เหรียญมี 2 ด้าน ภัยเงียบ ‘เยาวชน’ ช่วงกักตัว ‘อยู่บ้าน’

ภาพประกอบ

เหรียญมี 2 ด้าน ภัยเงียบ ‘เยาวชน’ ช่วงกักตัว ‘อยู่บ้าน’

พื่อควบคุมและเร่งยุติปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาด รัฐบาลและหน่วยงานต่างมีมาตรการเข้มข้น ประการสำคัญคือ ให้ประชาชนกักตัวอยู่ที่พักให้มากที่สุด

ทว่า…เหรียญมี 2 ด้าน ฉันใด การอยู่บ้าน อาจจะช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ แต่กลับต้องเจออันตรายอีกรูปแบบหนึ่ง โดยเฉพาะกับ “เด็กและเยาวชนไทย”

จึงเป็นสิ่งที่ “พ่อแม่ต้องรู้” และ “เฝ้าระวังรอบด้าน”

เริ่มที่ภัยจาก “การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า”

Advertisement

พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์เเห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์นักสูบในประเทศไทย มีแต่จะมากขึ้น โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน ที่เข้าใจผิดถึงผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป ที่มีอัตราการสูบคงตัว เช่น ไม่เป็นมะเร็งปอด เพราะไม่มีการเผาไหม้ของควัน แต่ใช้การระเหยของน้ำยา ทั้งนี้ ก็ยังไม่ปลอดภัยถึงขั้นแนะนำให้ให้คนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่ทางที่ดีเลยคือไม่ควรสูบบุหรี่ทุกประเภทไปเลย

“มีข้อมูลศึกษาเปรียบเทียบการสูบบุหรี่กับการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีน พบว่าในจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต เป็นผู้ที่มีประวัติการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 14 เท่า ยกตัวอย่างผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต 50 ราย จะพบว่ามีผู้มีประวัติการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า 40 กว่าราย”

เขาอธิบายถึงการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นการบั่นทอนความแข็งแรงของสุขภาพร่างกายให้อ่อนแอ เหมือนคนป่วยที่มีโอกาสรับเชื้อโรคได้มากกว่าคนแข็งแรง ไม่เพียงผลเสียจะเกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ยังเกิดกับคนรอบข้าง เพราะลักษณะการสูบและพ่นควันออกมา ได้นำพาสารคัดหลั่งในร่างกายและเป็นพาหะนำเชื้อโรค ให้กระจายไปยังคนข้างเคียงที่สูดดม ในส่วนของควันบุหรี่ทั่วไปสูดดมในระยะ 1-2 เมตร ติดแน่นอน ส่วนบุหรี่ไฟฟ้าที่มีไอระเหยมากกว่าไกลกว่า ความเสี่ยงก็มากกว่าแน่นอน

พชรพรรษ์กล่าวอีกว่า แม้ไม่มีข้อมูลชี้ชัด ว่าคนจะสูบบุหรี่มากขึ้นหรือไม่ในช่วงกักตัวอยู่บ้าน แต่เชื่อว่าการต้องกักตัวอยู่บ้าน แล้วไม่มีกิจกรรมทำ เข้าไม่ถึงโลกออนไลน์ที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะเด็กในเมืองก็อาจมีความเสี่ยงมากกว่าเด็กตามภูมิภาค ที่มีพื้นที่และยังพอหากิจกรรมทำได้

ส่วนอีกภัยที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนในเมืองและตามภูมิภาคอย่างทั่วถึง เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่เชื่อมต่อโลกออนไลน์ได้ นั่นคือ “พนันออนไลน์”

ณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว เครือข่ายคนรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า สถานการณ์เด็กไทยกับการพนัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการสำรวจสังคมไทยทุก 2 ปี การสำรวจแต่ละครั้ง พบผู้เล่นการพนันเพิ่มขึ้นตลอด ไม่ได้ลดลงเลย อย่างผลสำรวจปี 2562 พบคนไทยเล่นพนันประมาณ 30 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 1 ล้านคน ถือว่าเยอะมาก ขณะที่เด็กและเยาวชนก็เข้าถึงการพนันได้ง่ายและเยอะขึ้นเช่นกัน

“ตอนนี้การพนันแปรรูปตามสภาพในยุคเทคโนโลยี ทำให้จากเดิมการพนันที่เคยอยู่ตามซอกเหลือบ ยกระดับไปอยู่ในอินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย วันนี้ไม่ใช่แค่ฟุตบอล แต่ยังมีการพนันกีฬาอื่นๆ มากมาย บาสเกตบอล วอลเลย์บอล หวยใต้ดิน ไก่ชน วัวชน เหล่านี้รวมอยู่ในเว็บไซต์พนัน”

