ครม.เห็นชอบถ้อยแถลงร่วม รัฐมนตรี ศก.อาเซียน-ญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบโควิด-19

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก

ครม.เห็นชอบถ้อยแถลงร่วม รัฐมนตรี ศก.อาเซียน-ญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบโควิด-19

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน -ญี่ปุ่น ว่าด้วยข้อริเริ่มด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะมีการรับรองร่างถ้อยแถลงในวันที่ 22 เมษายนนี้ เพื่อเป็นการสะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญคือ

1.ร่างถ้อยแถลงเป็นเอกสารแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อ

1) รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งอาเซียนและญี่ปุ่นได้พัฒนาความสัมพันธ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ส่งผลให้การค้าและการลงทุนของสองฝ่ายขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 2 ของอาเซียน ส่วนอาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของญี่ปุ่น โดยทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดจากโควิด-19 ด้วยความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด

2) บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 โดยเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการรักษาตลาดที่เปิดกว้างและป้องกันการถดถอยของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและโลก ทำให้การเคลื่อนย้ายของสินค้าจำเป็น อาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ ยา อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพเป็นไปอย่างราบรื่น ตามสิทธิและพันธกรณีภายใต้ความตกลงขององค์การการค้าโลก

Advertisement

3) เสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ โดยเน้นย้ำการแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านอุตสาหกรรม รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย เพื่อลดการหยุดชะงักของการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับข้อจำกัดที่มีสาเหตุจากการระงับการเดินทางในปัจจุบัน และการใช้มาตรการต่างๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ นางสาวรัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและญี่ปุ่นมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น” และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image