สงกรานต์ที่หายไป ในม่าน‘โควิด’

28,000 ล้านบาท คือตัวเลขที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินการสะพัดของเม็ดเงินในสงกรานต์เมื่อปี 2562 ครั้ง “โควิด” ยังไม่บุกฟาดฟันมวลมนุษยชาติ โดยเติบโตจากปีก่อนหน้า 2.2% และเป็นการใช้จ่ายทั้งของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

หันมามองปีนี้ ในวันที่สงกรานต์ “ไม่เหมือนเดิม” ไม่ต้องเปิดตำราใดก็ทำนายได้ถึงเศรษฐกิจที่ทรุดหนัก โลกหนุดนิ่ง ไร้การเดินทางท่องเที่ยว หลายประเทศล็อกดาวน์

ไทยแลนด์แดน “วอเทอร์เฟสติวัล” ห้ามสาดน้ำตามถนนหนทาง แม้กระทั่งตั้งถังน้ำหน้าบ้านก็จัดว่าผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องด้วยเสี่ยงแพร่เชื้อไวรัสที่อาจมากับน้ำ จากย่านสีลม ถนนข้าวสาร ในกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงถนนข้าวเหนียวในแดนอีสาน คูเมือง ข่วงประตูท่าแพ แห่งล้านนา จรดปลายด้ามขวาน เงียบสงัด

แม้จะพบกลุ่มเมินคำสั่ง แต่ก็มีเพียงประปราย โดยภาพรวมประชาชนพลเมืองไทยให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการสกัดเชื้อไวรัสโควิด

Advertisement

เจาะลึกลงไปในระดับกิจกรรมครอบครัว กระทรวงวัฒนธรรมออกประกาศดักหน้าให้งดเว้น “รดน้ำดำหัว” ผู้ใหญ่ เพราะผู้สูงวัยคือกลุ่มเสี่ยง หวั่นกลายเป็นเหยื่อไวรัสที่ส่งต่อผ่านลูกหลานโดยไม่เจตนา

ส่วนในวงร่ำสุรา อย่างที่ทราบกันตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลว่าทั่วประเทศงดซื้อขาย งดแจกจ่าย งดตั้งวงกรึ่มนอกเคหสถาน ใครฝ่าฝืนเจอโทษทั้งจำทั้งปรับ

เป็นสงกรานต์ ที่ถนนมิตรภาพไม่ยาวไกลดังเช่นทุกปี ไม่มีภาพชุดรถราแน่นขนัด หรือถ้อยคำจำพวกติดแหง็กให้สื่อพาดหัวข่าวในสงกรานต์ปีนี้

เมืองท่องเที่ยวหลักอย่างพัทยา ซึ่งเคยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองในทุกสงกรานต์ ไม่เพียงเงียบเหงา แต่เข้าข่ายเมืองร้าง ตามคำสั่งปิดร้านอาหาร สถานบันเทิง และกิจการอื่นๆ ไม่ต้องพูดถึงการท่องเที่ยวที่ไม่อาจทำได้แม้แต่จะคิด เพราะยังอยู่ในช่วงรบศึกโควิด

 

DCIM100GOPROGOPR4500.JPG

อย่าง “เชียงใหม่” ในวันประเพณีปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ หากสถานการณ์ปกติ ถือเป็นวันมหาสงกรานต์ ชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวจะออกมาเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างเนืองแน่นนับหมื่นคน บริเวณรอบคูเมือง

รวมทั้งจะมีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวล้านนา ออกมาจากวิหารวัดพระสิงห์ อ.เมืองเชียงใหม่ แห่ขบวนไปพร้อมกับพระพุทธรูปของวัดต่างๆ ไปยังรอบเมืองเชียงใหม่ ให้ทุกคนใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยรด เพื่อขอความมีสิริมงคลให้กับผู้สรงน้ำ

แต่ปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่ ปีนี้…เงียบเชียบ

เช่นเดียวกับที่ “พัทยา” ที่เป็นอีกไฮไลต์ของสงกรานต์ไทย แต่ปีนี้..เงียบเหงา วังเวง

มรกต กุลดิลก แห่งเครือแกรนด์ เบลล่า พัทยา ผู้สละโรงแรมเป็นโรงพยาบาลสนามช่วยผู้ป่วย เปิดใจว่า แม้เคยผ่านวิกฤตการณ์หลากหลาย ตั้งแต่ไข้หวัดนก ปิดสนามบิน จนถึงโรคซาร์ส ไม่มีครั้งใดหนักหนาเท่านี้ โดยเริ่มได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี ล่วงเลยมาถึงสงกรานต์

“ทำงานมา 20 ปี ไม่เคยเห็นบรรยากาศอย่างนี้เลย ผ่านมาเยอะทั้งหวัดนก ปิดสนามบิน ซาร์ส ไม่มีครั้งไหนที่โรงแรมปิดกันเยอะขนาดนี้ ออกไปข้างนอกไม่มีรถเลย พัทยาเงียบมาก ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ยกเว้นกลุ่มที่ยังกลับประเทศไม่ได้ และตอนนี้มีเคอร์ฟิวด้วย”

ถามถึงความคาดหวังหลังสงกรานต์ มรกตบอกว่า เท่าที่คุยกับเพื่อนๆ ในแวดวง มองว่าในช่วงปลายปีนับแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป สถานการณ์อาจเริ่มคลี่คลาย พัทยาค่อยๆ ฟื้น แต่หลังจากกลับมาแล้ว จะทำอะไรได้บ้างนั้น ยังต้องขบคิดกันต่อ

