรจะดำเนินการแก้ปัญหานี้อย่างไรให้มีผลเสียน้อยที่สุดทางเศรษฐกิจเท่าที่เป็นไปได้ และในขณะเดียวกันต้องควบคุมการระบาดของโลกไม่ให้ลุกลามอย่างเช่นประเทศต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น” รศ.ดร.ศุภัช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image