ข้อเสนอ : ช่วยเหลือประชาชนและการปรับโครงสร้างภาษีไทยหลัง Covid-19

ข้อเสนอ : ช่วยเหลือประชาชนและการปรับโครงสร้างภาษีไทยหลัง Covid-19
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ทำไมผมจึงเขียนเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีในช่วง Covid-19 ทั้งที่ความจริงแล้วรัฐบาลก็ได้มีนโยบายผ่อนปรนเรื่องการเสียภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่เสียภาษีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขยายเวลาการยื่นภาษี การลดอัตราการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ผมคิดว่าทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ปัญหาโครงสร้างภาษีของประเทศอย่างยั่งยืน

ขณะนี้ได้มี พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินของรัฐบาลโดยมีวงเงินเยียวยาภาคประชาชน ภาคเกษตร และภาคเศรษฐกิจรวมกันถึง 955,000 ล้านบาท ผมคิดว่าครั้งนี้ รัฐบาลควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยนำข้อมูลจากผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือของรัฐบาลมาใช้เพื่อปรับโครงสร้างทางภาษีไปด้วยเลย

โดยผมได้เคยเสนอในการให้สัมภาษณ์กับ The 101. World ไปก่อนหน้านี้แล้วว่า รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และประชาชนผู้ที่ได้เคยทำหน้าที่เสียภาษีให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อบุคคลกลุ่มนี้ประสบความเดือดร้อนในเช่นวิกฤตครั้งนี้ รัฐบาลควรต้องหันกลับไปช่วยดูแล และแบ่งเบาภาระของพลเมืองดีผู้เสียภาษีอากรเหล่านี้ เพื่อเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ และสร้างความเข้าใจให้กับคนไทยถึงหน้าที่ ความสำคัญ และประโยชน์ของการเสียภาษีให้กับประเทศ ให้ประชาชนเข้าใจว่า รัฐบาลจะไม่ทอดทิ้งบุคคลผู้เสียภาษีอากรกลุ่มนี้ นอกเหนือจากการช่วยบุคคลที่ยากจน ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้มีรายได้น้อย ที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือกลุ่มบุคคลเหล่านี้อยู่แล้ว

ภายใต้วงเงินที่จะต้องช่วยเหลือทุกภาคส่วนถึง 955,000 ล้านบาทนี้ รัฐบาลจึงควรถือโอกาสรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนบุคคลที่ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว โดยใช้ระบบดิจิทัลมาช่วยรวบรวมข้อมูลของผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และรวบรวมข้อมูลจากกระทรวงต่างๆ มารวมกันแห่งเดียว และออกบัตร Smart Card บัตรเดียว โดยอาจขยายจากพร้อมเพย์ หรือระบบบัตรประชารัฐก็ได้ ทั้งนี้ ข้อมูลเหล่านี้จะใช้เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ ขับเคลื่อน และให้ความช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้น ได้รวดเร็ว และตรงจุดมากขึ้นในอนาคต

Advertisement

ทั้งนี้ การโอนเงินช่วยเหลือเป็นเงินสดเข้าบัญชี อาจทำให้ความช่วยเหลือแบบแจกฟรีเหล่านี้ต้องสูญเปล่า เพราะเงินที่รัฐบาลให้ไปอาจจะถูกนำไปใช้กับบุคคลผู้อยู่นอกระบบภาษี ในทางตรงกันข้าม หากโอนเงินเข้าบัตร Smart Card แทนการโอนเป็นเงินสดเข้าบัญชี และให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านบัตร Smart Card กับร้านค้าที่อยู่ภายใต้ระบบภาษีอากรเท่านั้น จะทำให้เงินช่วยเหลือจำนวนมากครั้งนี้ ไหลเวียนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง และยังเป็น win-win scenario กล่าวคือ ทั้งประชาชน และร้านค้า สถานประกอบการที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลต่างได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ผมจึงใคร่ขอเสนอการปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทยไปพร้อมกับเงินที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือกับประชาชน ลูกจ้าง ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสบความเดือดร้อน โดยแบ่งเป็น 5 ประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1.การขึ้นทะเบียนผู้รับความช่วยเหลือและจัดระบบใช้จ่ายเงินแบบไร้เงินสด (Cashless)