“คาดหวังว่ามาตรการที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่พัทยามีล็อกดาวน์โดยภาครัฐ ส่วนเอกชนก็มีมาตรการเชิงรุกที่จะเข้าไปทุกคอนโด ทุกโรงแรม หากพบกลุ่มเสี่ยงก็พามาตรวจ คือพยายามหาคนป่วยในพื้นที่ออกมาให้ได้มากที่สุด” มรกตเล่า

หันมองเพื่อนบ้านที่มีเทศกาลสงกรานต์เช่นเดียวกับไทยอย่าง สปป.ลาว ก็อยู่ในบรรยากาศไม่แตกต่างกัน

ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี เผยแพร่เอกสารเรื่องทิศทางการเฉลิมฉลองปีใหม่ลาว ตั้งแต่ 20 มีนาคม ก่อนล็อกดาวน์ทั่วประเทศ มีคำสั่งห้ามจัดฉลอง บุนปีใหม่ลาว ห้ามสาดน้ำบนถนน งดก่อพระเจดีย์ทราย ใครไปวัดเพื่อสรงน้ำพระ เจ้าหน้าที่ดูแลเข้มงวด ให้อยู่ในอารามครั้งละไม่เกิน 40 คน อีกทั้งมีการรณรงค์ให้สรงน้ำพระพุทธรูปอยู่เฮือน “ซึ่งก็คือสรงน้ำพระอยู่ที่บ้าน สอดคล้องสถานการณ์ที่สั่งให้คน #stayathome แต่เปิดช่องให้ดำเนินตามฮีตคอง” หรือจารีตประเพณี จำพวกบายศรีสู่ขวัญได้

ในขณะที่กัมพูชานั้น สมเด็จฯ ฮุน เซน ก็ย้ำชัดว่า ห้ามจัดงานฉลองสงกรานต์เช่นกัน โดยสั่ง “เลื่อน” เทศกาล ห้ามรวมตัวแม้แต่ในวัดวาอาราม มีการให้สัญญากับชาวกัมพูชาว่าจะชดเชยวันหยุดให้เป็นเวลา 5 วัน ส่วนจะได้เมื่อไหร่นั้น ก็คงต้องลุ้นกันต่อไปในวันที่สถานการณ์ดีกว่านี้

เช่นเดียวกับเมียนมา ที่ประกาศงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของผู้คนไปจนถึง 30 เมษายน รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ที่คนพม่าเรียกว่าตะจาน

ความไม่เหมือนเดิมของสงกรานต์ในปีนี้ หากมองระยะสั้น อาจเป็นเพียงการงดเว้นการเฉลิมฉลองชั่วคราวตามสถานการณ์ แต่ดังที่นักวิชาการมากมายพร้อมใจฟันธงว่าโลก “หลังโควิด” ที่แม้ผ่านพ้นไปแล้ว ก็จะไม่เหมือนเดิมตลอดกาล นี่จึงอาจเป็นจุดเปลี่ยนในพฤติกรรมบางประการ รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีที่สามารถปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนในประวัติศาสตร์

สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชน ผู้ผลักดันเน้นย้ำความเป็น วัฒนธรรมร่วม ในอุษาคเนย์ของสงกรานต์เป็นประจำทุกปี สงกรานต์ปีนี้ที่ ไม่เหมือนเดิม สุจิตต์มองย้อนอดีตว่า จริงๆ แล้วสงกรานต์อย่างที่เราคุ้นเคยในบรรยากาศสาดน้ำอึกทึกพร้อมหรสพแดนซ์กระจาย คือสิ่งที่เพิ่งเกิดใหม่ในภายหลัง

เพราะแต่เดิมนั้นเป็นเพียงกิจกรรมในวงแคบๆ ในหมู่ชนชั้นนำ อย่างในยุคอยุธยาก็ทำกันในวัดหลวงสำคัญๆ มีการทำบุญ เลี้ยงพระ ก่อพระเจดีย์ทราย ไม่ได้เป็นอีเวนต์ใหญ่โตโอฬารแนวมหรสพปาร์ตี้ที่ขยับสู่การเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ หากไม่นับว่าสงกรานต์ 2563 ต้องยึดหลัก Social Distancing หรือ Physical Distancing เพื่อรักษาระยะห่างทางร่างกาย หลีกไกลเชื้อไวรัส ก็คล้ายจะเป็นการย้อนคืนสู่สงกรานต์ยุคเก่าที่คนไทยส่วนใหญ่ในยุคร่วมสมัยไม่เคยรู้จัก

สุจิตต์ ยังมองว่า นับจากนี้ไป ถ้าเทศกาลสงกรานต์เปลี่ยนไปก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ประเพณีใด หากจะมีส่วนทำให้โรคแพร่ระบาด เกิดความสูญเสีย ก็ต้องปรับเปลี่ยนกันไป

แม้ประโยค “สาดน้ำออนไลน์” ในสงกรานต์ปีที่ผ่านๆ มา คล้ายเป็นเพียงมุขฮายั่วล่อ แต่ในปีนี้คนไทยและเพื่อนบ้านกลับต้องพากันเล่นสงกรานต์และอำนวยพรกันผ่านไลน์ เฟซบุ๊ก และช่องทางอื่นๆ เข้าจริงๆ

นี่จึงเป็นสงกรานต์ครั้งประวัติศาสตร์ที่ต้องถูกจดจารไว้ใน “จดหมายเหตุโควิด-19” ซึ่งกรมศิลปากรประกาศจัดทำบันทึกประวัติศาสตร์โรคระบาดร้ายแรงในยุคร่วมสมัยที่คนไทยในศักรานี้ได้ร่วมเผชิญพร้อมมวลมนุษยชาติทั้งปฐพี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image