หมอทวีศิลป์ แจง คนไทย 47 ราย ป่วยโควิด-19 ตาย “เป็นชายมากกว่าหญิง”

“หมอทวีศิลป์”แจง คนไทย 47 ราย ป่วยโควิด-19 ตาย “เป็นชายมากกว่าหญิง”

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยเสียชีวิตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม – 17 เมษายน มีผู้เสียชีวิตสะสม 47 ราย รายงานเบื้องต้นพบว่า อัตราป่วยตายคิดเป็นร้อยละ 1.7 ซึ่งในต่างประเทศมีอัตราป่วยตายประมาณร้อยละ 4-5 โดยในผู้เสียชีวิต 47 ราย ในจำนวนนี้เป็นสัญชาติไทยร้อยละ 87 และชาวต่างชาติร้อยละ 13 ค่ามัธยฐานเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 57 ปี โดยมีอายุน้อยสุด 28 ปี และสูงสุด 85 ปี และในช่วงอายุ 0-19 ปี มีผู้ป่วย 130 รายแต่ยังไม่พบผู้เสียชีวิต และในจำนวนผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยทั้งหมด 2,733 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 1,445 ราย เสียชีวิต 38 รายคิดเป็นร้อยละ 2.6 เพศหญิง 1,214 ราย เสียชีวิต 9 รายคิดเป็นร้อยละ 0.7

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โรคประจำตัวที่พบร่วม ในผู้เสียชีวิต 47 ราย ได้แก่ 1.โรคเบาหวาน 43 ราย 2.โรคความดันโลหิตสูง 38 ราย 3.ไขมันในเลือดสูง 19 ราย 4.โรคหัวใจ 13 ราย 5.ภาวะอ้วน 9 ราย 6.โรคไต 9 ราย 7.อื่นๆ 15 ราย และไม่มีโรคประจำตัว 17 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า แผนภูมิการกระจายตัวของผู้เสียชีวิตตามจังหวัดต่างๆ ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 เมษายนพบผู้ป่วยเสียชีวิตสะสม 32 ราย และเมื่อนับไปอีก 7 วัน ซึ่งจะเป็น ข้อมูลเมื่อวันที่ 17 เมษายนพบผู้ป่วยเสียชีวิตสะสมรวม 47 ราย ดังนั้นช่วงระยะเวลา 7 วันเสียชีวิตเพิ่ม 15 รายเฉลี่ยแล้วเสียชีวิตประมาณวันละ 2-3 ราย ซึ่งทางการแพทย์ได้ทำการพยายามยื้อชีวิตของผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถแต่ก็ไม่สามารถยื้อไว้ได้

Advertisement

ส่วนปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยเสียชีวิตทั้ง 47 รายนั้น พบว่า 1.สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน จำนวน 9 ราย 2.ไปในสถานที่แออัด เช่น สถานบันเทิง ร้านอาหาร ปาร์ตี้ บ่อนพนัน สถานที่มีการรวมกลุ่มคน จำนวน 9 ราย 3.อาชีพเสี่ยง เช่น ขับรถสาธารณะ ร้านอาหาร พนักงานขายของ จำนวน 7 ราย 4.เดินทางกลับจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อังกฤษ ปากีสถาน อินโดนีเซีย จำนวน 7 ราย 5.ผู้เกี่ยวข้องในสนามมวย จำนวน 5 ราย 6.ปัจจัยอื่นๆ เช่น สัมผัสผู้เดินทางต่างชาติ สถานพยาบาล จำนวน 3 ราย และ 6.ระบุไม่ได้หรืออยู่ในระหว่างการสอบสวนโรคจำนวน 7 ราย

“สถานที่แออัดและมีคนจำนวนมากเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูงมากและจะต้องหลีกเลี่ยง ซึ่งสามารถโยงไปกับภาพที่เห็นตามข่าวเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่มีจำนวนประชาชนไปรอขอรับของบริจาค และไปยืนแออัดกันจำนวนมากซึ่งเป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image