Advertisement

นอกเหนือจากการที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือกับผู้เดือดร้อน หรือกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการอิสระ พ่อค้า ชาวบ้าน ที่ประสบความเดือดร้อนด้วยเงิน 5,000 บาทต่อเดือน จนครบ 3 เดือน หรือ 6 เดือนนั้น รัฐบาลควรพิจารณาขยายเพิ่มเติมให้ครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วน โดยการช่วยเหลือควรจะเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ หรือบัตร Smart Card และให้นำบัตร Smart Card ดังกล่าวไปใช้จ่ายในร้านค้าที่อยู่ภายใต้ระบบภาษี เช่น การซื้อสินค้าร้านธงฟ้า สหกรณ์ และผู้ประกอบการในระบบภาษีต่างๆ ทุกระดับ และกำหนดให้ประชาชนสามารถใช้บัตร Smart Card ดังกล่าวได้กับทุกหน่วยธุรกิจที่อยู่ภายใต้ระบบภาษีอากร ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ตลาดสด หาบเร่ แผงลอย ค่าแท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ค่าบริการ และค่าสินค้าต่างๆ ได้

และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในขั้นเริ่มต้น รัฐบาลควรจัดทำระบบการรับชำระเงินแบบพร้อมเพย์ให้กับบุคคลทั่วประเทศที่รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งรวมถึงการอำนวยความสะดวกสร้างระบบทะเบียนให้ประชาชน พ่อค้า แม่ค้าในตลาดนัด ตลาดสด ร้านค้า แผงลอย ผู้ประกอบการแท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง ให้พวกเขาสามารถรับชำระเงินค่าสินค้า และบริการจากบัตร Smart Card ดังกล่าวได้ด้วย หากทำได้สำเร็จ จะทำให้รัฐบาลมีข้อมูลเรื่องผู้มีเงินได้อย่างครบถ้วน

ทั้งนี้ รัฐบาลควรให้คำมั่นว่าจะไม่นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ตรวจสอบภาษีในระยะต้นเป็นเวลา 1-2 ปีนี้ รวมทั้ง มีมาตรการไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง การนำวงเงินดังกล่าวมาใช้จ่ายในระบบ นอกจากจะทำให้มีผู้เข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาการหนีภาษีเงินได้ และการไม่ยอมเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้ และหากเกิดวิกฤตใดๆ ขึ้นในอนาคต รัฐบาลก็จะสามารถมีข้อมูลที่สมบูรณ์ สามารถจะช่วยเหลือกลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้ตรงจุด ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร

ซึ่งผมเชื่อว่าครั้งนี้เป็นโอกาสเดียวที่รัฐบาลจะสามารถรวบรวมข้อมูลดังกล่าวเข้ามาไว้ในระบบการเงินการคลังของประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ว่าการเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับ และจะต้องไม่ถูกนำมาใช้ในทางการเมืองในอนาคต

ประเด็นที่ 2.รัฐบาลควรช่วยเหลือผู้เสียภาษีเงินได้ให้มากขึ้น

รัฐบาลควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง และผู้ประกอบการ นิติบุคคลที่ได้เคยเสียภาษีให้กับรัฐบาลมาตลอดระยะเวลาหลายปี มาคราวนี้ ทุกคนต้องประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงเหมือนกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้ที่ได้ยื่นเสียภาษีจำนวนกว่า 10 ล้านคน ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทต่างๆ บุคคลเหล่านี้ ถูกหักภาษี และได้เสียภาษีเพิ่มเติม แต่กลับไม่เข้าข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล รวมทั้ง นิติบุคคล บริษัท ห้างร้าน ที่ได้เคยเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลมาเป็นเวลานาน ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น เพราะกองทุนประกันสังคมที่ช่วยเหลือลูกจ้าง จะช่วยเฉพาะกรณีปิดกิจการ หรือถูกให้ออกจากงานเท่านั้น โดยเป็นเงินที่ไม่มากนัก และมีระยะเวลาความช่วยเหลือจำกัด

ส่วนนายจ้าง และนิติบุคคลที่ยังกัดฟันจ้างลูกจ้างต่อไป แม้ว่าผลประกอบการอยู่ในสภาวะขาดทุน กลับไม่ได้รับสิทธิ หรือความช่วยเหลือใดๆ ในรูปตัวเงิน รัฐบาลจึงควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยต้องดูรายละเอียดเงื่อนไขที่ตรวจสอบได้ และเป็นธรรม และพิจารณาจัดสรรเงินงบประมาณจำนวนหนึ่งมาให้ลูกจ้าง และผู้ประกอบการที่ได้เคยเสียภาษีเหล่านี้ โดยอาจพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ดังต่อไปนี้

