สค.เชื่อ 12 มาตรการป้องกันคุกคามทางเพศใหม่ จะทำให้ผู้เสียหายกล้าเรียกร้องสิทธิมากขึ้น

นางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล
นางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล

สค.เชื่อ 12 มาตรการป้องกันคุกคามทางเพศใหม่ จะทำให้ผู้เสียหายกล้าเรียกร้องสิทธิมากขึ้น

เมื่อวันที่ 23 เมษายน ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน 12 มาตรการ นั้น ถือเป็นมาตรการที่ต่อเนื่อง จากมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน 7 มาตรการที่ ครม.ได้เห็นชอบเมื่อปี 2558 ซึ่ง 165 หน่วยงานระดับกรม ได้รายงานปัญหาการล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศในการทำงาน จำนวน 14 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 7.82

รองอธิบดี สค. กล่าวอีกว่า สำหรับ 12 มาตรการใหม่ จะแตกต่างจาก 7 มาตรการเดิม อาทิ การให้มีกลไกรับเรื่องร้องทุกข์ในทุกหน่วยงาน มีการตรวจสอบ คุ้มครองและให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย และพยาน อีกทั้งกำหนดรองอธิบดีหนึ่งคนในทุกกรมมีบทบาทในการส่งเสริมและดูแลเรื่องนี้ และรายงานให้ศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) รับทราบ ซึ่งกำลังจัดตั้งขึ้นใหม่ มีกรม สค.รับผิดชอบและมีหน้าที่จัดหลักสูตรอบรมให้ความรู้ และรวบรวมรายงานสรุปให้คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องใหม่

“เชื่อว่ากลไกตรงนี้จะทำให้ผู้เสียหาย กล้าออกมาร้องขอความช่วยเหลือมากขึ้น แม้ผู้กระทำจะเป็นหัวหน้างาน หรือผู้บังคับบัญชาก็ตาม เพราะหากมีกรณีนี้ร้องมา ตามระบบจะให้ผู้มีอำนาจเหนือกว่าผู้กระทำ 1 ขั้น มานั่งตรวจสอบ หรือแม้ผู้กระทำจะเป็นผู้นำองค์กร เช่น ปลัดกระทรวงทำเสียเอง ก็จะให้ปลัดกระทรวงอื่น ที่ไม่มีส่วนได้เสีย มาตรวจสอบ เป็นต้น ก็ถือเป็น 12 มาตรการที่หน่วยงานภาครัฐต้องนำไปปฏิบัติ หากกระทำผิดก็มีมาตรการลงโทษตามกฎหมายและโทษทางวินัยอยู่แล้ว ส่วนเอกชนจะเป็นลักษณะขอความร่วมมือ เบื้องต้นเท่าที่ทราบก็มีหลายธุรกิจสนใจและเข้าร่วมจำนวนหนึ่งแล้ว” นางสาววิจิตากล่าว

อย่างไรก็ตาม สามารถร้องทุกข์ภายในหน่วยงานได้ เช่น ผู้บังคับบัญชาทุกระดับของผู้กระทำหรือกลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรม หรือร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) รวมถึง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลืออย่างเต็มที่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image