จับตา ‘เลขาธิการ​ กสทช.’​ ลาออก มีผล 18 พ.ค.

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ตามที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งต่อ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยจะมีผลในวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการลาออกจากตำแหน่งก่อนที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2563

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มาตรการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทั้งโครงการเพิ่มอินเตอร์เน็ตมือถือฟรี 10 กิกะไบต์ และอัพสปีดอินเตอร์เน็ตบ้านเป็น 100 เมกะบิต รวมถึงการให้สิทธิ์ประชาชนโทรฟรีทุกเครือข่ายจำนวน 100 นาที เหมือนเป็นการทิ้งทวนก่อนอำลาตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ซึ่งที่ผ่านมาต้องทำงานภายใต้ภาวะกดดันอย่างหนัก ทั้งการออกมาตรการสนับสนุน ช่วยเหลือกิจการในการกำกับดูแลของ กสทช. ควบคู่ไปกับการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสำเร็จลุล่วงด้วยดีมาโดยตลอด โดยการยื่นหนังสือลาออกครั้งนี้ ก็ถือเป็นการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์

“การทำงานของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแล โดยมีการออกกฎกติกามาใช้ในการกำกับ ซึ่งพิจารณาจากประโยชน์ทางภาคสังคมและภาครัฐเป็นหลัก แต่ที่ผ่านมา เลขาธิการ กสทช.ทำนอกเหนือไปกว่านั้น โดยพิจารณาทั้งโอกาสของประเทศและการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมา ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ หรือคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มี เลขาธิการ กสทช. ซึ่งหาวิธีการและสร้างโอกาสให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทั้งเคลียร์ปมปัญหาต่างๆ ที่เคยติดขัดได้อย่างสมดุล จึงพูดได้เลยว่าการทำงานของ กสทช.หลังจากนี้จะหนักและเหนื่อยขึ้น และการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ ในอนาคตก็คงเกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน” นายจักรกฤษณ์กล่าว

นายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิชาการด้านโทรคมนาคม และเลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เลขาธิการ กสทช. เปรียบเหมือน เทเลคอม แมน ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านจากระบบ 3G เป็น 4G รวมถึงการขับเคลื่อนสู่ยุค 5G ซึ่งถือเป็นภาระที่หนัก แม้ที่ผ่านมาจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือมีข้อแนะนำการทำงานของ กสทช. มากมาย รวมถึงส่วนตัวก็มีโอกาสส่งหนังสือเสนอข้อแนะนำหรือท้วงติงไปถึง กสทช. ซึ่งเลขาธิการ กสทช. ก็นำมาประกอบการพิจารณาและพยายามหาจุดสมดุล ทำให้ผลการดำเนินงานในหลายๆ เรื่องผ่านไปได้ด้วยดี ทั้งการแก้ปัญหาการเข้าสู่ระบบ 3G ล่าช้า ได้อย่างรวดเร็ว, การมีระบบ 4G ที่ครอบคลุมพื้นที่เทียบเคียงกับเพื่อนบ้านได้ไม่ต้องอายใคร และโจทย์ยากที่สุดคือ 5G ที่สามารถทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปได้ หากไม่นับรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

Advertisement

“เลขาธิการ กสทช. เข้ามาแก้ไขในหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาจากกฎระเบียบที่ล้าหลัง หรือกระทั่งการปรับเปลี่ยนบริบท ข้อบังคับให้ กสทช. มีความทันสมัย สอดรับกับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลาการเป็น เลขาธิการ กสทช. จริงอยู่ว่าอาจจะมีการกระทบกระทั่งกับผู้ประกอบการทั้งการให้ข้อแนะนำ หรือจะออกแนวเรียกมาดุ แต่แท้ที่จริงหากดูผลงานในระยะยาว เลขาธิการ กสทช. ทำให้แวดวงโทรคมนาคมพัฒนาไปในลู่ทางที่ดีขึ้นแบบที่ควรจะเป็น” นายสืบศักดิ์กล่าว

นายสืบศักดิ์กล่าวว่า งานที่ผ่านมาของ เลขาธิการ กสทช. ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานาน ทั้งกฎระเบียบ ข้อกฎหมาย ที่มีความล้าหลัง กลไกการประมูลคลื่นความถี่ รวมถึงทีวีดาวเทียม แต่บทบาทการทำงานของเลขาธิการ กสทช. คนต่อไปจะแตกต่างกัน เพราะเมื่อไม่ได้มีปัญหาที่กองไว้ให้ต้องสะสาง ก็จะต้องเร่งทำให้กิจการด้านโทรคมนาคมของประเทศรุดหน้าให้ได้โดยเร็ว

“เลขาธิการ กสทช.คนต่อไปต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องทำให้ประเทศขับเคลื่อน ต้องมองหาโอกาสและการพัฒนาใหม่ๆ ซึ่งก็หวังว่าจะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในทุกมิติเจริญรุดหน้าจริงๆ เพราะจะได้มีความต่อเนื่องกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” นายสืบศักดิ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image