2.1 ลดอัตราภาษีเงินได้ให้ผู้ที่ต้องยืนเสียภาษีปี 2562 นี้ ที่ต้องยื่นภายในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยลดให้เป็นเงินจำนวนหนึ่งขึ้นอยู่กับฐานเงินได้ เพื่อให้ลูกจ้างได้เงินคืนไปใช้จ่าย ทั้งนี้ อาจกำหนดยอดวงเงินที่ได้ลดให้ไม่เกินรายได้ที่ต้องเสียภาษีเป็นอัตราร้อยละที่เหมาะสม โดยอย่างน้อยต้องเท่าเทียมกับประชาชนกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐบาล หรือมากกว่า

2.2 โอนเงินจำนวนหนึ่งสำหรับผู้มีรายได้ดังกล่าวที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี โดยพิจารณาจากจำนวนเงินภาษีที่บุคคลดังกล่าวได้เคยเสียภาษีให้รัฐบาล และคืนเป็นรูปตัวเงินที่มีระบบโอนผ่านบัตร Smart Card เช่นเดียวกับกรณีที่ 1 เพื่อให้นำมาใช้จ่ายในระบบภาษีเช่นเดียวกับกรณีที่ 1

2.3 พิจารณาให้เครดิตภาษีแก่นิติบุคคลที่มีกำไร โดยอาจพิจารณาให้เครดิตภาษีที่ต้องเสียภาษีไปอีก 1 หรือ 2 ปีข้างหน้า หรือผ่อนชำระภาษี โดยไม่คิดดอกเบี้ยหากเข้าเงื่อนไข เช่น ไม่เลิกจ้างพนักงาน

การคิดนอกกรอบแบบนี้ เป็นการสร้างระบบวัฒนธรรมการเสียภาษีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้ประชาชน และนิติบุคคลรู้ว่ารัฐบาลจะดูแลผู้เสียภาษีเมื่อถึงยามคับขันและจำเป็น

หลายท่านอาจมองว่ามาตรการข้อนี้เป็นการช่วยเหลือคนรวย เพราะรัฐบาลก็มีมาตรการที่จะช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางตามมาตรการขั้นต้นอยู่แล้ว แต่ในข้อเท็จจริงที่ทุกท่านควรคำนึงถึงคือ นิติบุคคลผู้เสียภาษีเหล่านี้ เป็นผู้มีส่วนสำคัญที่สร้างระบบเศรษฐกิจไทยด้วยการเสียภาษี เมื่อถึงเวลาที่เกิดวิกฤต และเดือดร้อนเช่นนี้ รัฐบาลจึงควรอย่างยิ่งที่จะให้ความช่วยเหลือกับนิติบุคคลเหล่านี้โดยตรง หรือโดยอ้อม ทั้งนี้ กรณีนี้อาจไม่รวมนิติบุคคลที่ได้รับการยกเว้นสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่นได้ BOI เป็นต้น เว้นแต่กรณีไม่เลิกจ้างพนักงานอาจมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้

และแน่นอนหากนิติบุคคลใดยังสามารถประกอบธุรกิจมีกำไรอยู่ ก็สามารถสละสิทธิ์ไม่เข้ารับความช่วยเหลือตามโครงการจากรัฐบาลได้ โดยรัฐบาลควรประกาศยกย่องนิติบุคคลเหล่านี้ด้วย เพราะไม่ถือโอกาสเอาวิกฤตของชาติมาเพื่อประโยชน์ส่วนตัว การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ที่เคยเสียภาษีให้กับรัฐบาลนั้น อาจจะทำได้ครั้งเดียวคือวิกฤตคราวนี้เท่านั้น และด้วยการจัดทำโครงสร้างข้อมูลการเสียภาษีระบบใหม่จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าได้เช่นกัน

ประเด็นที่ 3.มาตรการช่วยเหลือ Soft Loan สิทธิประโยชน์ทางภาษี Supply Chain ทั้งของภาครัฐและบริษัทใหญ่ๆ

3.1 รัฐบาลควรจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ SME ด้วยการให้เงินกู้ไร้ดอกเบี้ย (soft loan) โดยให้กู้ 2 ปี ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทดังกล่าวต้องไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน

