กพฐ.ถก ‘รับน.ร.-เปิดเทอมเรียนยาว 10เดือนทำเด็กเครียด’ 17 เม.ย.นี้

กพฐ.ถก ‘รับน.ร.-เปิดเทอมเรียนยาว 10เดือนทำเด็กเครียด’ 17 เม.ย.นี้

กพฐ. – เมื่อวันที่ 14 เมษายน นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กพฐ.วันที่ 17 เมษายนนี้ คาดว่าที่ประชุมจะหารือกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอเรื่องการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม จากเดิมที่จะเปิดวันที่ 18 พฤษภาคม เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 อยู่ในขณะนี้

ตนเห็นว่าเมื่อกำหนดเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคมแล้ว ครูต้องปรับตัวอย่างมาก และหากไม่มีการปิดภาคเรียนเลย เนื่องจากตามกำหนดการที่ สพฐ.วางไว้คือ เปิดภาคเรียนที่ 1 วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 พฤศจิกายน และเปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 30 เมษายน 2564 รวมระยะเวลา 10 เดือนซึ่งเป็นการเรียนติดต่อกันเป็นเวลานาน มีความกังวลว่านักเรียนจะเครียดหรือไม่

ซึ่งตนมีความเห็นว่าหาก สพฐ.ยึดผลสัมฤทธิ์การเรียน หรือสมรรถนะที่อยากให้นักเรียนได้รับ ซึ่งจะให้โรงเรียนปรับตัวหรือวางแผนการสอนตามความพร้อมของโรงเรียน โดยไม่ต้องกำหนดวันเป็นหลักได้หรือไม่

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ที่สพฐ.ปรับวิธีการโดยเปลี่ยนมาเป็นสมัครทางออนไลน์ในวันที่ 3-12 พฤษาคมนั้น มีข้อดีคือ นักเรียนและผู้ปกครองไม่ต้องมาสมัครเอง และหลักฐานต่างๆ สามารถส่งทางออนไลน์ได้ทั้งหมด

Advertisement

ประเด็นที่ต้องหารือกันคือ เรื่องการสอบมากกว่า ถ้าสอบทางออนไลน์ อาจจะมีปัญหาถ้าไม่มีเทคโนโลยีที่ชัดเจนในการตรวจสอบว่านักเรียนทำข้อสอบอยู่จริง เป็นต้น แต่ถ้าจัดสอบในโรงเรียนได้ โดยทำตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น จัดระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น

ประธาน กพฐ. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าโรงเรียนที่จะจัดสอบ คือโรงเรียนแข่งขันสูงเท่านั้น โรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางอาจจะไม่มีปัญหานี้ เพราะมีนักเรียนเข้ามาสมัครเรียนเป็นไปตามแผนการรับที่วางไว้ อาจจะน้อยกว่าหรือเกินกว่าจำนวนรับที่กำหนดไว้เล็กน้อย เชื่อว่าโรงเรียนสามารถรับนักเรียนเข้าเรียนได้ทั้งหมด

“ส่วนข้อกังวลเรื่องการทุจริต ความไม่โปร่งใสในการรับนักเรียนนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะสพฐ.ได้กระจายอำนาจการรับนักเรียนให้พื้นที่ไปแล้ว และหากเกิดความไม่โปร่งใสขึ้น สพฐ.จะพิจารณาดำเนินการทางวินัยต่อไป ผมคิดว่าปัญหาเรื่องการรับนักเรียนที่ไม่โปร่งใสนั้น จะน้อยลง เพราะปัจจุบันมีสื่อโชเซียลที่คอยควบคุมอยู่ ใครทำอะไรไม่ถูกต้องใช้เวลาไม่นานก็จะกระจายข่าวไปทั่วแล้ว เชื่อว่าผู้อำนวยโรงเรียนจะไม่กล้าทำเหมือนในอดีต แต่ถ้ามัวกังวลเรื่องนี้ ก็จะไม่สามารถผลักดันให้โรงเรียนมีความเป็นอิสระได้ ต้องคิดว่าปัญหาการรับนักเรียนนี้คนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ทำ จะไปเอาพฤติกรรมคนกลุ่มน้อยมาให้คนกลุ่มใหญ่เดือดร้อน เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง” นายเอกชัยกล่าว

Advertisement

ด้านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า การรับสมัครนักเรียนระดับชั้น ม.1-ม.4 สังกัดสพฐ.ที่จะรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ในวันที่ 3-12 พฤษภาคม ตนหารือกับ สพฐ.ถึงแนวทางการจัดสอบ เบื้องต้นจะแบ่งเป็น 3 แนวทางคือ 1.การจัดสอบที่โรงเรียน 2.จัดสอบในโรงเรียนโดยใช้มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดอย่างเคร่งครัด และ 3.การสอบทางออนไลน์ แต่ถ้าต้องสอบผ่านออนไลน์จริง ศธ.จะต้องไปดูข้อมูลเรื่องผลการสอบ ความสามารถของนักเรียน และประวัติการเรียนที่ผ่านมา เพื่อเกิดความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตด้วย อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากให้ถึงขั้นสอบออนไลน์ แต่ถ้าจำเป็นก็ไม่มีปัญหา พร้อมที่จะเตรียมหาแนวทางป้องกันการทุจริตต่อไป ทั้งนี้การสอบเข้าเรียนนั้น ยังไม่มีข้อสรุป ศธ.จะต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image