โควิด-19ไม่เป็นอุปสรรค”อาร์เซ็ป”เร่งเจรจาประเด็นคงค้าง กำหนดลงนามปลายปี63

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้วิกฤตไวรัสโควิด-19 ไม่กระทบการเจรจา RCEP หลังการประชุมผ่านระบบทางไกลอย่างเป็นทางการนัดแรกสำเร็จด้วยดี พร้อมเดินหน้าประชุมคณะทำงานขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย และประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP ตามแผน มั่นใจสามารถลงนามได้ปลายปีนี้ ตามที่ผู้นำตั้งเป้าหมายไว้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ มีมาตรการจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถจัดการประชุม RCEP ตามรูปแบบปกติได้ สมาชิก RCEP จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประชุมผ่านระบบทางไกลแทน โดยได้นำระบบนี้มาใช้เป็นครั้งแรกในการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP (RCEP-TNC) ต้นเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี

นางอรมน กล่าวว่า การประชุมดังกล่าว มีการหารือเกี่ยวกับแผนการทำงานในปี 2563 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมต่างๆ ของ RCEP ในช่วงนี้ถึงช่วงกลางปี 2563 เช่น การประชุมคณะทำงานขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย และการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP (RCEP-TNC) เป็นต้น มาเป็นการประชุมผ่านระบบทางไกล โดยในส่วนการประชุมคณะทำงานเพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ที่ผ่านมาดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 6 บท เหลืออีก 14 บท ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ หลังจากนี้ สมาชิกจะประชุมผ่านระบบทางไกลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งจะทำให้สมาชิก RCEP มีเวลาเพียงพอในการดำเนินกระบวนการภายในได้ทันการลงนามความตกลงในปลายปีนี้

“การประชุม RCEP-TNC ครั้งที่ 29 จะประชุมทางไกล ระหว่าง 20-24 เมษายนนี้ เพื่อหารือประเด็นคงค้าง เช่น การปรับตารางข้อผูกพันของสมาชิก RCEP ให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน การจัดตั้งกลไกการทำงานของ RCEP ภายหลังความตกลงมีผลบังคับใช้ และการประสานงานกับอินเดียเพื่อร่วมอยู่ในความสำเร็จของ RCEP เป็นต้น โดยการนำการประชุมผ่านระบบทางไกลมาใช้ จะทำให้การทำงานของ RCEP ดำเนินไปได้ตามกำหนด “นางอรมน กล่าว

Advertisement

นางอรมน กล่าวว่า การลงนามความตกลง RCEP จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งในส่วนของไทย RCEP จะช่วยขยายการส่งออก รวมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยเฉพาะน้ำตาล อาหารแปรรูป มันสำปะหลัง กุ้ง และข้าว ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกที่สำคัญ ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

นอกจากนี้ จะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ให้สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าในระดับภูมิภาคได้ พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image