3.2 บริษัทขนาดใหญ่ที่มีผลประกอบการดี ไม่ได้มีผลขาดทุน และสละสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการ รัฐบาลก็สามารถให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทเหล่านั้นได้ หากบริษัทเหล่านั้นให้ความช่วยเหลือกับบริษัทเล็กๆ ที่เป็น supply chain หรือคู่ค้าของตน โดยอาจพิจารณาการให้สิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น การยกเว้นภาษีบางส่วน การคืนภาษีโดยเร็วโดยไม่มีการตรวจสอบภาษี และประเมินภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้บริษัทขนาดใหญ่ดังกล่าวมีกระแสเงินสดที่จะชเกื้อกูลคู่ค้าได้

ผมคิดว่าข้อเสนอตามข้อ 2 และ 3 เช่นนี้ อาจจะได้รับการต่อต้าน หรือคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยอ้างว่าการให้สิทธิประโยชน์แบบนี้กับคนที่มีรายได้ เป็นการช่วยเหลือเอื้อคนรวย หรือนายทุน เมื่อรัฐบาลมีเงินจำกัดจึงควรช่วยเหลือเฉพาะผู้เดือดร้อนจริงๆ เท่านั้น แต่ผมคิดว่าการคิดเช่นนั้น เป็นการลืมไปว่าบุคคลเหล่านี้เสียภาษีเงินได้ หรือบริษัทเหล่านี้ได้ทำหน้าที่พลเมืองดีกับประเทศไทยมา และเงินที่รัฐบาลใช้ในการช่วยเหลือประชาชนยามวิกฤตครั้งนี้ ส่วนหนึ่งล้วนมาจากภาษีที่คนเหล่านี้ได้เสียให้กลับประเทศ

การช่วยเหลือให้คนกลุ่มนี้อยู่รอดได้ด้วย ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ล้วนมีผลต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวทั้งสิ้น เพราะวิกฤตคราวนี้ทุกคนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า มาตรการเหล่านี้ผมถือว่ากระทรวงการคลังสามารถพิจารณารายละเอียดได้ หากยอมรับหลักการว่า “รัฐบาลต้องช่วยเหลือผู้เสียภาษีให้กับประเทศเช่นกัน”

ประเด็นที่ 4.รัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนให้พนักงานบางส่วน

รัฐบาลควรพิจารณาช่วยจ่ายเงินเดือนจำนวนหนึ่ง เช่น ร้อยละ 50-60 ให้กับบริษัทที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพที่จะประกอบการได้ และไม่เลิกจ้างลูกจ้างนอกเหนือจากกองทุนประกันสังคม โดยอาจจำกัดวงเงินให้ความช่วยเหลือโดยพิจารณาเงินเดือนขั้นสูงของพนักงาน เช่น ช่วยเหลือพนักงานเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท เป็นเวลา 3-6 เดือน เป็นต้น และให้สิทธิช่วยเหลือนี้กับบริษัทที่มีการจ้างลูกจ้างจำนวนมาก และอดทนไม่เลิกจ้าง ทั้งนี้ รัฐบาลมีข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้วจากการยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายของลูกจ้าง จึงสามารถตรวจสอบได้ และหากจะให้ความช่วยเหลือควรให้โดยตรงผ่านระบบ Smart Card ข้างต้นเช่นกัน

ประเด็นที่ 5.การยืดเวลาชำระหนี้ และงดคิดดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน

ผมเสนอว่านอกเหนือจากการพักชำระเงินต้นแล้ว สถาบันการเงินควรจะงดคิดดอกเบี้ยในช่วง 3-6 เดือนนี้ และพักชำระหนี้ดังกล่าวให้กับลูกหนี้ซึ่งเป็นทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล การพักชำระหนี้ และงดคิดดอกเบี้ยจะเป็นการช่วยลดความเดือดร้อนในวงกว้าง ทั้งนี้ มาตราการปัจจุบันที่ออกมาเป็นเพียงการเลื่อนการชำระเงินต้น และงดชำระดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ดอกเบี้ยยังคงเดินทุกวัน ซึ่งคงไม่เป็นประโยชน์นักต่อลูกหนี้ในสภาวะเช่นนี้ การงดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3-6 เดือน จะช่วยให้บุคคลเหล่านี้มีเงินสดมาใช้จ่ายได้มากกว่า

ผมจึงอยากขอเสนอให้รัฐบาล หน่วยงานเอกชน ช่วยกันนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณา เพื่อให้ความช่วยเหลือ 955,000 ล้านบาท เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และต่อประเทศชาติอย่างสูงสุด และคิดนอกกรอบเพื่อให้อยู่รอดหลังโควิด 19 ด้วยกันครับ

21 เม.ย.2563
#คิดนอกกรอบรวดเร็วถึงตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image