แนะ5อุตสาหกรรมครัวเรือนปั๊มรายได้ที่บ้านสู้โควิด-19

กสอ.แนะ5 อุตสาหกรรมครัวเรือนปั๊มรายได้ที่บ้าน สู้โควิด-19

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เปิดเผยว่า ผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการและผู้ประกันตนได้รับความเสียหาย ปิดบริการชั่วคราว โดยครอบคลุมสถานประกอบการ 35,068 แห่ง และผู้ประกันตน 644,136 คน เพื่อผลักดันให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน และผู้ว่างงานกลุ่มนี้อยู่รอด กสอ.จึงมีการสำรวจแนวทางเพื่อเยียวยา โดยมีอาชีพทำเงิน 5 อุตสาหกรรมครัวเรือน ที่ผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำเนินการได้ทันที

นายณัฐพล กล่าวว่า 5 อุตสาหกรรมครัวเรือน ประกอบด้วย 1.กลุ่มสมุนไพรแปรรูป ปีที่ผ่านมามีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 18,200 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าตลาดดังกล่าวจะมีโอกาสเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 20,000 ล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจครัวเรือนที่น่าสนใจ นำพืชสมุนไพร หรือพืชที่ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจหลัก มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล อาทิ สบู่เหลวล้างมือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย แชมพู และอาหารเสริมสุขภาพ ฟ้าทะลายโจร น้ำขิงสำเร็จรูป แต่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้โดดเด่น แตกต่าง กระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค 2.กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เน้นการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปที่สามารถเก็บรักษาได้นานในอุณหภูมิปกติ และคงรสชาติ สี กลิ่นเดิมของอาหารโดยปีนี้ กสอ.เตรียมงบประมาณ 5 ล้านบาท สำหรับโครงการเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปแบบครบวงจร เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ 160 ราย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหาร 5 ผลิตภัณฑ์

Advertisement

3.กลุ่มแปรรูปผลไม้ โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีวิตามินซีเพื่อลดการติดเชื้อ ดูแลสุขภาพ อาทิ น้ำส้ม น้ำฝรั่ง น้ำกีวี น้ำสตรอเบอร์รี่ น้ำมะนาว ลูกหม่อน และผักผลไม้หลากสี ปีนี้ กสอ.เตรียมงบประมาณเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปกว่า 28 ล้านบาท เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ 1,400 ราย และพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป 200 ผลิตภัณฑ์ 4.กลุ่มสิ่งทอ ผู้ประกอบการสิ่งทอสามารถต่อยอดวัตถุดิบผ้าอย่างผ้ามัสลินสู่หน้ากากผ้าได้ ปัจจุบันเป็นที่ต้องการ และ5.กลุ่มงานคราฟต์รักษ์โลก เพราะการเลือกใช้วัสดุ หรือการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังเป็นเทรนด์ที่มาแรงในปีนี้และอีกหลายปีข้างหน้า อาทิ กระเป๋ากระจูดไซส์มินิ ดีไซน์เก๋ สำหรับใส่สมาร์ทโฟน หรือหน้ากากอนามัย ฯลฯ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม ถือเป็นหนึ่ง ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพสูงและน่าจับตามอง โดยปีที่ผ่านมามีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 8.7 หมื่นล้านบาท

“นอกจากนี้ผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เข้ามาเป็นช่องทางเสริม เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าในภาวะวิกฤตได้ อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม และการขนส่งแบบเดลิเวอรี่”นายณัฐพลกล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image