สธ.เปิด 5 เงื่อนไข คลายล็อกดาวน์ ชู 32 จังหวัดนำร่องก่อน เริ่มปลาย เม.ย.นี้

วันที่ 20 เมษายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เป็นประธานประชุมแนวทางผ่อนปรนมาตรฐานล็อกดาวน์ในประเทศไทย ร่วมกับที่ปรึกษาด้านวิชาการ คณบดีคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเตรียมข้อสรุปเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) พิจารณาหาแนวทางผ่อนคลายสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรคและที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการ สธ.เฉพาะการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 แถลงภายหลังการประชุม
ว่า รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ.ได้ประชุมกับที่ปรึกษาด้านวิชาการ ร่วมกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ เรื่องการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 โดยมี ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วม

นพ.คำนวณกล่าวว่า ได้หารือกับทุกฝ่าย และมีความเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนวิกฤตโรคระบาดในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่การกลับเป็นเหมือนเดิมทุกประการ การเปลี่ยนถ่ายจะต้องมีเงื่อนไข ดังนี้ 1.สธ.และหน่วยงานทุกภาคส่วน ต้องมีความเข้มข้นในมาตรการตรวจคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ พร้อมเตรียมการเรื่องการกักกันผู้เดินทางเพื่อเฝ้าสังเกตอาการในระยะ 14 วัน เพราะขณะนี้ยังมีการนำเชื้อไวรัสเข้ามาจากภายนอกประเทศได้ และทุกจังหวัดจะต้องมีระบบค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง/ชุมชนแออัด/กลุ่มแรงงาน/พื้นที่มีความเสี่ยงต่างๆ โดยจะต้องไม่ให้มาตรการด้านนี้ลดหย่อนลง จะต้องมีความเข้มข้นในการค้นหาผู้ป่วย และจะต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการได้ในทุกจังหวัด

นพ.คำนวณกล่าวว่า 2.เรื่องของประชาชนคนไทย ทุกภาคส่วน จะต้องร่วมกันสร้างข้อตกลงว่า ทุกคนจะปฏิบัติสุขลักษณะที่ถูกต้อง เช่น เมื่อออกไปในที่สาธารณะต้องสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม งดการชุมนุม และตระหนักเสมอว่าจะใช้ชีวิตเหมือนเดิมไม่ได้ เพื่อป้องกันการพบผู้ป่วยใหม่มากขึ้น ซึ่งในขณะนี้เราควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดีแล้ว

Advertisement

นพ.คำนวณกล่าวว่า 3.ภาคธุรกิจ โดยขณะนี้มีผู้ตกงานประมาณ 7-10 ล้านคน ดังนั้นทางหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้หารือพูดคุยกันเรื่องหากจะต้องมีการเปิดกิจการ จะต้องจัดระดับกิจการตามความเสี่ยง คือ กิจการที่มีความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงกลาง และความเสี่ยงต่ำ พร้อมทั้งปรับมาตรการในกิจการ เพื่อลดความเสี่ยงลงให้น้อยที่สุด

“โดยจะต้องมีเงื่อนไขในการปรับ ดังนี้ 1.ด้านความหนาแน่นของผู้เข้าใช้บริการ ภาคธุรกิจจะต้องกำหนดว่าพื้นที่ขนาดเท่าไหร่ สามารถรองรับผู้เข้าใช้บริการได้กี่คน 2.ด้านกิจกรรมที่ผู้บริการเข้าไปใช้ เช่น จะต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่มีการร้องเชียร์ ไม่พูดจากันมาก 3.ด้านสถานที่จะต้องมีลักษณะที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก 4.การสร้างระยะห่างในพื้นที่ เป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจที่จะต้องคำนวณพื้นที่นั้นๆ ว่าควรจะเว้นระยะห่างอย่างไรสำหรับรองรับผู้เข้าใช้บริการ” นพ.คำนวณกล่าว

นอกจากนี้ นพ.คำนวณกล่าวว่า สำหรับกิจการที่มีความเสี่ยงสูง จะยังไม่อนุญาตให้เปิดในขณะนี้ ส่วนกิจการที่มีความเสี่ยงกลาง สามารถจัดการความเสี่ยงให้ลดลงมาได้ ทยอยเปิดได้

