คลังเปิดแผนกู้เงิน 1 ล้านล.ประเดิมล็อตแรก 7 หมื่นล้านใช้จ่ายเยียวยา 5 พัน

‘อุตตม’ประชุมคณะกรรมการหนี้ปรับแผนรับพ.ร.ก.1 ล้านล้านบาท เผยกู้เล็อตแรก 7 หมื่นล้านบาท ใช้จ่ายเยียวยา 5 พันบาท ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ธนาคารแข่งบิดราคา 28 เม.ย.นี้ ส่วนแผนกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ปีงบ63 กู้ 6 แสนล้านบาท ปีงบ63 อีก 4 แสนล้านบาท เน้นในประเทศ 80% เผยหนี้สาธารณะสูงสุด 57.96% ของจีดีพีต่ำกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ 60% ของจีดีพี

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ที่มี นายอุตตม สาวยายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมปรับแผนในการก่อหนี้ใหม่ ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จากเดิมที่รัฐบาลมีแผนจะกู้เงินในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 2563  ราว 8.94 แสนล้านบาท  เพิ่มเป็น 1.497 ล้านล้านบาท โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นใหม่เป็นเงินจาก พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงินกว่า 6.03 แสนล้านบาท

นางแพตริเซีย กล่าวต่อว่า  สบน.เตรียมกู้เงินตามพ.ร.ก.1 ล้านล้านบาทไว้แล้ว ล็อตแรกกู้ 7 หมื่นบาท เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน อายุ 4 ปี โดยจะให้ธนาคารพาณิชย์มาเสนอราคา หรือ บิดราคากันในวันที่ 28 เมษายนนี้ ซึ่งเงินที่ได้นั้นจะนำเงินไปให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)จ่ายเยียวยาให้ผู้อาชีพอิสระในเดือนที่ 2 จำนวน 5,000 บาท ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ซึ่งต้องเตรียมกู้เงินไว้ก่อนเพื่อสำรองไว้ในเงินคงคลังของรัฐบาล

“สบน. ส่งหนังสือชี้ชวนไปยังสถาบันการเงินในประเทศ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ให้เข้ามาเสนออัตราดอกเบี้ยจากการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (พี/เอ็น) โดยอิง ธนาคารของตลาดกรุงเทพฯ หรือ BIBOR (Bangkok Interbank Offered Rate) ปัจจุบันอยู่ที่ 0.97% ส่วนจะกู้เงินได้หรือไม่นั้นขึ้นกับว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกับแผนงานที่กระทรวงการคลังเสนอไปหรือไม่ โดยเฉพาะแผนการก่อหนี้และแผนการใช้เงิน ที่จะเสนอครม.ในวันที่ 28 เมษายนนี้”นางแพตริเซีย กล่าว

Advertisement

นางแพตริเซีย กล่าวต่อว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทเปิดช่องให้กู้ยืมเงินได้ทั้งสกุลเงินบาทและสกุลตราต่างประเทศ แต่เชื่อว่ากว่า 80% จะเป็นการกู้เงินในประเทศ ส่วนการกู้เงินในต่างประเทศ ขณะนี้มีตัวแทนของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) และกองทุนเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ติดต่อเข้ามายื่นข้อเสนอบ้างแล้ว ซึ่งคงต้องรอดูผลการระดมเงินในประเทศก่อน ซึ่งในการกุ้เงินในประเทศนั้นนอกจากแผนออกตั๋วสัญญาแล้ว มีแผนจะระดมเงินด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล เน้นการระดมเงินภายในประเทศเป็นหลัก การกู้เงินนั้นจะมีทั้งระยะสั้นและยาว โดยระยะสั้นมีทั้งเครื่องมือการกู้จากธนาคาร การกู้ระยะยาว (เทอมโลน) ตั๋วสัญญาใช้เงิน และตั๋วเงินคลัง  รวมทั้งการออกพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้ประชาชน ส่วนระยะยาวเน้นการออกพันธบัตรรุ่นอายุต่าง เช่น ตั้งแต่ 5 ปี 10 ปี 20 ปี 30 ปี

นางแพตริเซีย กล่าวต่อว่า แผนกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในปีงบประมาณ 2563 กู้ 6 แสนล้านบาท ที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาท กู้ในปีงบประมาณ 2564  ซึ่งจากแผนดังกล่าว ทำให้จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลจะมีหนี้สาธารณะ 51.84% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ส่วนในปีงบประมาณ 2564 แล้วจะมีหนี้สาธารณะ 57.96% ของจีดีพี ทำให้เพดานหนี้ไม่เกิน 60% ของจีดีพีตามกรอบวินัยการเงินการคลัง

อย่างไรก็ตามหากในอนาคตมีความจำเป็น รัฐบาลก็อาจจะกู้เกินเพดาน 60% ของจีดีพี ได้เล็กน้อย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเข้ามาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบวิกฤต ไม่ถือว่ารัฐบาลทำผิดไปจากวินัยการเงินการคลัง และในอนาคตหากมีเหตุจำเป็นอาจมีการปรับเปลี่ยนเพดานการก่อหนี้ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของประเทศก็ได้

Advertisement

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง มีแบบนี้!ผ่านทันที ทบทวนสิทธิคลังจ่ายเงินเยียวยา 5 พัน รอบแรก 2 แสนคน

รอรับเงินอีก 7 แสนคนศุกร์นี้ คลังจ่ายเยียวยา 5 พันบาทกลุ่มทบทวนสิทธิ-สีเทา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image