ณัฐพงศ์กล่าวอีกว่า เว็บไซต์พนันยังทำการตลาดเชิงรุกในสื่อออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ผ่านตัวบุคคลที่มีชื่อเสียง เน็ตไอดอล ซึ่งณัฐพงศ์เป็นห่วงว่าเด็กและเยาวชนที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ท่องเข้าไปในโลกออนไลน์ทั้งวัน ก็มีโอกาสสูงที่จะได้เห็นเว็บไซต์พนันที่มีอยู่จำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีระบบคัดกรองโฆษณาเหล่านี้ ทำให้อาจไปกระตุ้นความอยากรู้อยากลอง ส่งผลให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรพนันมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็พูดคุยเรื่องพนันจนเป็นเรื่องปกติ

“ต้องบอกว่าการพนันทุกชนิด ออกแบบให้ผู้เล่นมีโอกาสชนะน้อยกว่าเจ้ามืออยู่แล้ว ไม่ว่าจะการเล่นในกาสิโน ที่คนทั่วไปอาจมองว่าไม่ซับซ้อนอะไร อาจจะชนะได้ง่ายๆ แต่หากพิจารณาดีๆ แล้ว เราชนะเจ้ามือยาก ยิ่งพนันออนไลน์ มักจะมีโปรโมชั่นให้ลองเล่นก่อน แจกเงินขวัญถุงให้เล่นก่อน เพื่อให้เรารู้วิธีเล่นมัน พอเริ่มสนุก ก็มีโอกาสสูงที่เราจะเอาเงินตัวเองมาเล่นจริง”

ณัฐพงศ์กล่าวต่ออีกว่า ที่น่ากังวลตอนนี้คือ พนันออนไลน์ในเกมบางชนิด ที่เด็กๆ จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อสุ่มได้ไอเท็มในเกม เป็นการลงทุนด้วยเงิน เสียเงินเพื่อหวังให้ได้ไอเท็มดีๆ นำไปเล่น ตรงนี้ไม่ต่างอะไรกับการพนัน เป็นการพนันที่ไม่รู้ว่าคือการพนัน อันนี้น่าห่วง ฉะนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชน สร้างความเข้าใจให้เขา ครอบครัว และโรงเรียน ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน และสอนให้เด็กรู้เท่าทัน

“วันนี้สังคมไทยพูดถึงการพนันน้อยมาก มองเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ต่างรู้ว่าเป็นผลกระทบ แต่เด็กอาจมองเป็นเรื่องสนุก สีสัน ความเท่ ซึ่งหลายคนที่ชีวิตพังเพราะการพนัน ก็เริ่มเล่นจากความสนุก ขำๆ จนเลยเถิด บานปลายเยอะแยะ สำคัญที่สุดคือ กลไกของรัฐจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 ที่แม้หลายเรื่องจะไม่ทันยุคสมัยไปบ้าง แต่ก็มีระบุถึงการห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีเล่นการพนัน” ณัฐพงศ์กล่าว

ขณะที่ สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การกักตัวอยู่บ้านสามารถเป็นช่วงเวลาสร้างสรรค์ได้ ไม่ว่าจะเรื่องการเรียนออนไลน์ต่างๆ เช่น หลักสูตรสอนภาษา อย่างตนเองขณะนี้กำลังศึกษาหลักสูตรทำอาหารและขนม อย่างไรก็ตาม สภาเด็กฯไม่ได้นิ่งนอนใจ เราพยายามขับเคลื่อนการให้ความรู้เด็กและเยาวชน ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ช่วง 20.00 น.ทุกวัน ตั้งแต่เรื่องการป้องกันและดูแลตัวเองช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด การใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี การเสพและแชร์ข่าวสารที่ถูกต้อง ตลอดจนกิจกรรมน่าสนใจช่วงกักตัว

สภาเด็กฯยังได้ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายสำรวจสถานการณ์และความต้องการของเด็กและเยาวชน ในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทางออนไลน์ เพื่อจะนำข้อมูลไปใช้สนับสนุนและพัฒนาเด็กและเยาวชน ระหว่างและหลังสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ต่อไป สนใจทำแบบสอบถามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก “สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย” หรือ “UNICEF Thailand”

 

 

ณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว เครือข่ายคนรุ่นใหม่ไม่พนัน
ณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว เครือข่ายคนรุ่นใหม่ไม่พนัน
สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์เเห่งประเทศไทย
พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์เเห่งประเทศไทย
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image