Advertisement

“เช่น ร้านตัดผม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โดยจะต้องไม่มีการจัดโปรโมชั่น นาทีทอง พร้อมทั้งปรับพื้นที่รองรับผู้เข้าใช้บริการ เช่น ใน 1 ชั่วโมง สามารถเข้าได้กี่คน การบริการห้องน้ำจะต้องไม่ให้เข้าคิวรอจำนวนมาก รวมถึงจะต้องมีแอพพลิเคชั่น คัดกรองผู้เข้าใช้บริการ และบันทึกข้อมูลก่อนเข้าและออกห้างสรรพสินค้า เพื่อการติดตามได้รวดเร็วหากเกิดปัญหา เช่น จะต้องทราบว่ามีผู้เข้าใช้บริการในห้างสรรพค้ากี่คนในช่วงเวลาชั่วโมงนั้นๆ ส่วนการเปิดโรงเรียน จะแบ่งเป็นโรงเรียนที่ไม่มีความเสี่ยง เช่น โรงเรียนในต่างจังหวัดที่ไม่มีความแออัด ก็สามารถเปิดทำการได้ปกติ แต่หากเป็นโรงเรียนที่ติดเครื่องปรับอากาศก็จะต้องมีมาตรการปรับเปลี่ยนต่างกันไป เช่น โดยจะต้องจัดที่นั่งห่างๆ กัน แต่การเปิดโรงเรียนจะไม่สัมพันธ์กับการทยอยเปิดกิจการอื่นๆ เนื่องจากมีประกาศให้เลื่อนเปิดโรงเรียนได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมอยู่แล้ว และกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น สวนสาธารณะ สามารถเปิดได้ อนุญาตให้เข้าใช้บริการได้ ในการให้ประชาชนออกไปเดินเล่น ออกกำลังกายได้ แต่จะต้องไม่ใช่เข้าไปเข้าชุมนุม หรือจับกลุ่มกันทำกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ” นพ.คำนวณกล่าว

นพ.คำนวณกล่าวว่า จะต้องยอมรับว่ากิจการบางอย่างที่มีความเสี่ยงสูงมาก ต้องหยุดยาว เช่น บาร์ ผับ สถานบันเทิง คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศ สนามพนัน บ่อน และหากในอนาคตจำเป็นต้องปิดกิจการใดอีก ก็จะไม่ทำแบบครอบจักรวาล จะสั่งปิดเฉพาะจุดที่มีปัญหา

นพ.คำนวณกล่าวว่า 5.ประเทศไทยจะต้องมีการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไวรัสแบบเรียลไทม์ ทั้งในระดับประเทศ จังหวัดและอำเภอ เพื่อให้ประชาชนทราบว่าสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง หากมีอันตราย มีความเสี่ยงก็ต้องทำการหยุด หรือถอยกลับมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ในแต่ละจังหวัด

“เรามั่นใจว่า หากเราทำ 5 ส่วนนี้ได้ เราจะเดินไปข้างหน้า แต่เราจะไม่เดินไปพร้อมกัน 77 จังหวัด แต่จะเลือกตามกลุ่มความเสี่ยง และทยอยเปิดในแต่ละพื้นที่ ขณะนี้พิจารณาว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 14 เมษายน พบว่า มี 32 จังหวัดในประเทศไทยที่ไม่มีการรายงานผู้ป่วยใหม่ในรอบ 14 วัน ถือว่าเป็นการติดเชื้อในระดับต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเปลี่ยนได้ก่อน ในกลุ่มนี้เบื้องต้นอาจจะมีการทดลองเปิดผ่อนคลายใน 3-4 จังหวัด ที่ไม่เคยพบผู้ป่วยก่อน จากนั้นจังหวัดที่เหลือจะเริ่มในปลายเดือนเมษายนนี้ หากมีความเรียบร้อยดี ถัดไปก็จะปรับเพิ่มในในจังหวัดกลุ่มที่ 2 อีก 38 จังหวัด ที่มีการติดเชื้อแบบประปราย ใน 2 สัปดาห์ถัดไป คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม ส่วนใน 7 จังหวัด ที่มีการระบาดต่อเนื่อง แต่ไม่มีการระบาดใหญ่ ก็จะเริ่มผ่อนคลายในต้นเดือนมิถุนายน” นพ.คำนวณกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image